การเคลื่อนไหวและทรงตัวในน้ำของปลา
ปลาแหวกว่ายดำน้ำ หรือผุดจากระดับลึกขึ้นสู่ผิวน้ำ อย่างรวดเร็วได้ ก็โดยอาศัยครีบและกล้ามเนื้อลำตัวเป็นสำคัญ ปลาที่ว่ายน้ำเร็ว เช่น ปลาทู หรือปลาทูนา มีการโบกพัดของ หาง และการยืดและหดของกล้ามเนื้อข้างลำตัวสลับสัมพันธ์ กันไปดีมาก ทำให้ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยรวดเร็ว
ครีบต่างๆ ของปลา นอกจากจะมีส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของปลาแล้ว ยังมีหน้าที่พยุงและรักษาการทรงตัวของปลาในน้ำ เวลาปลาว่ายน้ำเร็วครีบต่างๆ จะหุบลงหรือยุบ ลงทอดแนบตามตัวของปลา ทั้งนี้เพื่อให้ลู่ตามน้ำ และความ ต้านทานน้อยลง ครีบหางทำหน้าที่เปรียบเสมือนหางเสือของเรือ เมื่อต้องการจะหยุด ครีบอกและครีบท้องจะกางออกต้านน้ำ ครีบอื่นก็จะแผ่ออก ทำหน้าที่ทรงตัวพร้อมกัน
ครีบต่างๆ ของปลาแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ครีบคู่ (paired fins) และครีบเดี่ยว (median fins) สำหรับครีบคู่ในปลาส่วนใหญ่มีสองคู่ด้วยกัน คือ ครีบอก (pectoral fins) และครีบท้อง (pelvic หรือ abdominal fins) ซึ่งครีบทั้งสองเปรียบ ได้เหมือนขาหน้าและขาหลังของสัตว์สี่เท้าบนบก ครีบอกตั้ง อยู่ถัดจากกระพุ้งแก้มของปลา โดยอาจอยู่สองข้างของลำตัวทั้ง ซ้ายและขวาหรืออยู่ค่อนมาทางด้านล่างของลำตัวแล้วแต่จำพวก ของปลา ที่ตั้งของครีบท้องมักมีส่วนสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้ง ของครีบอก ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำคือปลาที่ไม่มีการเปลี่ยน แปลงรูปร่างจากแบบปกติทั่วไปมากนัก เช่น ปลาหลังเขียว ปลาเข็ม ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ชิดส่วนสันท้องทางด้าน หน้าของรูทวาร (anus) ส่วนตำแหน่งของครีบอกจะอยู่ต่ำหรือ ค่อนมาทางด้านล่างของลำตัว ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงคือปลา ที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง และลักษณะไปจากแบบทั่วไป ไม่ว่าน้อยหรือมาก ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ตรงบริเวณหน้า อกของปลา (thoracic position) ใต้ครีบอกซึ่งอยู่ถัดสูงขึ้นไป ข้างลำตัว เช่น ปลาทู ปลาม้า หรืออยู่เลยค่อนไปทางข้างหน้า ของครีบอก คืออยู่ที่ตรงบริเวณคอหอยของปลา (jugular position) เช่น ปลาจำพวกปลาบู่ เป็นต้น
การแยกประเภทปลากระดูกแข็ง
นักอนุกรมวิธานใช้ตำแหน่งครีบอกและครีบท้องแยกปลากระดูกแข็งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. ปลากระดูกแข็งชั้นต่ำ ซึ่งมีโครงครีบเป็นก้านอ่อน ตำแหน่งของครีบท้องตั้งอยู่บริเวณส่วนท้อง เช่น ในปลาหลังเขียว (ก) เป็นต้น
๒. ปลากระดูกแข็งชั้นสูง ซึ่งมีโครงครีบเป็นหนาม จะเห็นได้ว่า ในปลาจำพวกนี้ครีบท้องจะอยู่บริเวณหน้าอกของปลา เช่น ปลาหางเหลือง (ข) หรือที่บริเวณคอหอย เช่น ในปลาไหลทราย (ค)
ครีบอกของปลาจำพวกปลากระเบนมีความสำคัญในการ เคลื่อนไหวในน้ำเป็นอย่างมาก แต่ในปลาหลายชนิด ครีบคู่มีหน้าที่เฉพาะ เพื่อการทรงตัวในน้ำ ปลาบางจำพวก เช่น ปลา ในวงศ์ปลานกกระจอก (Exocoetidae) ครีบอกมีขนาดใหญ่มาก ใช้ช่วยพยุงตัวให้ปลาถลาขึ้นพ้นน้ำ ร่อนไปได้ไกลๆ
ปลาสิงโต (Pterois lunulata) เป็นปลาทะเลที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน บริเวณหินปะการัง ลำตัวมีสีและลวดลายสวยงาม ครีบที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมีลักษณะแตกกิ่ง คล้ายสัตว์น้ำหลายชนิด ในบริเวณที่อาศัย ก้านครีบมีความแหลมคม แข็ง และมีพิษ เพื่อใช้ป้องกันตนเองจากภยันตราย
