เล่มที่ 10
โรคตา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ตาเหล่

            ตามปกติ ตาของคนเวลาดูวัตถุจะกลอกตาไปด้วยกัน (ยกเว้นเวลามองของใกล้ ตาสองข้างจะกลอกเข้าหากัน) และดูสองตาพร้อมกัน เช่นเ มื่อมองไปทางซ้าย ลูกตาซ้ายจะกลอกไปทางด้านนอก หรือด้านใกล้ขมับ และลูกตาขวาจะกลอกเข้าใน หรือด้านใกล้จมูก เมื่อมองบน หรือมองล่าง มองขวา มองเฉียงบน หรือเฉียงล่าง ลูกตาจะกลอกไปในแนวเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะกล้ามเนื้อกลอกตาของตาสองข้างทำงานประสานกัน และภาพที่จอตาแต่ละข้างจะรวมกันให้มองเห็นเป็นภาพเดียว มองเห็นความลึก และความหนาบางของภาพ สมองช่วยให้มีการตัดสินใจเรื่องสิ่งที่มองเห็น และมีการประสานงานระหว่างตาและอวัยวะ ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่เหนือสัตว์ประเภทอื่น การมองด้วยตาสองข้างให้เห็นเป็นภาพเดียวนี้ มีในตาชนิดที่วางอยู่ด้านหน้า ตรงหน้าผาก สัตว์ที่มีตาอยู่ทางด้านข้างจะไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

            ตาเหล่เป็นสภาพที่เกิดขึ้น เมื่อแนวของการมองเห็นภาพของตาแต่ละข้างไม่เป็นไปด้วยกัน ตาเหล่แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ ตาเหล่แบบซ่อนเร้น (ตาส่อน) (latent strabismus) เมื่อดูพร้อมกันทั้งสองตาจะไม่เห็นสภาพตาเหล่ เพราะร่างกายสามารถฝืนไว้ได้ จะเห็นสภาพตาเหล่ เมื่อให้มองของด้วยตาแต่ละข้างไม่พร้อมกัน และชนิดที่สองคือ ตาเหล่จริง (manifest strabismus) ซึ่งจะมีสภาพตาเหล่ปรากฏให้ผู้อื่นมองเห็น

            ตาเหล่จริงมีสองชนิด คือ ตาเหล่ชนิดที่กล้ามเนื้อกลอกตาเป็นอัมพาต ซึ่งอาจเป็นมัดใดมัดหนึ่งหรือหลายมัด และตาเหล่ชนิดที่กล้ามเนื้อกลอกตาไม่เป็นอัมพาต

            ตาเหล่ชนิดที่กล้ามเนื้อกลอกตาเป็นอัมพาต

            ลูกตากลอกไปในทิศทางทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่เป็นอัมพาตไม่ได้เลย จะกลอกได้แต่ทางที่กล้ามเนื้อลูกตาไม่เป็นอัมพาตเท่านั้น ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นภาพซ้อน สาเหตุอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นตอนหลัง ได้แก่ โรคของสมอง โรคของหลอดเลือด โรคมะเร็ง อันตรายจากภายนอกที่ไปทำอันตรายประสาท หรือทำลายกล้ามเนื้อ เช่น เป็นโรคของกล้ามเนื้อโดยตรง ตาเหล่ชนิดนี้รักษาหายยาก เว้นแต่จะมีสาเหตุที่อาจรักษาได้

            ตาเหล่ชนิดที่กล้ามเนื้อกลอกตาไม่เป็นอัมพาต

            คือ สามารถกลอกตาไปได้ทุกทิศทาง แต่เมื่ออยู่ในท่าปกติ ตาข้างหนึ่งจะเหล่เข้าใน ออกนอก ขึ้นบน หรือลงล่าง สาเหตุเกิดในระยะที่ตามีการเจริญเติบโต และมีการพัฒนาการมองของสองตาให้เห็นเป็นภาพเดียวในระหว่างอายุ ๓ เดือน จนเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ในอายุประมาณ ๗ ปีนั้น มีสิ่งมาขัดขวางไม่ให้มีการรวมภาพจากตาสองข้างให้เป็นภาพเดียว จึงเกิดอาการตาเหล่ขึ้น สิ่งที่มาขัดขวางมีหลายอย่าง ที่พบมากคือ ความผิดปกติของสายตา เช่น สายตายาว หรือสายตาสั้น ที่ไม่ได้แก้ไขให้มองเห็นเท่าปกติ นอกจากนี้ มีสาเหตุอื่นอีก เช่น มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อมาแต่กำเนิด มีโรคที่ตาข้างที่เหล่ มาทำให้ภาพที่ปรากฎที่ตาข้างนั้นเห็นไม่ชัดเท่าข้างที่เป็นปกติ หรือเมื่อร่างกายอ่อนแอหลังจากเป็นไข้ เป็นต้น

            เด็กที่สายตายาว หรือสายตาสั้นนั้น เมื่อมองเห็นภาพไม่ชัด ตาจะพยายามเพ่ง เพื่อให้มองเห็นชัด และในขณะที่เพ่งมองภาพนั้น นอกจากกล้ามเนื้อภายในลูกตาจะดึงแก้วตาให้เปลี่ยนรูป เพื่อเพิ่มการรวมแสงให้มองเห็นชัดแล้ว ยังมีการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาดึงลูกตาสองข้างเข้าหากันด้วย เมื่อเป็นดังนี้อยู่นานเข้าตาจะเหล่เข้าใน ในพวกสายตายาว และจะเหล่ออกนอก ในพวกสายตาสั้น และจะเป็นกับตาข้างที่สายตาเลวกว่า ตาเหล่ชนิดนี้รักษาด้วยการใส่แว่นตา การฝึกกล้ามเนื้อตา และการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา