โรคของหูชั้นกลาง แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๓ ประเภท คือ ๑. หูชั้นกลางอักเสบแบบเป็นหนอง เป็นการอักเสบจากการติดเชื้อของเยื่อเมือกในโพรงหูชั้นกลาง ทำให้เป็นหนองในหูชั้นกลาง แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ ๑) หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เป็นการอักเสบปัจจุบัน หรืออย่างเฉียบพลันจากเชื้อบัคเตรี พบบ่อยมากในเด็ก พบมากที่สุดในเด็กอายุประมาณ ๖-๘ ปี พบน้อยในผู้ใหญ่ มักจะเป็นข้างเดียว การอักเสบนี้เกิดตามหลัง การอักเสบในคอหรือจมูก อันเนื่องมาจากต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอะดีนอยด์ (adenoid) อักเสบ ไข้หวัด จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ หัด ไอกรน เชื้อโรคจากคอหรือจมูก ลุกลามไปตามท่อยูสเตเชียนเข้าหูชั้นกลางได้ง่าย เพราะท่อนี้ในเด็กมีขนาดโต สั้น และอยู่ในแนวราบ | |
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อบัคเตรี | อาการสำคัญที่สุดคือ ปวดหู ผู้ป่วยจะปวดลึกๆ และปวดมากจนร้องหรือดิ้น หรือใช้มือป้องหูถูกต้องใบหูจะไม่เจ็บปวด เด็กที่เป็นหวัดและเจ็บคอ แล้วต่อมา มีอาการปวดหูแสดงว่า หูอักเสบ หากมีไข้หูตึง อาจมีเสียงดังตุ๊บๆ ตามหัวใจเต้น ถ้าตรวจหูจะพบว่า ช่องหูชั้นนอกปกติ แก้วหูบวมแดงนูนออกมา ลักษณะทึบแบบมีหนองข้างใน ในรายที่มีหนองไหลจะพบหนองในช่องหู และพบแก้วหูทะลุ มีหนองไหลจากหูชั้นกลาง ถ้าบริเวณหลังหูบวม และกดเจ็บ แสดงว่า โพรงอากาศมาสทอยด์อักเสบ หากเอกซเรย์จะพบว่า โพรงอากาศมาสทอยด์ทึบแบบมีหนองข้างใน |
๒) หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง คือ โรคที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า โรคหูน้ำหนวก เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุด ทำให้หูพิการได้มาก และเกิดอาการแทรกซ้อนทางสมองถึงแก่ความตายได้ โรคนี้เกิดตามหลังหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่เพียงพอ ส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังคือ แก้วหูทะลุ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า แก้วหูมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าหูชั้นกลาง ในคนแก้วหูทะลุ เชื้อโรคจากหูชั้นนอกผ่านเข้าหูชั้นกลางได้ง่าย เช่น น้ำเข้าหูก็จะเกิดหนองไหล การเป็นหวัดและเจ็บคอ เชื้อจากคอหรือจมูกเข้าหูชั้นกลาง ทำให้มีหนองไหลจากหู การตรวจพบแก้วหูทะลุในผู้ใหญ่มักเป็นแก้วหูทะลุที่เป็นมาตั้งแต่เด็กเกือบทั้งหมด ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ ถ้าแก้วหูทะลุจากหูอักเสบ หรือจากอุบัติเหตุส่วนมากจะหายได้เอง |
แก้วหูทะลุไม่ทำให้หูตึงมาก ถ้าไม่มีอาการหนองไหลจะไม่รู้เลยว่า แก้วหูทะลุ มักจะลงความเห็นว่า แก้วหูทะลุ เนื่องจากการแคะหู หรือน้ำเข้าหูนั้นไม่เป็นความจริงทุกราย เพราะบางรายแก้วหูทะลุอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่เด็ก โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังจึงเป็นโรคหู ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็ก และเกิดจากเชื้อบัคเตรีเกือบทุกราย ที่เกิดจากเชื้อราพบได้น้อย | ลักษณะแก้วหูปกติ |
