เสียงแหบ เสียงพูดนับว่า มีความสำคัญมากสำหรับคนเรา การติดต่อสื่อความหมาย โดยการพูดเป็นสิ่งที่แยกมนุษย์จากสัตว์ชนิดอื่นในโลก ในคนเรานั้นไม่มีอวัยวะที่ทำหน้าที่ออกเสียงพูดโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว การพูดต้องอาศัยอวัยวะหลายอย่างประกอบกัน คือ ปอด หลอดลม สายเสียง กล่องเสียง ช่องคอ ช่องจมูก ลิ้นไก่ เพดาน ลิ้น ฟัน และริมฝีปาก อวัยวะเหล่านี้มีหน้าที่หลักคือ การหายใจ เพื่อการมีชีวิตอยู่รอด การออกเสียงพูดเป็นหน้าที่รอง หรือเป็นผลพลอยได้เท่านั้น ในการพูดตามปกติต้องอาศัยลมหายใจจากปอด ผ่านมาตามหลอดลม และกล่องเสียง ทำให้สายเสียงสั่นเกิดเป็นเสียง ขอให้สังเกตว่า สายเสียงสั่น เพราะลมผ่านสายเสียง สายเสียงไม่ได้สั่นเองโดยคำสั่งจากสมอง เสียงพูดที่มีลักษณะต่างๆ กัน จะต้องอาศัยอวัยวะส่วนอื่นดังกล่าว มาช่วยเปลี่ยนแปลงเสียงด้วย คนที่มีสายเสียง หรือกล่องเสียงพิการ เช่น ถูกตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด เนื่องจากโรคมะเร็งกล่องเสียงก็ยังสามารถฝึกให้พูดได้ โดยใช้อวัยวะส่วนอื่นออกเสียงแทนสายเสียง เสียงอาจจะไม่ไพเราะเท่าเสียงที่เกิดจากสายเสียง แต่ก็พอที่จะพูดติดต่อกันได้ | |
ลักษณะสายเสียงปกติ | เสียงแหบเกิดจากความพิการของกล่องเสียงหรือสายเสียง สาเหตุที่พบบ่อยๆ มีดังนี้ ๑. ความพิการแต่กำเนิด ได้แก่ ความพิการของอวัยวะต่อไปนี้ ก. ฝาปิดกล่องเสียงอ่อนตัว หรืออ่อนนุ่มมากเกินไป ทำให้หายใจเข้ามีเสียงสั่นเครือ คอบุ๋ม หรือหน้าอกบุ๋ม อาการจะเป็นมาก เมื่อนอนหงาย และอาการน้อยลง เมื่อนอนคว่ำ มีอาการตั้งแต่แรกเกิด หรืออายุหลายเดือน โรคนี้หายเองเมื่อเด็กอายุประมาณ ๒ ปี |
ข. หลอดลมคอที่อยู่ต่ำกว่าสายเสียงตีบแคบ เด็กมีอาการตั้งแต่เกิด เสียงค่อย หายใจลำบาก และมีเสียงดังเวลาหายใจออก ถ้ามีการอักเสบของหลอดลมคอ อาจอุดกั้น ทำให้หายใจไม่ออก ต้องเจาะคอใส่ท่อหายใจชั่วคราว โรคนี้หายเอง เมื่อเด็กโตขึ้น และขนาดหลอดลมโตขึ้นตามอายุ ค. สายเสียงมีแผ่นพังผืดระหว่างสายเสียงทั้ง ๒ ข้าง เด็กมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เสียงแหบ ร้องเสียงค่อย หายใจลำบาก และหายใจเข้ามีเสียงดัง โรคนี้ไม่หายเอง ต้องรักษาโดยการผ่าตัด ง. สายเสียงเป็นอัมพาตข้างเดียว หรือทั้ง ๒ ข้างก็ได้ เด็กมีเสียงแหบตั้งแต่แรกเกิด หายใจลำบาก และหายใจเข้ามีเสียงดัง สายเสียงที่เป็นอัมพาตข้างเดียว เสียงหายแหบใน ๒-๓ เดือน ถ้าเป็นทั้ง ๒ ข้าง อาจจะหายใจติดขัด ต้องเจาะคอใส่ท่อหายใจ รักษาโดยการผ่าตัดกล่องเสียงให้สายเสียงแยกออกจากกัน ๒. กล่องเสียงมีสิ่งแปลกปลอม ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กติดในกล่องเสียง จะทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ และสียงแหบ ถ้ากล่องเสียงอักเสบร่วมด้วย เสียงจะแหบมากขึ้น หรือหายใจไม่ออกก็ได้ (ดูเรื่องสิ่งแปลกปลอมในทางเดินอากาศหายใจ) ๓. กล่องเสียงอักเสบ มี ๒ ชนิดคือ ก. กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน เป็นการอักเสบรุนแรงอย่างเฉียบพลันของเยื่อบุในกล่องเสียง ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด และคออักเสบ เชื้อโรคลุกลามเข้ากล่องเสียง การตะโกนมากๆ หรือใช้เสียงมากเกินไป ทำให้มีการอักเสบตามมาได้ การอักเสบจากเชื้อบัคเตรี ทำให้กล่องเสียงบวมแดงมาก และเป็นหนอง เสียงแหบมาก บางทีไม่มีเสียง เจ็บคอมาก ไอมีเสมหะ และหายใจลำบาก หากตรวจดูกล่องเสียงจะพบว่า ภายในบวมแดง และมีหนองคลุมอยู่ การรักษา คือ หยุดใช้เสียงชั่วคราว เด็กเล็กให้นอนในกระโจมออกซิเจนที่มีความชื้นสูง ผู้ใหญ่ให้นอนพักผ่อนในห้องที่อบอุ่นมีความชื้นหรือพ่นด้วยไอน้ำ หยุดสูบบุหรี่ ให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ไอ หรือยาอมระงับอาการคันคอ รายที่หายใจลำบากมาก และมีอาการของกล่องเสียงอุดกั้น จะต้องเจาะคอไว้ชั่วคราวด้วย ข. กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง เกิดตามหลังการอักเสบเฉียบพลันที่เป็นบ่อยๆ การอักเสบเรื้อรังของไซนัส หรือหลอดลม หรือเกิดกับผู้ที่สูบบุหรี่มาก ผู้ที่ต้องหายใจเอาก๊าซระคายเคืองเข้าไป ผู้ที่ต้องใช้เสียงมากเป็นเวลานาน เช่น ครู พระภิกษุ แม่ค้า และนักร้อง ผู้ป่วยที่มีเสียงแหบตลอดเวลา เมื่อได้พักเสียงแล้ว จะมีเสียงดีขึ้น เช่น ตอนเช้าเสียงดีพูดนานๆ ถึงตอนบ่าย เสียงแหบมาก นอกจากนี้ยังรู้สึกรำคาญในคอเหมือนมีอะไรติดคอต้องขากบ่อยๆ รู้สึกเมื่อยที่คอ และเหนื่อยง่ายเวลาพูด หากตรวจดูกล่องเสียงจะพบว่า สายเสียงบวมหนาทั่วๆ ไป สีไม่แดง สายเสียงมีขนาดโตขึ้นมาก บางรายเห็นเป็นก้อนเนื้อยื่นออกมาคล้ายเนื้องอก เมื่อตรวจสายเสียง โดยเครื่องตรวจการสั่นของสายเสียงจะเห็นชัดเจนว่า เยื่อบุสายเสียงหนามาก สายเสียงสั่นผิดปกติ ไม่เป็นไปตามแบบแผน การรักษาคือ พักการใช้เสียง งดสูบบุหรี่ รักษาการอักเสบเรื้อรังของจมูก ไซนัส และหลอดลม และให้ยาต่างๆ เช่น ยาลดการบวมของสายเสียง ได้แก่ แอนติฮิสทามีน เอนไซม์ และคอร์ทิโคสตีรอยด์ ชนิดพ่นเข้ากล่องเสียง ในรายที่มีก้อนเนื้อยื่นออกมามากต้องใช้วิธีการผ่าตัด ค. กล่องเสียงอักเสบจากโรคคอตีบ เป็นการอักเสบที่ลุกลามจากโรคคอตีบที่ต่อมทอนซิล