เล่มที่ 8
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบบเลือดไหลเวียน

            การเคลื่อนของเลือดติดต่อกันเป็นวงจร เกิดขึ้นได้โดยการหดตัวของหัวใจ เลือดออกจากหัวใจโดยทางหลอดเลือดแดง (artery) และกลับเข้าสู่หัวใจโดยทางหลอดเลือดดำ (vein) หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำติดต่อกัน โดยหลอดเลือดฝอยเล็กๆ และบาง ประสานกันเป็นร่างแห ดังนั้นเลือดที่ออกจากหัวใจ จึงมีหน้าที่นำสารบางอย่าง เช่น ออกซิเจน และอาหารที่ย่อยแล้วไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย สำหรับการเจริญเติบโต และให้ทำงานได้ตามปกติ และนำของเสียจากการเผาผลาญ (waste product) ไปสู่ปอดและไต เพื่อขับออกจากร่างกาย บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของระบบเลือดไหลเวียน ก็คือ ช่วยในการต่อสู้เชื้อโรค และการซ่อมแซม เมื่อได้รับอันตราย และยังนำฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งที่หลั่งจากต่อมไร้ท่อไปทั่วร่างกาย

หัวใจ 

            เป็นเครื่องสูบฉีดเลือด ประกอบด้วยผนังเป็นกล้ามเนื้อหนา หดตัว และคลายตัวเป็นจังหวะไม่มีหยุด รูปร่างของหัวใจคล้ายรูปกรวยทู่ และแบนจากหน้าไปหลังเล็กน้อย

            ช่องหัวใจ แบ่งออกเป็นครึ่งซ้ายและขวา โดยผนังกั้นเฉียงๆ แต่ละข้างประกอบด้วยช่องที่รับเลือดดำเรียกว่า เอเตรียม (atrium) ซึ่งมีผนัง บาง และช่องที่ผนังเลือดออกซึ่งมีผนังหนา เรียกว่า เวนตริเคิบ (ventricle) ดูภายนอกมีร่องตื้นๆ บอกตำแน่งรอยต่อระหว่าง เอเตรียม กับเวนตริเคิล ภายในส่วนล่างของเอเตรียม เปิดเข้าสู่ส่วนหลังของเวนตริ เคิล โดยรูกว้างซึ่งเรียกว่า รูอะตริโอเวนตริคูลาร์ (atrio- ventricular oritice) แต่ละรูนี้มีลิ้นหัวใจ ซึ่งยอมให้เลือดจาก เอ เตรียม ไปสู่ เวนตริเคิล ได้ แต่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

            เอเตรียมขวา อยู่ทางขวาค่อนไปทางหน้า รับเลือดเสียจากศีรษะ คอ และแขน ทางหลอดเลือดวีนาคาวาหลอดบน (superior vena cava) และรับเลือดดำจากส่วนอก ท้อง เชิงกราน และขาโดยทางหลอดเลือดวีนา คาวาหลอดล่าง (inferior vena cava) และยังรับเลือดจากผนังหัวใจเองด้วย

            เวนตริเคิลขวา อยู่ทางขวาค่อนไปทางหน้า รับเลือดดำจากเอเตรียม ขวา และบีบเลือดไปสู่ปวดทั้งสองข้าง โดยหลอดเลือดแดงสู่ปอด ที่ส่วนต้นของหลอดเลือดแดงสู่ปอด มีลิ้นให้เลือดออกจากหัวใจไปได้ แต่จะปิดสนิทไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

            เอเตรียมซ้าย อยู่ทางซ้ายค่อนไปทางหลัง รับเลือดดำจากปอดทั้ง สองข้าง

            เวนตริเคิลซ้าย อยู่ทางซ้าย รับเลือดจากเอเตรียมซ้าย และบีบเลือด ส่งไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่ เอออร์ตา (aorta) ซึ่งมีแขนงมากมายไป เลี้ยงทั่วร่างกาย ที่ส่วนต้นของแอออร์ตา มีลิ้นให้เลือดจากเวนตริเคิล ซ้ายออกไปได้ แต่จะปิดสนิทไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
ด้านหน้าของหัวใจ
ด้านหน้าของหัวใจ
หลอดเลือดแดง

            เมื่อหัวใจหดตัว ก็จะบีบไล่เลือดไปสู่เอออร์ตา และหลอดเลือดแดงแขนงใหญ่ๆ ทันที หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่จึงมีเส้นใยยึดหยุ่นมากในผนัง และยืดออกได้ เมื่อหัวใจหดตัวทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่มีต่อหลอดเลือด ขนาดเล็กกว่า อันเนื่องจากความดันของเลือดที่ออกมาอย่างแรง

            เพื่อที่จะควบคุมการส่งเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หลอดเลือดขนาดกลาง จึงมีกล้ามเนื้อเรียบมากขึ้น หลอดเลือดขนาดเล็กจะกลับมีกล้ามเนื้อเรียบน้อยลงหลอดเลือดฝอย มีขนาดเล็กมากขนาด ๘-๑๐ ไมครอน ไม่มีกล้ามเนื้อเลย มีแต่เยื่อบุผนังเท่านั้น สำหรับการแลกเปลี่ยนออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ อาหาร และของเสียซึมผ่านผนังได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
ด้านหลังของหัวใจ
ด้านหลังของหัวใจ
หลอดเลือดดำ

            เลือดในหลอดเลือดดำไหลช้ากว่า และความดันเลือดก็ต่ำกว่าในหลอดเลือดแดง ดังนั้นหลอดเลือดดำจึงมีขนาดใหญ่กว่าและผนังบางกว่าหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำตั้งต้นจากหลอดเลือดฝอย แล้วก็มีขนาดโตขึ้นๆ จนเข้าสู่เอเตรียมของหัวใจ
หัวใจผ่าซีก (ตามแนวในรูปเล็ก) แสดงให้เห็นภายในของหัวใจ
หัวใจผ่าซีก (ตามแนวในรูปเล็ก) แสดงให้เห็นภายในของหัวใจ
            ในปลา หัวใจเป็นเพียงท่ออันเดียว รับเลือดเสียที่ปลายข้างหนึ่ง และบีบไล่เลือดเสียเนื้ออกทางปลายอีกข้างหนึ่ง ไปสู่ร่างแหหลอดเลือดฝอยที่เหงือก เพื่อรับออกซิเจนจากน้ำ เมื่อมีวิวัฒนาการของสัตว์บก อากาศเป็นแหล่งของออกซิเจน จึงจำเป็นต้องมีอวัยวะสำหรับการหายใจใหม่ ได้แก่ ปอด ซึ่งเป็นอวัยวะที่ติดต่อกับอากาศภายนอกโดยทางปาก และจมูก วิวัฒนาการของปอดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเลือดไหลเวียน ซึ่งเลือดเสียกลับเข้าสู่หัวใจแล้ว จะต้องสามารถส่งเลือดเสียไปยังปอดก่อนอื่น เพื่อปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และรับออกซิเจนแล้วจึงส่งเลือดที่มีออกซิเจนไปทั่วร่างกาย อันนี้เองเป็นสาเหตุให้มีการเกิดผนังกั้นกลาง ซึ่งแบ่งหัวใจที่เคยเป็นห้องเดียวออกเป็นครึ่งซ้ายและครึ่งขวา