เล่มที่ 10
โรคตา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การถนอมสายตาและการป้องกันตาบอด

            ทุกคนควรรู้จักถนอมสายตา และป้องกันตาบอดด้วยตนเอง ในวัยเด็กอาศัยครูและผู้ปกครองช่วยดูแล แพทย์เป็นแต่ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้การรักษา

การถนอมสายตา

หลักการปฏิบัติในการถนอมสายตามีดังนี้

            ๑. กินอาหารให้ถูกต้อง อาหารมื้อหนึ่งๆ ควรมีอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินให้ครบถ้วน วิตามินเอ จำเป็นสำหรับการสร้างโครงสร้างของเยื่อบุชั้นนอก (epithelium) และของเซลล์ วิตามินเอเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีในชั้นจอตา ขณะรับแสงสว่าง การพร่องวิตามินเอ ทำให้มีอาการมองเห็นไม่ชัดในที่มืด (might blindness) เยื่อหุ้มตาแห้ง กระจกตาแห้ง เป็นเกล็ดกระดี่ที่เยื่อหุ้มตา กระจกตาเป็นแผล ซึ่งทำให้ตาบอดได้ ในประเทศด้อยพัฒนา ภาวะพร่องวิตามินเอ เป็นสาเหตุหนึ่งของตาบอดในวัยเด็ก ถ้าได้รับวิตามินเอมากเกินพอ ผิวหนัง และเยื่อหุ้มตาจะมีสีเหลือง อาจมีอาการบวมของหัวประสาทตา มีเลือดออกที่จอตา การพร่องวิตามินดี อาจทำให้เป็นต้อแก้วตา เป็นโรคกระดูกอ่อน ตากระดูก การพร่องวิตามินอี ทำให้กล้ามเนื้อตาบางมัดทำงานไม่ปกติ การพร่องวิตามินซี วิตามินเค ทำให้มีเลือดออกที่จอตา การพร่องวิตามินบีหนึ่ง ทำให้ประสาทตาเสื่อมและฝ่อลีบ การพร่องวิตามินบีรวม ทำให้หลอดเลือดฝอยมารวมที่กระจกตาเพิ่มขึ้น หนังตาอักเสบ มีอาการกลัวแสง สายตามัว
เกล็ดกระดี่ที่เยื่อหุ้มตา
เกล็ดกระดี่ที่เยื่อหุ้มตา
            ๒. ควรตรวจสายตา เมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ควรตรวจตั้งแต่เด็กเริ่มเรียนหนังสือ และสวมแว่นตาตามแพทย์สั่ง การไม่สวมแว่นตาในผู้ที่มีสายตาผิดปกติจะเป็นเหตุให้สายตามัว และถ้าทิ้งไว้นานตั้งแต่เด็ก แม้ใช้แว่นช่วยก็ไม่ช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น เพราะสายตาข้างนั้นไม่ได้ใช้งานมานาน
การตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์
การตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์
            ๓. เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินควร ควรสวมแว่นตาสีชา หรือสีดำ เพื่อลดความแรงของแสงที่อาจทำอันตรายต่อตา ผู้ที่ทำงานในที่ที่ใช้แสงสว่างมาก เช่น การเชื่อมโลหะ โดยใช้เปลวไฟที่ร้อนจัด หรือใช้ประกายไฟฟ้าที่มีแสงออกมามากนั้น ควรสวมแว่นดำกันแสง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัตถุร้อนอยู่ตลอดเวลา เช่น งานเป่าแก้ว ทำไข่ ควรสวมแว่นตาดำ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงอินฟราเรดทำลายแก้วตา มิฉะนั้นจะเกิดเป็นต้อแก้วตา ขณะดูสุริยคราสควรใช้แว่นสีดำมืดสวม หรือดูจากเงาสะท้อนในน้ำ อย่าดูด้วยตาเปล่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าไปเผาทำลายประสาทจอตา

            ๔. ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลึงของ หรือต้มสารที่เป็นกรด หรือเป็นด่าง ควรสวมแว่นตาป้องกันไอกรดต่าง หรือป้องกันผงที่กระเด็นจากการกลึงไม่ให้เข้าตา

            ๕. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับดวงตา ไม่ควรใช้สิ่งสกปรกเช็ดตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันเชื้อโรครวมทั้งเชื้อรา ไม่ให้เข้ามาทำอันตรายลูกตา

