โรคตา โรคตาแบ่งตามสาเหตุ ได้แก่ ความผิดปกติมาแต่กำเนิด การอักเสบ อันตรายจากภายนอก การเสื่อมของอวัยวะ เนื้องอก และโรคตาที่พบร่วมกับโรคของร่างกายทั่วไป ความผิดปกติมาแต่กำเนิด สาเหตุนี้พบน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสาเหตุอื่น เช่น มีรูม่านตาหลายรูม่านตา และชั้นประสาทจอตาแหว่ง กระจกตาขนาดเล็กกว่าปกติ ลูกตาเล็กกว่าปกติ ฯลฯ สายตาจะพิการหรือไม่ขึ้นอยู่กับส่วนที่ผิดปกติ เป็นอวัยวะเกี่ยวกับการมองเห็นหรือไม่ และผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ส่วนมากจะไม่ถึงกับตาบอด นอกจากจะผิดปกติรุนแรง เช่น เกิดมาไม่มีลูกตา หรือลูกตาที่มีนั้นไม่สมบูรณ์ โรคจำพวกนี้รักษายาก การอักเสบ เกิดขึ้นได้ทุกระยะ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ การไวต่อสาร หรือโปรตีนบางชนิด (ภูมิแพ้) อันตรายจากภายนอก เกิดร่วมกับโรคของร่างกายทั่วไป บางรายที่ไม่ทราบสาเหตุก็มี การขาดอาหาร หรือพร่องวิตามินบางชนิดก็รวมอยู่ในพวกนี้ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ เชื้อบัคเตรี ไวรัส เชื้อรา และหนอนพยาธิ ถ้าติดเชื้อบัคเตรีจะเกิดการอักเสบรุนแรง น้ำตาไหล ขี้ตา มีอาการปวดเจ็บ และเคืองตา ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดอาการตาแดงระบาด เชื้อที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา เชื้อรานั้นเป็นอันตรายมาก และรักษายาก มักทำให้เกิดแผลอักเสบที่กระจกตา อาจลุกลามเข้าไปภายในช่องต่างๆ ของลูกตา และทำให้ตาบอด อันตรายจากภายนอก แม้ว่าลูกตาเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในโพรงกระดูก แต่ก็มีโอกาสที่จะถูกอันตรายที่อยู่ภายนอกได้ อันตรายต่างๆ มีขึ้น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอาชีพ หรือเพราะสิ่งแวดล้อม อันตรายที่เกิดกับลูกตามีหลายแบบ ถ้าเกิดจากของมีคม ทำให้เป็นแผลบางส่วน หรือลูกตาแตก ทำให้อวัยวะภายใน และน้ำภายในลูกตาไหลออกมา ของไม่มีคมทำอันตรายชนิดลูกตาไม่แตก แต่อาจมีเลือดออกภายใน หรือชั้นประสาทจอตาหลุดออก อันตรายจากแสง เช่น แสงรังสี แสงอินฟราเรด แสงอัลตราไวโอเลตก็มีอันตรายต่อลูกตาได้ทุกส่วน ส่วนมากจะทำให้เกิดต้อแก้วตา หรืออาจทำอันตรายต่อประสาทตา ถ้าจ้องมองแสงตรงๆ อันตรายจากสารเคมี เช่น กรด ด่าง ทำให้กระจกตาขุ่นฝ้า และเกิดการอักเสบ ซึ่งมักพบในผู้ที่ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น การเสื่อมของอวัยวะ อาจเกิดขึ้นเองที่ลูกตาโดยตรง หรือเกิดขึ้น เพราะโรคของร่างกายทั่วไป แล้วมีผลต่อเนื่องมาที่ลูกตา การเสื่อมของอวัยวะของลูกตาอาจเกิดจากโรคกรรมพันธุ์ กระบวนการสร้าง และสลายธาตุต่างๆ ในร่างกาย (metabolism) ผิดปกติ การเสื่อมไปตามวัย เกิดเนื่องจากอวัยวะนั้นๆ เป็นโรค โรคตาเหล่านี้ได้แก่ โรคต้อแก้วตาในวัยสูงอายุ โรคต้อหิน และประสาทจอตาเสื่อม เป็นต้น เนื้องอก เกิดได้ทุกบริเวณ เป็นชนิดเนื้องอกธรรมดา หรือชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) เนื้องอกเกิดที่อวัยวะของลูกตาโดยตรง หรือเป็นเนื้องอกที่กระจายมาจากเนื้อมะเร็งของอวัยวะอื่นในร่างกาย เนื้องอกธรรมดา ได้ แก่ ไฝ ก้อนไขมัน ก้อนเดอร์มอยด์ (dermoid) และก้อนไฟโบรมา (fibroma)เนื้องอกชนิดมะเร็งอาจเกิดได้ที่เยื่อหุ้มตา หนังตา ม่านตา ชั้นคอรอยด์ และชั้นจอตา ถ้าเป็นเนื้องงอกภายในโพรงกระดูกเบ้าตาอาจดันในลูกตาโปนออกมา | |
เนื้องอกที่ลูกตา | |
โรคที่อาจพบเป็นร่วมกับโรคของร่างกายทั่วไป เช่น โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคเนื้องอกในสมองอันตรายที่สมอง โรคเลือด โรคบวมในคนตั้งครรภ์โรคเรื้อน โรคต่อมไทรอยด์ และโรคเบาหวาน เป็นต้น โรคเหล่านี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะของลูกตา และที่ชั้นประสาทจอตา ในภาษาไทยเรียกโรคตาหลายชนิดว่า ต้อ มี ต้อแก้วตา ต้อหิน ต้อเนื้อหรือต้อลิ้นหมา ต้อลม ต้อลำไยหรือต้อตาปู โรคตาที่พบบ่อยในประเทศไทย จะแตกต่างกันตามวัย ตามภูมิประเทศ ตามอาชีพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในวัยเด็กถึงวัยหนุ่ม สาวโรคที่พบมาก คือ สายตาผิดปกติที่ต้องใช้แว่นตา ช่วย ในวัยสูงอายุโรคที่พบมาก คือ โรคต้อแก้วตา โรคต้อหิน ในที่ที่มีสิ่งระคายเคืองตา เช่น ฝุ่นละออง ควัน มักจะพบโรคต้อเนื้อและต้อลมมาก โรคตาจากอันตรายภายนอกพบมีจำนวนเพิ่มขึ้น โรคตาจากการขาดอาหารก็ยังพบบ้าง ในที่ที่สุขภาพอนามัยไม่ดี พบโรคตาจากการติดเชื้อมากกว่าในท้องถิ่นที่เจริญแล้ว ตาแดง ตาแดง หมายถึง การอักเสบของตา โรคที่ทำให้ตาอักเสบมีทั้งชนิดที่เป็นน้อย เช่น เป็นฝีกุ้งยิงที่หนังตา เยื่อหุ้มตา และเยื่อใต้เปลือกตาอักเสบ และชนิดที่เป็นมาก จนอาจทำให้ตาบอด เช่น โรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน การอักเสบภายในลูกตา แผลที่กระจกตา และกระจกตาอักเสบ เป็นต้น | |
ตาปกติ | |
ผู้ที่มีอาการตาแดงไม่ควรประมาท ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อันจะเป็นหนทางป้องกันตาบอด ตาแดงจากเยื่อหุ้มตา และเยื่อใต้เปลือกตาอักเสบนั้น อาจเกิดจากเชื้อบัคเตรี เชื้อไวรัส เช่น โรคตาแดงระบาด หรือโรคริดสีดวงตา ถ้ารักษาไม่ถูกต้องแล้ว สายตาจะเสียได้ | |
ตาแดง | ตาแดงจากชั้นในของลูกตาอักเสบคือ ชั้นม่านตาซิเลียรีบอดี ซึ่งเป็นชั้นที่ให้อาหารเลี้ยงลูกตาอักเสบ จะมีอาการปวดศีรษะ อาการตามัวร่วมด้วย ถ้าปล่อยไว้ โรคจะลุกลามจนสายตาเสีย |
ผงเข้าตา ถ้าเป็นผงเล็กๆ จะมีอาการเคืองตา และตาแดง ถ้าเป็นเศษของแข็ง เช่น เหล็ก หิน จะมีอาการมากขึ้น หากทะลุเข้าลูกตาอันตรายจะมากขึ้นอีก | |
ตาแดง | |
โรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดมุมปิด เป็นโรคร้ายแรง ที่ทำให้ตาบอด มากกว่าโรคตาแดงอื่นๆ มีอาการปวดตามาก ตาแดง สายตามัวลงรวดเร็ว ก่อนมีอาการนี้ อาจมีอาการนำ เช่น เห็นรัศมีสีรุ้งรอบดวงไฟ ตอนหัวค่ำรู้สึกไม่สบายตา อ่านหนังสือลำบาก เป็นต้น โรคเกิด เพราะการไหลเวียนของน้ำเลี้ยงตาไม่สะดวก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มตา ทำให้บริเวณนั้นมีสีแดง แต่ไม่มีการอักเสบร่วมด้วย มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น พบในเด็กที่ไอมาก มีไข้สูง เป็นโรคเลือดหลอดเลือดเริ่มแข็งในผู้สูงอายุ อันตรายจากภายนอก และมีมากรายที่ไม่ทราบสาเหตุ ตาดำ ตาดำ (black eye) คือ ลูกตาเป็นสีดำ เพราะเลือดออกมาก และช้ำจนดำ มักเกิดจากอันตรายจากภายนอก เช่น ถูกอาวุธที่ไม่มีคม หรือของแข็งกระแทก เช่น ถูกหนังสติ๊ก และเกิดจากอุบัติเหตุจากการกีฬา เช่น ถูกลูกเทนนิส หรือถูกลูกแบดมินตัน แล้วจะมีเลือดออกบริเวณหนังตา เยื่อหุ้มตา และในลูกตาอันตรายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ช้ำเล็กน้อย จนถึงชั้นประสาทจอตาหลุด ซึ่งเป็นเหตุให้สายตาเสีย เลือดออกใต้หนังตา ทำให้หนังตาแดงช้ำจนเป็นสีดำ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มตา ทำให้เห็นเยื่อตาเป็นสีแดง ถ้าเลือดออกมากจะช้ำเป็นสีดำ อันตรายที่ทำให้ตาบอด เกิดจากแก้วตาหลุด ม่านตาฉีดขาด เลือดออกในช่องหน้าลูกตา กล้ามเนื้อซิเลียรีขาด เลือดออกในเยื่อวุ้นตา เลือดออกที่คอรอยด์ และประสาทจอตาหลุดลอก | |
เลือดออกที่เยื่อหุ้มตา | |
ตาเหลือง เยื่อหุ้มตาเป็นสีเหลืองอาจพบในคนปกติที่ได้รับ สารแคโรทีน (carotene) มาก เช่น กินอาหารหรือผลไม้ที่มีสารนี้มาก และกินอยู่นาน ผลไม้พวกนี้ ได้แก่ มะละกอ แคร์รอต สีของแคโรทีนไปจับอยู่ที่เยื่อหุ้ม ตาและตามผิวหนังเป็นสีเหลือง ถ้างดกิน อาการจะหายไป อาการตาเหลืองอาจพบในผู้ป่วยโรคดีซ่าน ซึ่งเป็นโรคทางอายุรกรรม โรคต้อแก้วตา ต้อแก้วตา หรือต้อกระจกหมายถึง แก้วตาขุ่นอาจขุ่นที่บริเวณใดของแก้วตา หรือขุ่นทั่ว (ต้อแก้วตาสุก) การขุ่น เกิดเพราะโปรตีนของแก้วตาแข็งตัวกลายเป็นโปรตีนที่ไม่ละลาย และเนื้อแก้วตาเสื่อมและตาย ต้อแก้วตามีหลายชนิด และพบได้ทุกอายุ ชนิดที่พบมากที่สุด คือ ต้อแก้วตาที่เป็นกับผู้สูงอายุ สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดเป็นต้อแก้วตานั้น ยังไม่ทราบ สาเหตุส่วนใหญ่เข้าใจว่า เกิดเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายไปตามวัย นอกจากนี้ มีสาเหตุจากลูกตาได้รับอันตรายจากภายนอก จากการกินสารเคมีบางอย่าง เช่น แนฟทาลีน น้ำตาลแล็กโทส น้ำตาลกาแล็กโทส จากรังสีต่างๆ เช่น อินฟาเรด อัลตราไวโอเลต รังสีลึก เรเดียม และกระแสไฟ เป็นต้น ต้อแก้วตา อาจพบเป็นกับผู้ที่เป็นโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคพาราทรอยด์ต่ำ โรคขาดไทรอยด์ ที่พบเป็นร่วมกับโรคของร่างกายทั่วไป เช่นโรคปัญญาอ่อนมองโกเลียน (mongolian idiocy) โรคกล้ามเนื้อบางชนิดโรคผิวหนังบางชนิด ต้อแก้วตาอาจเกิดแทรกซ้อนโรคตาอื่นๆ ต้อแก้วตาที่เป็นมาแต่กำเนิด มักพบในเด็กที่มารดาเป็นไข้ติดเชื้อในระยะสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น เป็นไข้หัดเยอรมัน หรือมารดาขาดอาหาร หรือมารดาเสียเลือดมากขณะคลอด เป็นต้น |
