เล่มที่ 1
ปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา

            สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ จำต้องได้รับพลังงานเข้าไว้ในร่างกายเพื่อใช้ ในการดำรงชีวิต เช่น การเคลื่อนไหว การซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่สึกหรอ การเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ พลังงานที่ได้รับ เหล่านี้มาจากอาหารที่สัตว์กินเข้าไป และการหายใจ

สัตว์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่ปลากินเป็นอาหาร

            สำหรับปลาโดยทั่วไป เมื่อลูกปลาฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ อาหารที่ลูกปลาได้รับจะมาจาก ถุงไข่แดงซึ่งอยู่ติดกับตัวลูกปลานั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนเดิมที่ได้รับจากแม่เพื่อช่วยให้ลูกปลาอยู่รอด ไปได้ระยะหนึ่ง แต่อาหารที่มีในไข่แดงก็จะถูกใช้หมดไปในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ลูกปลาจึง จำต้องเริ่มหาอาหารจากภายนอก และในระยะนี้เองที่ลูกปลาทั่วไปจะตายเป็นจำนวนมาก เหลือ รอดเพียงเล็กน้อย หากไม่ได้อาหารที่เหมาะแก่ความต้องการหรือขนาดของอาหารใหญ่เกินไป ลูก ปลาก็ไม่สามารถจะกลืนกินได้


ลูกปลาชนิดหนึ่ง

            ปลาแต่ละชนิดมีความต้องการในเรื่องชนิดของอาหารไม่เหมือนกัน ปลาบางชนิดกินพืช น้ำเป็นอาหารตลอดชีวิต เช่น ปลาจีน (Hypophthalmichthys sp.) ส่วนปลาทูกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ซึ่งเราเรียกว่า แพลงก์ตอน (plankton) เป็นอาหารปลา บางจำพวก หากินตามพื้นท้องน้ำ เช่น กินหอย ปู กุ้ง เป็นอาหาร ปลาขนาดใหญ่หลายชนิดตามล่าเหยื่อเป็น อาหาร เช่น ปลาช่อน ปลาดาบเงิน ปลาอินทรี เป็นต้น


ลูกปลาทูที่สำรวจพบว่ามีถิ่นเกิดอยู่ในบริเวณอ่าวไทย มิใช่เกิดในทะเลจีนแล้ว
เคลื่อนฝูงเข้ามาในเขตน่านน้ำไทยอย่างที่เคยเข้าใจ

            นอกจากอาหารที่ปลาจะหาได้แล้ว ยังมีแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งปลาต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโต แร่ธาตุต่างๆ เหล่านี้ เป็นจำพวกเกลือหลายชนิด ที่ละลายอยู่ในน้ำ ปลาสามารถรับแร่ธาตุเหล่านี้ได้ โดยการซึมเข้าทางเหงือก เยื่อหุ้มโพรงปาก และทางผิวหนัง แร่ธาตุบางอย่างหากมีมากก็อาจเป็น พิษแก่ปลา เช่น สารจำพวกสังกะสี ทองแดง ปรอท โคบอลต์ ฯลฯ


แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อาหาร (food chain) ของปลาบางชนิด กับสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ ทั้งพืชและสัตว์ในทะเล

            อาหารที่ปลาหาได้ในธรรมชาติ นอกจากจะเป็นพวกพืชน้ำ หรือ แพลงก์ตอนแล้ว ยังมีสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หนอน (annelids) หอย กุ้ง ปู และแมลงชนิดต่างๆ (arthropods) นอกจากนี้เรายังอาจพบสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เช่น นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ในกระเพาะของปลาบางจำพวก ซึ่งแสดงว่าปลากินมันเข้าไป จะเห็นได้ว่า นักตกปลาช่อนชอบใช้เขียดเป็นเหยื่อล่อปลาช่อน เป็นต้น

            อาหารของปลาที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตอาศัยในแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำทะเล จะมีปริมาณไม่คงที่ทุกปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชีวประวัติ และสภาพแวดล้อมของปลาเป็นส่วนใหญ่ นี่เองเป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มลดโดยธรรมชาติในขนาดของประชากร (natural fluctuation) ของปลาที่กินสิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นเป็นอาหาร นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ยังมีอิทธิพลต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ปลาทูในอ่าวไทยซึ่งกินแพลงก์ตอนจำพวก พืชเป็นอาหาร ปลาชนิดนี้จะวางไข่ในราวเดือนมกราคม-มีนาคม และอีกระยะหนึ่งราวเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัว และเริ่มหาอาหารกินเอง ภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่ฟักเป็นตัวแล้ว ฝูงลูกปลาจะเคลื่อนที่เข้ามาในที่ตื้นบริเวณใกล้ฝั่ง เพื่อหาอาหารบริเวณเหล่านี้ ได้แก่ ชายฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร แล้วลูกปลาดังกล่าวจะค่อยๆ เคลื่อนฝูงสู่ก้นอ่าวไทย และในระยะระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมจนถึงประมาณเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นปลาขนาดที่ชาวประมง เรียกว่า ปลาทูสาว ปลาเหล่านี้จะเดินทางย้อนกลับลงไปยังบริเวณทะเล นอกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร เพื่อวางไข่ต่อไป

