เล่มที่ 10
โรคหู คอ จมูก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สิ่งแปลกปลอมในคอ หลอดอาหาร และทางเดินอาหารหายใจ

            ในการกลืนอาหารตามปกติ อาหารจะผ่านโคนลิ้นเข้าในคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร สิ่งแปลกปลอมจึงติดได้ตลอดทางเดินอาหาร ตั้งแต่โคนลิ้น ต่อมทอนซิล ฝาปิดกล่องเสียง หลอดอาหารช่วงในคอ และส่วนที่อยู่ในช่องหน้าอก ทางเดินอากาศหายใจมีช่องร่วมกับทางเดินอาหารบริเวณคอ โดยมีฝาปิดกล่องเสียง และกล่องเสียงอยู่ทางด้านหน้าของหลอดอาหาร ในการกลืนอาหารตามปกติ กล่องเสียงจะถูกยกขึ้นมาชิดกับฝาปิดกล่องเสียง ในเวลาเดียวกับการกลั้นหายใจ เป็นการป้องกันไม่ให้อาหารตกลงในกล่องเสียง และหลอดลม สิ่งแปลกปลอมในทางเดินอากาศหายใจจึงเกิดขึ้น จากการสำลักอาหารจากการพูด สะอึก ไอ จาม หรือหัวเราะ ในระหว่างที่อาหารอยู่ในปาก ฝาปิดกล่องเสียงจะเปิดพร้อมกับการหายใจเข้าอย่างแรง พาเอาสิ่งแปลกปลอมเข้ากล่องเสียง ติดในกล่องเสียงหลอดลม หรือในปอด
ตัวอย่างสิ่งแปลกปลอม ที่คีบได้จากคอผู้ป่วย
ตัวอย่างสิ่งแปลกปลอม ที่คีบได้จากคอผู้ป่วย
            เหตุการณ์ดังกล่าวพบได้ทุกอายุ ช่วงที่พบมากที่สุดคือ ระหว่างอายุ ๑-๑๐ ปี สิ่งแปลกปลอมที่พบมีทุกชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของกิน ส่วนอื่นๆ เป็นของใช้ และของเล่นต่างๆ สิ่งแปลกปลอมที่พบบ่อยที่โรงพยาบาลศิริราช คือ
ภาพเอกซเรย์แสดงให้เห็นที่เปิดกระป๋องติดในลำคอ
ภาพเอกซเรย์แสดงให้เห็นที่เปิดกระป๋องติดในลำคอ
ในคอและหลอดลม

            พบเหรียญ ๒๕ สตางค์ ๕๐ สตางค์ ๑ บาท ก้างปลา กระดูกไก่ กระดูกเป็ด กระดูกหมู ลวด นอตเหล็ก ฟันปลอม ชิ้นเนื้อ ลูกชิ้น ไม้กลัด แหวน พระห้อยคอ เมล็ดเงาะ ระกำ และพุทรา ของแหลมพวกก้างปลา และกระดูกไก่ จะติดที่โคนลิ้น และต่อมทอนซิลบ่อยที่สุด สตางค์ติดตรงปากทางเข้าหลอดอาหาร
ในทางเดินอากาศหายใจ

            ส่วนมากเป็นพวกเมล็ดพืช ได้แก่ น้อยหน่า และถั่วลิสง ซึ่งพบบ่อยที่สุด ส่วนอื่นๆ เป็นเมล็ดมะขาม ละมุด แตงโม พวกที่ไม่ใช่เมล็ดพืช ได้แก่ ก้างปลา กระดูกไก่ เกล็ดหรือครีบปลา ของเล่นพลาสติก เศษอาหาร ชิ้นเนื้อ เข็มหมุด และเข็มกลัด ของแหลมติดบ่อยที่กล่องเสียง ของอื่นๆ ติดในหลอดลมข้างขวามากกว่าข้างซ้าย

            สิ่งแปลกปลอมที่ติดในทางเดินอาหารมีมากกว่าในทางเดินอากาศหายใจ ในระยะเวลา ๖ ปี ที่โรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๘) มีติดในทางเดินอาหาร ๔๔๑ ราย ในระยะเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘) มีติดในทางเดินอากาศหายใจเพียง ๑๔๐ ราย

สาเหตุ

            ๑. ความเผอเรอ เป็นต้นเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น ปรุงอาหารมีก้างปลา กระดูกไก่ กระดูกเป็ด กินอาหาร โดยไม่ระวังว่า ยังมีก้างหรือกระดูกติดอยู่ กลืนชิ้นโตเกินไป พูด คุย หรือหัวเราะ ระหว่างกินอาหาร ฟันปลอมหลุด ใช้ปากคาบเข็มหมุด เข็มเย็บผ้า หรือของใช้อื่นๆ

            ๒. อายุของเด็ก สิ่งแปลกปลอมติดมากที่สุดในเด็กช่วงอายุ ๑-๑๐ ปี เป็นระยะที่เด็กชอบหยิบ ของทุกชนิดที่ไม่ใช่อาหารเข้าปากจึงติดคอได้ เช่น เมล็ดน้อยหน่า ละมุด ถั่วลิสง เข็มหมุดห่อของขวัญ เข็มเย็บผ้า สตางค์ เศษของเล่นที่หัก เด็กหัวเราะระหว่างป้อนอาหาร เด็กยังไม่มีฟันกรามสำหรับเคี้ยวอาหารได้ละเอียด โยนของเข้าปากตามแบบผู้ใหญ่ เช่น ลูกอม อาจตกเข้าหลอดลม หายใจไม่ออกและตายในเวลาไม่กี่นาที ไม่มีทางช่วยทัน