อาการ สายตามัวลงชนิดค่อยเป็นค่อยไป ที่มีสาเหตุจากอันตรายภายนอก สายตามัวลงเร็ว ไม่มีอาการเจ็บปวด | ต้อแก้วตา (ต้อกระจก) |
การรักษา ทำโดยผ่าตัดเอาแก้วตาที่ขุ่นออก แล้วใส่แว่นตา หรือเลนส์สัมผัสภายหลัง หรือใส่เลนส์ตาเทียมระหว่างการผ่าตัด มักทำผ่าตัดในระยะที่สายตามัวมาก หรือเมื่อต้อสุก การรักษาโดยให้หมอเถื่อนดันแก้วตาให้ตกลงไปอยู่ภายในลูกตา ทำให้เห็นได้ดีชั่วคราวนั้น เป็นการรักษาที่ผิด เพราะมักมีโรคติดตามมากภายหลัง เช่น ภายในลูกตาอักเสบ โรคต้อหิน เป็นต้น โรคต้อหิน โรคต้อหินเป็นภาวะที่แรงดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติจนเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่ของลูกตา เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ตาบอด แต่ป้องกันได้ ถ้าแพทย์ได้พบโรคนี้ในระยะแรก ถ้าพบในระยะหลัง แพทย์ไม่สามารถรักษาให้สายตาดีเท่าปกติได้ แต่สามารถรักษาไว้ไม่ให้ทรุดกว่าที่เป็นอยู่ | |
ต้อหิน | |
โรคต้อหิน เกิดขึ้นเพราะน้ำเลี้ยงตาไหลผ่านตรงบริเวณมุมม่านตาไม่สะดวก เพราะบริเวณนั้นถูกอุดกั้น หรือเพราะเสื่อม น้ำเลี้ยงตาไหลออกจากลูกตาไม่ได้จึงคั่งอยู่ในลูกตา ทำให้แรงดันภายในลูกตาสูงกว่าเดิมอยู่นานจะกดประสาทตาให้เป็นอันตราย และทำให้เลือดมาเลี้ยงไม่สะดวกเป็นเหตุให้สายตามัว ต้อหินอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลัง ชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด เป็นเพราะเนื้อเยื่อบริเวณมุมม่านตาเจริญเติบโตผิดจากปกติ และอุดกั้นมุม ชนิดที่เป็นตอนหลังมักเป็นในอายุเลย ๔๐ ปี หรือวัยสูงอายุ มีสองชนิด คือ ชนิดมุมปิดหรือมุมแคบ และชนิดมุมเปิด หรือมุมกว้าง ชนิดมุมปิดนั้นมีอาการปวดตามาก ตาแดง และสายตามัวลงรวดเร็ว อาจมีอาการนำ เช่น เห็นรัศมีวงกลมสีรุ้งรอบดวงไฟ เป็นต้น ชนิดมุมเปิดนั้น เนื้อเยื่อตรงมุมเสื่อม ทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก ชนิดนี้ไม่มีอาการอะไรมากในระยะแรก นอกจากอาการสายตามัวลงชนิดค่อยเป็นค่อยไป ผู้เป็นจึงมักไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ว่าเป็น หรือมีอาการอื่น เช่น มองด้านข้างเห็นไม่ชัด ก็เมื่อโรคเป็นมากแล้ว พบต้อหินชนิดนี้ในผู้ที่ไม่รู้ตัวมาก่อนร้อยละ ๔ ต้อหินชนิดมุมเปิดจึงเป็นโรคที่ควรระวัง วิธีป้องกันคือ ผู้ที่อายุเกิน ๔๐ ปี หรือผู้ที่มีสานตาสั้นอย่างมาก ควรให้แพทย์ตรวจตาปีละครั้ง