            เมื่อได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและการเจริญเติบโตของปลา ผู้สนใจก็ควรมีความเข้าใจในหลักการทางนิเวศวิทยา (ecology) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย กล่าวคือ สิ่งที่มีชีวิต และอาหารของปลา มีความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ เช่น ปลาช่อนที่เลี้ยงไว้ในบ่อ จะเจริญเติบโตมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง ๑ กิโลกรัม ก็อาจจะต้องกินปลาหมอเทศถึง ๑๐ กิโลกรัมเป็นอาหาร และปลาหมอเทศจะเพิ่มน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม ก็อาจจะต้องกินพืชน้ำ และสาหร่ายในบ่อ เป็นน้ำหนักนับสิบกิโลกรัม พืชน้ำและสาหร่ายจะเจริญเติบโตดี ก็จำต้องอาศัยแร่ธาตุและอาหารต่างๆ ในบ่อพร้อม ทั้งพลังงานแสงแดด แร่ธาตุต่างๆ และเกลือ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้จากกการย่อย และการเปลี่ยนแปลงสภาพของอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น โดยการกระทำของบัคเตรีซึ่งอาศัยอยู่ ในโคลนตม บัคเตรีทำการย่อยสัตว์และพืชที่ตาย และตกลงบนชั้นโคลนในบ่อ ให้สลายตัว และเน่าเปื่อย จึงทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารขึ้น เมื่อคิดพลังงานที่ใช้ในการเติบโตของสิ่งที่มีชีวิตแต่ละตอน เราจะได้เป็นรูปพีระมิด


            พีระมิดปริมาณอาหาร (ecological piramid หรือhypothetical piramid หรือ piramid of numbers) เป็นรูปสามเหลี่ยม แสดงระดับและปริมาณที่เกี่ยวพันกันตามลำดับสูงต่ำ หรือความมากน้อยของสิ่งที่มีชีวิตที่กินสัตว์อื่น และสิ่งที่มีชีวิตหรืออื่นๆ ที่ถูกใช้เป็นอาหารหรือที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งอยู่ระดับรองลงไป พวกหลังนี้จะต้องมีปริมาณ หรือจำนวน มากกว่าผู้ล่าของมันเสมอ

โดยหลักการดังกล่าวข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถประเมินขนาดของประชากรของปลา ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในบริเวณหนึ่งได้ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณา พัฒนาการประมง ทำให้ทรัพยากรดังกล่าว มีขนาดมากพอที่จะผลิดอกออกผลให้บังเกิดประโยชน์แก่มนุษย์ได้


ฟันที่อยู่บริเวณส่วนลึกในช่องปากของปลาตะเพียน ใช้บดอาหารที่เป็นพวกพืช

การตรวจดูลักษณะของอวัยวะบางอย่างของปลา ทำให้เราทราบถึงพฤติกรรมในการหาอาหาร และการกินอาหารของปลาได้ เช่น

ก) ลักษณะของปากและฟัน

            ปลาจำพวกที่ถูกจัดเป็นผู้ล่า (predators) ส่วนใหญ่จะมีฟันแหลมคมเห็นได้ชัด การกิน อาหารก็เป็นแบบไล่กัดกินทีละตัว นอกจากนี้หากดูขากรรไกรจะเห็นว่าขากรรไกรบนและล่างแข็ง แรง ปลาเหล่านี้ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาปากคม (Saurida spp.) ปลาเค้า (Wallago spp.) ปลาอินทรี เป็นต้น

            ปลาจำพวกที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เช่น ปลาทู (Club mackerel; Rastrelliger brachysoma) ปลาแป้น (Leiognathus spp.) ปลาหลังเขียวมีฟันขนาดเล็กมาก หรือไม่มีเลย ขากรรไกรก็ไม่แข็งแรง เช่นปลาแป้นซึ่งมีปากขนาดเล็กแต่ยืดออกมาได้มาก ปลาบางชนิด เช่น ปลาปากแตร (Fistularidae) มีปากคล้ายหลอดดูด กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเช่นกัน