            ๖. ไม่จำเป็นต้องล้างตาเป็นประจำ เพราะน้ำตาของคนเราจะไหลล้างชำระอยู่ตลอดเวลา น้ำตาเป็นน้ำสะอาด ภายในมียาฆ่าเชื้อโรคอยู่แล้ว การล้างตาจะทำให้ความเข้มข้นของน้ำตาอ่อนลง ยาล้างตาบางชนิดอาจมีความสมดุลของกรดด่างไม่พอเหมาะ ถ้ามีมากไปจะรบกวนลูกตา การล้างตาจะทำในรายที่ต้องการล้างเอาผงหรือขี้ตา หรือสิ่งสกปรกอื่นออก

            ๗. ไม่จำเป็นจะต้องกลอกตาไปมา เพื่อออกกำลังให้ลูกตา เพราะโดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อกลอกตาทำงานหนักอยู่แล้วตลอดเวลาตื่น ควรพักสายตาด้วยการหลับตา หรือมองไปไกลๆ ดีกว่า

            ๘. สิ่งที่เป็นพิษเป็นอันตรายต่อลูกตาควรละเว้น เช่น พิษจากบุหรี่ ประเภทยาเส้น ซึ่งทำให้ประสาทตาเสีย ยาหลายชนิด เช่น ควินิน สุราที่กลั่นไม่บริสุทธิ์ เหล่านี้จะทำอันตรายประสาทตาได้

            ๙. ควรอ่าน เขียน หรือทำงานที่ละเอียดในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะ และเพียงพอ การดูโทรทัศน์ควรดูในที่ที่แสงสว่าง เพราะแสงสว่างที่เกิดขึ้น เมื่ออิเล็กตรอนวิ่งมากระทบจอภาพนั้นลูกตาสามารถดูได้ โดยไม่ต้องปรับสายตาต่อความมืด มีบางคนเข้าใจผิดว่า การดูโทรทัศน์จะเห็นได้ เมื่อตาต้องปรับสายตาเหมือนกับดูในที่มืด ควรดูในระยะห่างจากจอภาพอย่างน้อย ๕ เท่าของความกว้างของจอภาพ

การป้องกันตาบอด

โรคและอาการต่างๆ ที่ควรระวัง ได้แก่

            ๑. เมื่อกรดด่าง หรือสารเคมีเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่พอจะหาได้ทันที อาจใช้น้ำประปาจากก๊อกก็ได้ การล้างตาในรายอย่างนี้ต้องล้างให้มากที่สุด และนานราว ๕ นาที หลายๆ ครั้ง แล้วจึงไปพบจักษุแพทย์

            ๒. เมื่อมีอันตรายที่ตาไม่ว่าลูกตาจะเป็นแผล หรือไม่เป็นก็ตาม อย่าใส่ยาอะไรทั้งหมด ควรใช้ผ้าหรือกระดาษสะอาดปิดตา แล้วไปพบแพทย์

            ๓. อาการตาแดง ปวดตา เห็นดวงไฟมีแสงรุ้งรอบ มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นมืดลง เหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

            ๔. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคเลือด โรคเรื้อน อาจมีโรคแทรกทางตาเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยโรคเหล่านี้แม้ยังไม่มีอาการของสายตา ก็ควรให้จักษุแพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการตาบอดจากโรคแทรกที่ตา ซึ่งถ้าเกิดเป็นแล้ว มักทำลายประสาทตาให้ตาบอด และถ้าโรคเป็นมากแล้ว รักษาให้หายยาก จึงควรป้องกันตั้งแต่ต้น

            ๕. ผู้ที่อายุเลย ๔๐ ปีไปแล้ว ควรตรวจ เพื่อป้องกันโรคต้อหิน โรคต้อหินชนิดเรื้องรังนั้น เมื่อเริ่มเป็น ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติมาก จึงมักไม่รู้ตัว จะรู้ตัวว่า เป็นหรือมีอาการก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นมากแล้ว

            ๖. ควรตรวจสายตาตนเองเป็นครั้งคราว โดยปิดตาดูทีละข้างว่า สายตาสองข้างเห็นเท่ากันหรือไม่ และตาทั้งสองข้างทำงานพร้อมกัน ถ้าไม่ปิดดูก็ยังคงคิดว่า แต่ละข้างยังทำงานได้ดี