เล่มที่ 8
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบบการหายใจ

แบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ

            ๑. ส่วนที่เป็นทางผ่านของลมหายใจ ได้แก่ จมูก ปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดลมใหญ่ (trachea) หลอดลมย่อย (vronchi) และ แขนงภายในปอดทั้งสองข้าง

            ๒. ส่วนที่ทำหน้าที่หายใจ คือทำการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในอากาศหายใจ กับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ได้แก่ ถุงลม

กล่องเสียง

            โครงสร้างของกล่องเสียงประกอบด้วยกระดูกอ่อนหลายชิ้น ซึ่งบางชิ้นมีเส้นใยพังผืดยืดหยุ่นมาก กระดูกอ่อนเหล่านี้ถูกยืดกันด้วยเอ็น (ligaments) และเยื่อพังผืด และยังต่อกันเป็นข้อต่อเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวได้ด้วย
กล่องเสียง แสดงช่องทางเข้าซึ่งมองจากด้านหลังเมื่อเอาผนังหลังของคอหอยออกไปแล้ว
กล่องเสียง แสดงช่องทางเข้าซึ่งมองจากด้านหลังเมื่อเอาผนังหลังของคอหอยออกไปแล้ว
            กล่องเสียงยาว ๔-๕ เซนติเมตร ในผู้ใหญ่เพศชายและยาว ๓.๕ เซนติเมตร ในผู้ใหญ่เพศหญิง อยู่ติดต่อกับคอหอยส่วนกล่องเสียง

            กล่องเสียงจะถูกยกสูงขึ้นเมื่อหงายศีรษะ และเลื่อนต่ำลงเมื่อก้มศีรษะ และการเลื่อนขึ้นบนยังเห็นได้ในขณะกลืนกล่องเสียงคลำพบได้ทางด้านหน้าของคอในแนวกลางตัว เรียกว่า ลูกกระเดือก

            ทางเข้ากล่องเสียง อยู่ในแนวเฉียงลงล่างจากหน้าไปหลัง ซึ่งมีกล้ามเนื้อ ทำให้ทางเข้ากล่องเสียงปิดได้ ป้องกันมิให้อาหารตกลงไปในกล่องเสียง

            ภายในกล่องเสียงมีโพรงกลอ่งเสียง ซึ่งมีรอยนูนขึ้นมาสองคู่ คู่บน เรียกว่า รอยนูนเวสติบูลาร์ (vestibular fold) คู่ล่าง เรียกว่า รอยนูนโวคอล (vocal fold) ซึ่งมีเอ็นสายเสียงอยู่ภายใน

            ภายในกล่องเสียงมีกล้ามเนื้อลายเล็กๆ หลายมัด เพื่อควบคุมทางเข้ากล่องเสียง และรอยนูนเวสติบูลาร์ป้องกันไม่ให้อาหาร และสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในกล่องเสียง และควบคุมการเปิดปิดของสายเสียง ทำให้เกิดเสียง และจะปิดสนิทในขณะกลั้นหายใจ

หลอดลมใหญ่

            ต่อลงมาจากกล่องเสียง ยาว ๔ เซนติเมตร ในเด็กเกิดใหม่ และยาว ๙-๑๐ เซนติเมตรในผู้ใหญ่ มีขนาดกว้าง ๕x๖ มิลลิเมตรในเด็กเกิดใหม่ และขนาด ๑๖x๑๔ มิลลิเมตรในผู้ใหญ่ อยู่หน้าหลอดอาหาร ทอดผ่านส่วนคอ มาสู่ช่องอก แล้วแยกเป็นสองง่าม เป็นหลอดลมย่อยซ้ายและขวา เข้าสู่ปอดซ้ายและขวา

            ผนังประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปเกือกม้าประมาณ ๑๕-๒๐ วง ปลายหลังของกระดูกอ่อน ซึ่งไม่ต่อกันจะถูกยึดไว้ด้วยพังผืด และกล้ามเนื้อเรียบ เพื่อให้หลอดลมใหญ่แคบลง และกว้างขึ้นได้

หลอดลมย่อย

            หลอดลมย่อยซ้ายและขวา ซึ่งแยกจากหลอดลมใหญ่เข้าสู่ขั้วปอดซ้ายและขวาตามลำดับ หลอดลมย่อยข้างซ้ายยาว ๕ เซนติเมตร ข้างขาวยาว ๒.๕ เซนติเมตร

            หลอดลมย่อยซ้ายขวานี้ เมื่อเข้าปอดแล้วก็ยังแกยแขนงออกไปเป็นหลอดลมเล็กๆ อีกมากมายภายในปอด

ปอด

            เป็นอวัยวะสำหรับการหายใจ อยู่อย่างอิสระในช่องเยื่อหุ้มปอด เว้นแต่ตรงขั้นปอด ปอดยึดติดกับหลอดลมใหญ่โดยหลอดลมย่อย ยึดติดกับหัวใจ โดยหลอดเลือดที่เข้าสู่ปอดและออกจากปอด ปอดมี ๒ ข้าง คือ ปอดขวา และปอดซ้าย
หลอดลมใหญ่ หลอดลมย่อยสู่ปอด และปอดทั้งสองข้าง
หลอดลมใหญ่ หลอดลมย่อยสู่ปอด และปอดทั้งสองข้าง
            รูปร่างของปอด คล้ายรูปกรวยผ่าซีก มียอดอยู่บนฐานกว้างอยู่ ข้างล่างชิดกับกะบังลม ปอดขวามีร่องแยกออกได้เป็น ๓ กลีบ ปอดซ้ายมีร่อง แยกออกเป็น ๒ กลีบ ปอดขวาหนักเฉลี่ย ๖๒๐ กรัม ปอดซ้ายหนักเฉลี่ย ๕๖๐ กรัม

            ปอดเป็นอวัยวะที่ยืดหดได้มาก ในเด็กมีสีชมพูอ่อน แต่ผู้ใหญ่มักจะมีจุดสีเทา หรือสีดำ ซึ่งเกิดจากการสะสมของฝุ่นละอองจากอากาศที่หายใจเข้าไป ปอดมีน้ำหนักเบา และมีรูพรุนเต็มไปหมด ปอดจึงลอยน้ำ และเมื่อบีบจะมีเสียงกรอบแกรบ แต่ในเด็กเกิดใหม่ที่ยังไม่เคยหายใจเลย ปอดค่อนข้างแข็ง และจมน้ำ จึงใช้พิสูจน์ว่าเด็กเกิดมาหายใจหรือยัง ถ้าเด็กเคยหายใจครั้งแรก จะมีอากาศและเลือดเข้าปอดมากขึ้น ทำให้ปอดเปลี่ยนลักษณะเป็นนุ่ม คล้ายฟองน้ำ และลอยน้ำได้

            ลักษณะภายในของปอดประกอบด้วยหลอดลมเล็กๆ หลอดเลือด และส่วนที่ทำหน้าที่หายใจจริงๆ คือ ถุงลม ซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด กับออกซิเจนในอากาศ ที่ผิวนอกของปอดหุ้มด้วยเยื่อหุ้มปอดบางๆ

            หลอดลมย่อยเมื่อเข้าปอดก็แยกแขนงไปสู่กลีบปอดแต่ละกลีบ และแยกแขนงเล็กลงๆ จำนวนมากมายภายในปอด ถัดไปเป็นถุงลม ซึ่งมีผนังบางมาก และมีหลอดเลือดฝอยต่อกันเป็นร่างแหล้อมรอบ จึงมีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้