ปลาบางชนิด เช่น ปลาไหลนา ครีบคู่เสื่อมหายไป เพราะ การเคลื่อนไหวของปลาไหล ใช้การยืดหดของกล้ามเนื้อลำตัว แทนทั้งหมด ทำให้ปลาเคลื่อนที่ได้เหมือนงูเลื้อย ปลาบางชนิด ไม่มีครีบท้อง เช่น ปลาจะละเม็ด ปลาดาบเงิน ปลาปักเป้า เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาครีบทั้งหลาย ครีบท้องมี ประโยชน์น้อยที่สุดในการพยุงตัวและการทรงตัวของปลา จึง เห็นได้ชัดว่ามีขนาดเล็กกว่าครีบอื่น
ปลาเงินปลาทอง (Carasius auratus) เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มใกล้เคียงกับปลาตะเพียน มีการคัดเลือกพันธุ์มานานนับพันปี จนมีลักษณะแปลก โดยเฉพาะชนิดที่มีครีบต่างๆ ขนาดใหญ่โบกพัดน้ำดูสวยงามมาก
ดังได้กล่าวมาแล้ว นักอนุกรมวิธานปลาจึงพอจะใช้ ตำแหน่งของครีบคู่ ในการจำแนกกลุ่มของปลาออกเป็นปลา จำพวกที่มีโครงครีบซึ่งเป็นก้านอ่อน (soft-rayed fish) และปลา ที่มีโครงครีบซึ่งมีก้านเป็นหนาม (spiny-rayed fish)
ครีบเดี่ยว ได้แก่ ครีบหลัง (dorsal fin) ครีบหาง (caudal fin) และครีบทวาร (anal fin)
ครีบหลังอาจมีเพียงครีบเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครีบก็ได้ ในปลาบางชนิดครีบหลังอันที่ ๒ อาจจะเป็นครีบไขมัน (adipose fin) หรืออาจประกอบด้วยครีบฝอย (finlets) ก็มี ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำ ครีบหลังจะมีก้านครีบอ่อนประกอบด้วย กระดูกชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นข้อๆ ตอนปลายของก้านแตกออกเป็นแฉกๆ ปลาจำพวกนี้ได้แก่ ปลาโคก (gizzard shad) ปลาอกแลหรือหลังเขียว (sardine) ฯลฯ
ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงขึ้นมา ครีบหลังตอนแรกก้านครีบจะเป็นหนามแข็ง ส่วนครีบ หลังอันถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน เช่น ในปลาจำพวกกะพง (Snappers) ส่วนปลาทู ปลาลัง ยังมีครีบ ฝอย (finlets) จำนวน ๕ ครีบอยู่ถัดไปทางโคนหาง กับอีก ๕ ครีบอยู่ตรงกันข้ามทางด้านท้อง ท้ายครีบทวาร
ครีบที่เป็นหนามทำให้ครีบแข็งแรงขึ้น และอาจใช้ในการป้องกันศัตรูได้ด้วย ในปลาบาง จำพวก เช่น ปลาดุก (Clarias spp.) มีครีบหลังและครีบทวารยาว การโบกพัดของครีบยังทำให้ปลา เดินหน้าและถอยหลังได้ อย่างไรก็ดี ในปลาบางชนิด เช่น ปลาติด (sucker fish) ครีบหลังอัน แรกซึ่งอยู่บนหัวจะมีวิวัฒนาการไปเป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะติด ดังนั้น ปลาพวกนี้จึงอาศัยเกาะติด ปลาใหญ่ๆ เช่น ปลาฉลาม ได้ และคอยรับเศษอาหารที่หลงเหลือจากปลาใหญ่เหล่านั้น
ครีบหางมีความสำคัญมากในการเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ ปลา ที่ว่ายน้ำเร็วมักจะมีส่วนตัด (cross section) ของคอดหาง (caudal peduncle) เป็นรูปกลม เช่น ปลา ฉลาม ครีบหางในปลากระดูกแข็งชนิดต่างๆ มีรูปร่างแตกต่างกันไป ปลาจำพวกที่ว่ายน้ำเร็ว หรือ ปลาฝูงในมหาสมุทร เช่น ปลาทูนา ครีบหางจะกว้างแต่เว้าลึกมีรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ปลาทู มีครีบหางเป็นแฉกรูปส้อม ปลาที่ว่ายน้ำช้าอาจมีครีบหางเป็นรูปพัด หรือรูปหางตัดหรือรูปกลม แล้วแต่ชนิดของปลา ปลาฉลามซึ่งเป็นปลาจำพวกที่มีกระดูกอ่อนมีลักษณะของครีบหางผิดแผก ไปจากปลาจำพวกกระดูกแข็ง กล่าวคือ แกนหางงอนขึ้นไปทางส่วนบนของครีบหางทำให้ส่วนบน ของครีบหางยาวกว่าส่วนล่าง (heterocercal tail) นี่เป็นลักษณะที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ปลาฉลามกับปลาโบราณบางพวกที่พบกลายเป็นซากหิน ส่วนหางของปลากระเบนหลายชนิดมี ลักษณะเป็นแส้ยาว
ครีบทวารมีส่วนช่วยในการพยุงตัว และในการเคลื่อนไหวของปลาเหมือนกัน เช่น ในปลา กรายและปลาสลาดหรือฉลาดมีครีบทวารยาวมาก การพัดโบกของครีบทวารจะทำให้ปลาว่ายไปข้าง หน้าหรือถอยหลังได้ จะเห็นได้ว่าในปลาจำพวกนี้ ครีบอกมีขนาดเล็ก ส่วนครีบท้องยิ่งเล็กมาก จนไม่น่าใช้ประโยชน์ได้