จะเป็นทางเดียวที่จะตรวจพบโรคได้ทันท่วงที การรักษา ต้อหินชนิดมุมปิดรักษาด้วยการผ่าตัดช่องทางใหม่ให้น้ำเลี้ยงตาไหลผ่าน ต้อหินชนิดมุมเปิดระยะแรกรักษาด้วยยา จะทำผ่าตัด เมื่อรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือไม่สะดวก หรือในระยะหลังของโรค โรคต้อเนื้อ ต้อเนื้อเป็นก้อนเนื้อรูปสามเหลี่ยม แลบจากเยื่อหุ้มตาไปบนกระจกตาในแนวราบตรงขอบกระจกตาชิดกับสเคลอรา มักเป็นที่หัวตา อาจเป็นที่หางตา และอาจเป็นทั้งสองตา เกิดจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น เพราะมีการระคายเคืองเรื้อรังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ฝุ่นละอองไอ และแสง เป็นต้น มักพบในผู้ประกอบอาชีพประมง เดินเรือ หรือผู้ที่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นละออง ลมแรง การรักษาใช้วิธีผ่าตัดออก โรคต้อลม เป็นก้อนเนื้อสีเหลืองอ่อนหรือเทาตรงเยื่อตาใกล้กับขอบกระจกตา แต่ไม่ลามไปบนกระจกตาเหมือนต้อเนื้อ มีสาเหตุเหมือนโรคต้อเนื้อ การป้องกันไม่ให้เป็นต้อเนื้อและต้อลมอาจทำได้ โดยใส่แว่นกันแดดและลม และการปรังปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปราศจากสิ่งระคายเคืองตา โรคต้อลำไย เป็นแผลสีขาวหรือสีเทาบนกระจกตา เกิดหลังจากกระจกตาหายจากการอักเสบหรือเป็นแผล บางรายเป็นแผลเป็นทั่วกระจกตา และปูดออกมาด้านหน้า ตาบอดสี การมองเห็นสีเป็นหน้าที่ของเซลล์โคนในชั้นจอตา ทฤษฎีของการมองเห็นสีที่เชื่อกันทั่วไปว่า มีเซลล์โคนที่มีวัตถุสีรับแสง และมีกลไกส่งความรู้สึกมองเห็นสีอยู่สามชนิด คือ ชนิดรับแสงสีแดง รับแสงสีเขียว และรับแสงสีน้ำเงิน เมื่อมองเห็นแสงสว่างนั้น หมายความว่า เซลล์โคนทั้งสามชนิดถูกกระตุ้นเท่าๆ กัน ส่วนสีต่างๆ ที่มองเห็นเกิดจากการที่วัตถุสีต่างๆ ถูกกระตุ้น แสงสีแดง แสงสีเขียว และแสงสีน้ำเงิน เป็นแม่สี หรือสีปฐมภูมิ กล่าวคือ เป็นสีที่แยกออกเป็นสีอื่นไม่ได้ แสงสีอื่นๆ เกิดจากการผสมของแสงสีทั้งสามนี้ ตาบอดสีคือ การมองเห็นสีที่ผิดไปจากปกติ ที่พบมากเป็นตาบอดสีที่เป็นมาแต่กำเนิด และเป็นชนิดที่บอดจางๆ ไม่ได้บอดสนิท ชนิดนี้พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนตาบอดสีชนิดที่เป็นภายหลังนั้นพบน้อย มีสาเหตุจากโรคของเซลล์โคน โรคของประสาทตา ส่วนมากคนตาบอดสีจะไม่รู้ตัว ที่พบเสมอคือ ตาบอดสีเขียว ตาบอดสีแดง ตาบอดสีน้ำเงินมีน้อย ถ้าบอดหมดทุกสีจะมองเห็นทุกสิ่งในโลกเป็นสีเทา |
แผนภาพสำหรับทดสอบตาบอดสี | การตรวจตาบอดสีตรวจโดยให้ผู้รับการตรวจอ่านตัวเลข หรือบอกรูปร่างต่างๆ ในแผ่นตรวจที่มีสีหลายสีปนกันอยู่ การมองเห็นสีเป็นปกติ มีความจำเป็น สำหรับอาชีพบางอย่าง ได้แก่ อาชีพที่ใช้สัญญาณสี เช่นนักบิน งานต่อสายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ สถาปนิก และมัณฑนากร เป็นต้น |