เล่มที่ 1
ปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ประเทศไทย มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นอาหารประเทศ หนึ่งในโลก นับตั้งแต่โบราณกาลตลอดมา ประเทศของเรามีผักปลาและอาหารอย่างบริบูรณ์ จะเห็น ได้จากข้อความที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งปรากฏบนศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็เป็นชาวประมงโดยปริยาย จับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ เป็นต้น เพื่อใช้บริโภคกันใน ครอบครัว ส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ทำให้เขาเหล่านั้นดำรงชีพอยู่ด้วยความสงบ มีสันติสุขโดยทั่วไป ส่วนประชาชนซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายทะเล ๒๓ จังหวัดของประเทศของเรา ส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ ด้วยการทำการประมง เมื่อ ๖๐ ปีก่อน การประมงทะเลของประเทศเราเป็นการ ประมงแบบชายฝั่ง ชาวประมงจับปลา ด้วยเครื่องมือประจำที่ชนิดต่างๆ เช่น ลอบ โพงพาง หรือ โป๊ะ เป็นต้น ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาการประมงโดยทั่วไป ชาวประมงของประเทศรู้จักใช้เครื่องมือจับปลา ที่ทันสมัยขึ้น เป็นเครื่องมือเคลื่อนที่ เช่น อวนลอย และ อวน ล้อมจับชนิดต่างๆ และในรอบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการใช้อวนลาก ทำการประมงในทะเล ทำให้กิจการประมงของประเทศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้บังเกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศของเรา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลา มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของเรา

แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นที่อยู่อาศัยของปลา

            อย่างไรก็ตาม ความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีของประเทศ และการเพิ่มปริมาณ อย่างรวดเร็วของประชากร ของประเทศของเรา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผลกระทบกระเทือน ต่อความเป็นอยู่ของปลาหลายชนิด การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำ ทำให้พื้นที่ใต้เขื่อนซึ่งเคยเป็นที่ลุ่ม น้ำ ท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก และเป็นเขตที่ปลาน้ำจืดหลายชนิด ชอบตามน้ำขึ้นไปวางไข่ และหาอาหารกิน ลดลงอย่างมากมาย เป็นเหตุให้พวกปลาเหล่านั้นหลายชนิดมีขนาดเล็กลง ปลาบางชนิดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ของสภาพที่อยู่อาศัย ก็เริ่มมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือน้อยมาก เช่น ปลาสร้อยชนิด ต่างๆ และปลาเทพา (Pangasius sanitwongsei) เป็นต้น แหล่งน้ำหลายแหล่งตื้นเขินขึ้นเนื่องจาก ประชาชนบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยและทำเป็นที่เพาะปลูกหากิน ทำให้บริเวณเหล่านี้มีสภาพไม่เหมาะสม ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด นอกจากนี้ ในแม่น้ำลำคลองใกล้ตัวเมือง ที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่นและมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น น้ำสะอาดจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำเสีย ปลาและสัตว์น้ำส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจะอยู่อาศัยสืบพันธุ์ต่อไปได้


การประมงทะเล

            ความต้องการปลาเพื่อเป็นอาหารสำหรับบริโภคของประชาชนภายในประเทศ และการส่งปลาเป็นสินค้าออก ทำให้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการประมงทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมง อวนลากและอวนรุนชายฝั่ง เป็นมูลเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรของปลาทะเล ซึ่งหากินตามบริเวณพื้น ท้องทะเล หรือที่เราเรียกกันว่า ปลาหน้าดิน ทั้งในอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามันมีปริมาณลดน้อย ถอยลงเป็นลำดับ

            ดังนั้น เราจึงต้องเร่งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ เพื่อให้บังเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโดยต่อเนื่อง ในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง เราจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ชาวประมงได้ร่วมมือ และได้รับผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และ ในขณะเดียวกันให้บังเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชาติ

            การวางมาตรการที่เหมาะสม จำต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับชนิด ลักษณะรูปร่างโดยทั่วไป ปริมาณของปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิสัยและความเป็นอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะและ ขนาดของประชากรของปลาที่เราต้องการจะอนุรักษ์ ดังนั้น ความรู้ทางด้านชีววิทยาของปลาหรือสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญในการอนุรักษ์หรือพัฒนาการใช้ทรัพยากร เพื่อเราจะได้รับประโยชน์ จากทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มที่

            บทความเรื่องปลาในสารานุกรมฯ ฉบับนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านและผู้ที่สนใจทั่วไป มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรูปร่าง และลักษณะของปลาโดยทั่วไป ให้เข้าใจถึงความต้องการในเรื่อง ที่อยู่อาศัย อุปนิสัยและพฤติกรรมบางประการที่ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ และการจำแนกปลาออกเป็น กลุ่มใหญ่เพื่อความสะดวกในการศึกษาทางชีววิทยาต่อไป