            เหงือกปลาทู (ปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร) มีลักษณะยาวเรียวและมีจำนวนมากประมาณ ๕๔ ซี่ แต่ละซี่มีกิ่งแยกออกมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองอาหาร

ปลาตามหินปะการัง เช่น ปลาสลิดหิน (green puller) มีฟันซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันกระต่าย เพื่อใช้แทะเล็มสาหร่ายตามหินปะการังกินเป็นอาหาร มีการศึกษาพบว่า ปลานกแก้ว (parrot fish) ตัวหนึ่งๆ สามารถขบบดหินปะการังได้ประมาณ ๓๐ กิโลกรัมต่อปี


เหงือกปลาอินทรีจุด (ปลาที่กินปลาซึ่งเล็กกว่ามันเป็นอาหาร) มีซี่เหงือกสั้นกว่าซี่เหงือกของปลาทู และมีจำนวนน้อยกว่า
คือ มีเพียง ๑๑ ซี่เท่านั้น

            ปลาอีกกลุ่มหนึ่งมีฟันเป็นแผงแข็งแรง เช่น ปลาจำพวกกระเบน ชอบกินหอยเป็นอาหาร ก็ใช้ฟันดังกล่าว ขบเปลือกหอยให้แตก แล้วจึงกินเนื้อหอย

ในปลาจำพวกตะเพียน ปลาไน อาจมีฟันบดตรงบริเวณคอหอย เพื่อใช้บดสาหร่าย หรือ พืชน้ำที่กินเข้าไปให้ละเอียด


ปลาอินทรีจุด (Spotted spanish mac-kerel; Scom beromorus guttatum)

ข) ซี่เหงือก

            เมื่อเปิดกระดูกกระพุ้งแก้มของปลาเราจะเห็นเหงือกอยู่ภายใน บนด้านหน้าของกระดูก โครงเหงือกจะมีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นซี่เรียวยาวหรือเป็นตุ่ม ส่วนนี้เราเรียกว่า ซี่เหงือก ปลาที่กิน พืชน้ำ เช่น กินสาหร่าย ซี่เหงือกของปลาเหล่านี้ จะสั้นและมีจำนวนน้อย ส่วนปลาจำพวกที่กิน แพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซี่เหงือกยาวเรียว และมีเป็นจำนวนมาก สำหรับปลาบางชนิด เช่น ปลาทู ซี่ เหงือกแต่ละซี่ยังแตกแขนงออกไปอีก ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้แก่ปลาในการกรองอาหาร ขนาดเล็กจากน้ำ ปลากินเนื้อหรือล่าเหยื่อเป็นอาหาร ซี่เหงือกอาจจะมีจำนวนลดลงมาก และสั้นทู่ หรือเห็นเป็นเพียงตุ่มเท่านั้น หรืออาจจะไม่มีเลย เช่น ปลาปากคม


ปลาปากคม (Lizard fish; Sauridagraclis)

ปลาแต่ละชนิดอาจมีจำนวน ขนาด และรูปร่างซี่เหงือกเกือบคงที่ เช่น ปลาทูจะมีซี่เหงือก บนโครงเหงือกคู่ที่หนึ่งเป็นจำนวน ๕๔ ซี่ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านอนุกรมวิธานของปลา จึงใช้ ลักษณะดังกล่าวในการจำแนกแยกชนิดของปลา

ค) กระเพาะและลำไส้ของปลา

            ปลาที่ล่าเหยื่อเป็นอาหารมีกระเพาะยานใหญ่ และมีลำไส้สั้น เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของ ลำตัว สำหรับปลาที่กินพืชเป็นอาหาร มีกระเพาะเล็กหรือเป็นเพียงส่วนของลำไส้ที่โป่งขึ้นมา และ มีลำไส้ยาวเพื่อเพิ่มพื้นที่และเวลาในการย่อยอาหาร ในปลาหลายชนิด เราจะพบอวัยวะพิเศษที่ส่วน ปลายของกระเพาะ ในปลาที่กินพืช เช่น ปลาโคก จะมีติ่งยื่นออกมามากมาย เพื่อช่วยในการดูดซับ อาหาร อวัยวะดังกล่าวเรียกว่า "ไพรอลิกซีกา" (pyloric caeca) ในปลาจำพวกฉลาม กระเบน เราจะพบว่า ลำไส้ของปลาเหล่านี้ มีส่วนม้วนหรือเป็นเกลียว เรียกว่า สครอลวัลฟ์ (scroll valves) หรือ สไปรัลวัลฟ์ (spiral valves) ใช้ช่วยในการย่อย และดูดซึม เอาอาหารไปเลี้ยงร่างกาย