หรือคอกล่องเสียงอักเสบบวมแดงมาก เสียงแหลม มีแผ่นเยื่อคลุมในกล่องเสียงอุดการหายใจ ไอ และหายใจเข้าเสียงดัง ต่อมามีอาการหายใจลำบาก หอบ คอและหน้าอกบุ๋ม ตัวเขียว แสดงว่า กล่องเสียงอุดกั้น ซึ่งจะเกิดในเวลารวดเร็ว ต้องรักษาโดยเจาะคอใส่ท่อหายใจอย่างรีบด่วน มีเด็กเป็นจำนวนมากที่ตายก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพราะเจาะคอไม่ทัน การรักษาโรคคอตีบโดยการให้ยา เหมือนการรักษาโรคคอตีบโดยทั่วไป ง. กล่องเสียงอักเสบจากเชื้อวัณโรค เป็นการอักเสบจากเชื้อวัณโรคโดยตรง หรือที่มาจากวัณโรคปอด ผู้ป่วยมีอาการเสียบแหบ เนื่องจากมีแผลวัณโรคในกล่องเสียง ซึ่งจะอยู่ที่ส่วนใดของกล่องเสียงก็ได้ ในรายที่เป็นมากจะเห็นเป็นแผลทั่วไป ทั้งกล่องเสียง ลักษณะแผลแยกจากมะเร็งที่กล่องเสียงไม่ได้ ถ้าตรวจดูด้วยวิธีธรรมดา ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ทางพยาธิวิทยา เสียงแหบอาจเกิดจากสายเสียงเป็นอัมพาตก็ได้ ถ้าเอกซเรย์ปอดจะพบวัณโรคปอดด้วยเป็นส่วนมาก ผู้ป่วยวัณโรคที่กล่องเสียงหายได้รวดเร็วมาก ภายในเวลา ๑-๒ เดือน หลังการรักษา แผลเริ่มเคลื่อนไหวปกติ หายเสียงแหบ ถ้าแม้แผลจะหาย และสียงดีแล้ว ก็จะต้องรักษาวัณโรคต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาของการรักษาวัณโรคปอด ๔. กล่องเสียงบาดเจ็บ เนื่องจากกล่องเสียงอยู่ที่ส่วนหน้าของคอจึงได้รับอันตราย หรือบาดเจ็บได้ง่าย เช่น ถูกแทง ถูกยิง เป็นแผลที่กล่องเสียง กล่องเสียงฉีกขาด และสายเสียงได้รับอันตราย ทำให้ผู้ป่วยเสียบแหบ หรืออาจจะหายใจไม่ออก บาดเจ็บอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นอันตรายมาก คือ การกระแทนที่กล่องเสียง โดยไม่มีบาดแผล เช่น ถูกตี ถูกชกที่คอ คอกระแทกในอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตรวจดูภายนอกอาจไม่พบอะไร แต่ผู้ป่วยเสียงแหบ และเจ็บที่คอ จับกล่องเสียงจะเจ็บ คลำผิวหนังอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบแบบมีลมคั่งใต้ผิวหนัง ตรวจใจกล่องเสียงจะพบว่า สายเสียงบวม มีเลือดคั่ง หรือกล่องเสียงแตกก็ได้ ผู้ป่วยหายใจขัด หรือหายใจไม่ออก ซึ่งต้องรีบเจาะคอ รายที่กล่องเสียงแตกหรือฉีกขาดภายใน ควรได้รับการรักษา โดยการผ่าตัดโดยเร็ว เพื่อป้องกันกล่องเสียงตีบตัน เพราะถ้าทิ้งไว้นานจะแก้ไขได้ยากมาก ๕. สายเสียงเป็นอัมพาต เนื่องจากเสียงประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อสายเสียงได้รับอันตรายจากการผ่าตัดบริเวณคอ ต่อมไทรอยด์ ผ่าตัดโรคหัวใจหรือปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งขั้นปอด