            ๓. อื่นๆ เช่น อุบัติเหตุระหว่างทำฟัน ผ่าตัดในช่องปาก ดมยาสลบ อัมพาตของหลอดอาหาร ภาวะที่รีเฟล็กซ์การไอหมดไป การพยายามฆ่าตัวตาย โดยกลืนสิ่งของ และผู้ป่วยโรคจิต โรคประสาทกลืนของต่างๆ ได้มากมาย

อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดอยู่ดังนี้

ในทางเดินอาหาร

            มีอาการเจ็บคอ โดยเฉพาะเวลาพูดหรือกลืนอาหารจะเจ็บมาก เจ็บแปลบๆ ในคอ ถ้าเป็นของชิ้นโตจะกลืนอาหารลำบาก หรือกลืนไม่ลงเลย น้ำลายออกมาก อาเจียนหลังกลืนอาหาร และเจ็บบริเวณหน้าอก

ในกล่องเสียง

            ถ้าชิ้นโตจะอุดแน่นหายใจไม่ออก หอบ ตัวเขียว ทุรนทุราย ภายในเวลาไม่กี่นาที ถ้าชิ้นเล็กจะมีอาการเจ็บคอ ไอ เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง

ในหลอดลม

            อาการเริ่มแรกจะไออย่างรุนแรงเสียงดังกังวาน หายใจเสียงดัง หายใจลำบากคล้ายหอบหืด ไอมีเสมหะปนเลือดหรือหนอง รายที่ติดนานๆ มีอาการของโรคแทรกซ้อน คือ อาการของโรคปอดบวม ปอดแฟบ ถุงลมโป่งพอง อากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ฝีในปอด หนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ฝีหรือหนองในเมดิแอสทินัม (mediastinum) สรุปคือ มีอาการเหมือนกับโรคของระบบทางเดินอากาศหายใจได้ทุกโรค

การวินิจฉัยจากสิ่งต่อไปนี้

            ๑. มักจะได้ประวัติกลืนอาหารแล้วติดคอหรือสำลักอาหาร
            ๒. ตรวจร่างกาย ถ้าติดที่โคนลิ้น ต่อมทอนซิล และในคอ จะเห็นได้ง่าย
            ๓. เอกซเรย์ ถ้าเป็นของทึบแสงจะเห็นได้ง่าย เช่น สตางค์ เหล็ก ก้างปลา หรือกระดูกชิ้นโต
            ๔. ตรวจส่องดูด้วยกล่องส่องกล่องเสียง หลอดลม หรือหลอดอาหาร

            สิ่งแปลกปลอมติดในทางเดินอาหาร หรือทางเดินอากาศหายใจมีมานานแล้ว สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือที่จะคีบออก การรักษาเป็นแต่เพียงเฝ้าดูผู้ป่วย รอจนกว่าจะหลุดออกมาเอง หรือจะละลายหายไปเอง บางคนตายก่อนมาถึงโรงพยาบาล หรือบางคนตายจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ เนื่องจากสิ่งของติดเน่าอยู่ในที่ต่างๆ โรงพยาบาลศิริราชเปิดรักษาผู้ป่วยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ (โรงศิริราชพยาบาล) นับแต่นั้นมาเป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปี คือ ในพ.ศ. ๒๔๙๐ แพทย์ไทยสามารถคีบชิ้นมันแกวออกจากหลอดอาหารในผู้ป่วยอายุ ๖๐ ปี ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับแต่นั้นมา ได้มีการคีบสิ่งแปลกปลอมออกมากขึ้น แต่ละปีจะคีบออกประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ ชิ้น
            สิ่งแปลกปลอมติดตามที่ต่างๆ สามารถคีบออกได้ โดยใช้กล้องส่องกล่องเสียง หลอดลม หรือหลอดอาหาร โดยใส่กล้องผ่านเข้าทางปากแล้วใช้คีมคีบที่เหมาะสมดึงออกได้โดยตรง มีน้อยกว่าร้อยละ ๑ ที่จะต้องใช้การผ่าตัดเอาออก ในผู้ใหญ่ ส่วนมากจะคีบออกได้ โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ แต่สำหรับในเด็กนั้นต้องดมยาสลบ สิ่งแปลกปลอมที่หลุดจากหลอดอาหารเข้าในกระเพาะอาหารแล้ว จะขับถ่ายออกมาเอง โดยไม่ต้องคีบออก หรือผ่าตัดเอาออกทางหน้าท้องการคีบสิ่งแปลกปลอมออกจากคอ
การคีบสิ่งแปลกปลอม
ออกจากคอ
การป้องกัน

            ๑. เลี้ยงดูเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุ ๑-๑๐ ปีด้วยความระมัดระวัง
            ๒. สั่งสอนอบรมเด็กอย่าให้หยิบของที่ไม่ใช่อาหารเข้าปาก
            ๓. ไม่ทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กดู เช่น โยนของเข้าปาก ใช้ปากอมสตางค์ เข็มหมุด หรือเข็มเย็บผ้า
            ๔. ไม่หัวเราะระหว่างกินอาหาร
            ๕. กินอาหารด้วยความระมัดระวังเรื่องเศษก้างปลา กระดูก เปลือกไข่ เป็นต้น
            ๖. กินผลไม้ต้องระวังเมล็ด ไม่เผลอกลืนเข้าไป ไม่ทิ้งเมล็ดไว้ให้เด็กหยิบได้
            ๗. ระมัดระวังในการปรุงอาหาร ไม่ให้มีก้าง กระดูก เศษของแข็งติดอยู่
            ๘. ระวังและคอยดูแลอาหารเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟัน ไม่สามารถเคี้ยวให้ละเอียดได้