และโรคหัวใจบางชนิด อาจกดเส้นประสาท ทำให้สายเสียงเป็นอัมพาตข้างเดียว หรือทั้ง ๒ ข้างก็ได้ หากตรวจกล่องเสียงสายเสียงเป็นอัมพาตข้างเดียว ทำให้เสียบแหบในระยะแรก แต่ไม่มีอาการหายใจลำบาก ในระยะต่อมาอาจหายเสียงแหบได้ โดยที่สายเสียงข้างที่ดีสามารถเข้าชิดข้างที่เสียได้ ในรายที่เสียงแหบมากเกิน ๖ เดือน ช่วยให้เสียงดีขึ้น โดยการฉีดสารเทฟลอน (teflon paste) เข้าไปหนุนสายเสียงข้างที่เสียให้เข้ามาอยู่ตรงกลาง ถ้าสายเสียงข้างที่ดีเข้าชิดได้ เสียงพูดจะดีขึ้นมาก พูดไม่เหนื่อยมาก สำหรับสายเสียงที่เป็นอัมพาตทั้ง ๒ ข้าง อาจมีการหายใจลำบากทันที ต้องเจาะคออย่างรีบด่วน ส่วนมากต้องใส่ท่อหายใจไว้ตลอดชีวิต มีการผ่าตัดกล่องเสียงบางวิธี ที่สามารถดึงให้สายเสียงแยกออกจากกัน และสามารถเอาท่อหายใจออกได้ ๖. สายเสียงเกิดตุ่ม ตุ่มที่สายเสียงมี ๒ อย่าง คือ ตุ่มแข็ง (nodule) และติ่งเนื้อเมือก (polyp) ตุ่มแข็ง เกิดที่ขอบสายเสียง พบบ่อยที่บริเวณส่วนหน้า ๑/๓ ของสายเสียง มักจะเป็นทั้ง ๒ ข้าง พบในผู้ที่ใช้เสียงมาก เช่น เด็กที่ชอบตะโกนมากๆ พูดเสียงดังมากนานๆ และผู้มีอาชีพใช้เสียง เช่น ครู พระภิกษุ นักร้อง แม่ค้า เป็นต้น ตุ่มที่มีขนาดเล็กไม่ทำให้เสียงแหบมาก ตอนเช้าเสียงดี เมื่อพูดไปนานๆ เสียงจะแหบมากขึ้น เมื่อยคอ รู้สึกรำคาญในคอ เหมือนมีเสมหะติดคอ เหนื่อยง่าย ตุ่มที่มีขนาดโตมาก ทำให้เสียงแหบตลอดเวลา |
ติ่งเนื้อเมือก เป็นก้อนเนื้อที่งอกออกจากส่วนหนึ่งส่วนใดของสายเสียง อาจเป็นก้อนเดียว หรือหลายก้อน ขั้วอาจสั้น หรือยาวได้ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนเกิดจากอะไร เข้าใจกันว่า เกิดจากกล่องเสียงอักเสบบ่อยๆ ถูกระคายเคืองด้วยแก๊สต่างๆ และโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยมีเสียบแหบมาก ไม่เจ็บปวด บางรายหายใจลำบาก เพราะก้อนโตมาก หรือมีหลายก้อน ตรวจดูกล่องเสียงจะเห็นติ่งพองใสคล้ายถุงน้ำได้ชัดเจน รักษาโดยการผ่าตัดเอาออก ซึ่งส่วนมากจะไม่งอกออกมาอีกในภายหลัง | ติ่งเนื้อเมือกบริเวณสายเสียง ทำให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบมาก | ||
๗. กล่องเสียงเป็นเนื้องอก มี ๒ ชนิด คือ ก. เนื้องอกชนิดเป็นตุ่ม เป็นเนื้องอกของกล่องเสียงที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก พบตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงเด็กโตในช่วงอายุ ๑-๑๐ ปี เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวจะพบน้อยลง พบน้อยในผู้ใหญ่ สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อกันว่า ไวรัสเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง อาการเสียงแหบจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับขนาดของเนื้องอก หายใจเสียงดังและขัด รายที่เป็นมากหรือมีการอักเสบร่วมด้วย จะหายใจลำบาก หอบ ตัวเขียว และอาจมีอาการไอ เจ็บหน้าอกในรายที่อาการปอดอักเสบร่วมด้วย การตรวจกล่องเสียงโดยการดมยาสลบ จะเห็นเนื้องอกเป็นตุ่มคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำปลี พบที่ส่วนใดของกล่องเสียงก็ได้ บางรายลุกลามเข้าในหลอดลมคอ หรือขึ้นมาที่ฝาปิดกล่องเสียง การรักษา กระทำโดยการเจาะคอใส่ท่อหายใจ ในรายที่เป็นมาก และกล่องเสียงอุดกั้น อาจจะต้องเจาะหลอดลมคอ ใส่ท่อหายใจไว้ เป็นเวลานานหลายปี จนเนื้องอกหมดไป จึงจะเอาท่อออกได้ รายที่เป็นน้อย อาจไม่ต้องเจาะคอ แล้วใช้กล้องส่องกล้องเสียง หรือกล้องจุลทรรศน์ส่องดู ซึ่งจะช่วยให้เห็นเนื้องอกชัดเจนมากขึ้น เนื้องอกประเภทนี้งอกได้รอดเร็วมาก อาจต้องตัดออกทุกๆ ๗ วัน ต่อไปเมื่องอกช้าลงจะนัดมาดมยาสลบ และตัดออกหลายสิบครั้งในระยะเวลาหลายปี ซึ่งเด็กจะต้องเจาะคอไว้ตลอดเวลา หลังจากดูครั้งสุดท้ายแล้ว ๑ ปี ไม่มีเนื้องอกอีกจึงจะถอดท่อหายใจออกได้ ในต่างประเทศมีวิธีการตัดแบบอื่นๆ อีก เช่น ตัดโดยใช้ความเย็น แสงเลเซอร์ จี้ด้วยสารเคมี หรือจี้ด้วยไฟฟ้า ได้มีการนำเนื้องอกมาทำวัคซีนใช้ฉีดรักษาด้วย ไม่ควรรักษาโดยการฉายแสงรังสี
ในระหว่างการตัดบ่อยๆ อาจทำให้กล่องเสียงตีบตัน เนื้องอกลุกลามเข้าหลอดลมทำให้ตัดออก ยากหรือตัดออกไม่ได้ การอุดกั้น ทำให้ปอดแฟบ ปอด อักเสบ ต้องผ่าตัดปอดทั้งบางส่วน เนื้องอกที่ลงไปอุด หลอดลมทั้ง ๒ ข้าง ไม่มีทางช่วยได้ ทำให้หายใจ ไม่ออก และตายทุกราย ข. กล่องเสียงเป็นมะเร็ง พบได้บ่อยในคนอายุประมาณ ๕๐-๖๐ ปี และพบมากในคนสูบบุหรี่นาน ๑๐-๒๐ ปี ผู้ไม่สูบบุหรี่พบได้น้อย เพศชายพบมากกว่าเพศหญิงประมาณ ๑๐ ต่อ ๑ และพบได้ทุกเชื้อชาติ มีอาการเสียงแหบเป็นอาการที่สำคัญที่สุด ผู้ที่เสียงแหบนานเกิน ๒-๓ สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจกล่องเสียง เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอน นอกจากนี้มีอาการเจ็บคอ รู้สึกมีก้อนในคอ กลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก หอบ ไอ ขากมีเสมหะ หรือเสมหะปนเลือด มีก้อนโตข้างคอ น้ำหลักลด ผอมลงและซีด การตรวจกล่องเสียงจะเห็นลักษณะมะเร็งได้ชัดเจน เป็นก้อนเนื้องอกขรุขระเป็นแผล เนื้อยุ่ย เลือดออกง่าย การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตัดเนื้อในกล่องเสียงไปตรวจมะเร็งทางพยาธิวิทยา |