อาการที่พบมากที่สุดคือ หนองไหลออกจากช่องหูมาก ข้น และเหนียว บางครั้งมีกลิ่นเหม็น ไม่ปวดหู และมีอาการหูตึงระดับต่างๆ กัน ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก หรือหูหนวก อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงผู้ป่วย ส่วนมากจึงไม่มาตรวจรักษานับว่า เป็นอันตรายมาก เพราะการปล่อยให้มีหนองในหูชั้นกลางนานๆ อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงแก่ความตายได้ |
ลักษณะแก้วหูทะลุ | นอกจากอาการหนองไหล ยังมีแก้วหูทะลุ ซึ่งพบได้ทุกรายโดยมีขนาดรูทะลุต่างๆ กัน และพบตรงส่วนไหนของแก้วหูก็ได้ เยื่อบุในหูชั้นกลางหนามาก อาจะมีลักษณะเป็นก้อนยื่นออกมาในหูชั้นนอก นอกจากนี้ อาจจะพบก้อนผิวหนัง ที่งอกเข้าไปอัดแน่นในหูชั้นกลาง ซึ่งเรียกว่า คอเลสตีอะโทมา (cholesteatoma) การพบก้อนประเภทนี้นับว่า เป็นหูน้ำหนวกที่มีอันตรายมาก เพราะนอกจากจะรักษาหนองไม่หายแล้ว ยังงอกเข้าไปในทุกส่วนของหูชั้นกลาง ทำลายกระดูกนำเสียงลุกลามเข้าโพรงอากาศมาสทอยด์หลังหู ทำลายกระดูกที่กั้นระหว่างหูกับสมอง และฝีในสมอง ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงตายได้ คอเลสตีอะโทมาอาจทำลายกระดูกหลังหู ทำให้เป็นฝีหรือเป็นรูหลังหู เส้นประสาทสมองที่ ๗ ซึ่งผ่านบริเวณหู อาจจะถูกกดหรือทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตเป็นโรคปากเบี้ยว และถ้ามีการทำลายหูชั้นใน จะทำให้หูหนวก และเวียนศีรษะ |
โรคหูน้ำหนวกแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ก. โรคหูน้ำหนวกชนิดไม่เป็นอันตราย เกิดจากแก้วหูทะลุอย่างเดียว มีหนองไหลเป็นๆ หายๆ หูตึงไม่มาก การรักษาทางยา จะช่วยให้หูแห้งอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ โรคนี้รักษาโดยการหยอดยา เมื่อมีหนองไหล ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู ไม่แคะหู และล้างหู ผู้ป่วยที่ระมัดระวังดีอาจไม่ต้องผ่าตัดปิดรูทะลุ และไม่เกิดอันตรายตลอดชีวิต | |
อาการปากเบี้ยวจากโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตราย | ข. โรคหูน้ำหนวกชนิดเป็นอันตราย เกิดจากแก้วหูทะลุ มีคอเลสตีทะโทมา และมีการอักเสบ เรื้อรังในโพรงอากาศมาทอยด์ มีน้ำหนวกไหลไม่หยุดไหลทุกวัน และมีกลิ่นเหม็นมาก ฉีดยา กินยา หรือหยอดยาแล้วหนองก็ไม่หยุดไหล หูตึงมากน้อยแตกต่างกัน ส่วนมากจะตึงมาก หรือหูหนวก มีอาการเวียนศีรษะ เป็นฝีหรือรูทะลุหลังหู และปากเบี้ยว หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามเข้าสมอง เป็นอันตรายถึงตายได้ ควรรักษาโดยการผ่าตัดทุกราย |
๒. หูชั้นกลางอักเสบแบบไม่เป็นหนอง หูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใส (ดูหัวข้อโรคจากภูมิแพ้) ๓. หูตึงจากกระดูกงอกที่กระดูกโกลน เกิดเนื่องจากมีกระดอกงอกที่บริเวณช่องรูปรี แล้วยึดฐานของกระดูกโกลนให้ติดแน่น และสั่นสะเทือนได้ยาก เสียงจึงผ่านเข้าหูชั้นในได้น้อย ทำให้หูตึงแบบการนำเสียงเสีย ยังไม่ทราบสาเหตุของโรค พบในหญิงมากกว่าชาย โดยเริ่มมีอาการหูตึงตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว จากการตรวจรักษาผู้ป่วยหูตึงอายุ ๒๐-๕๐ ปี พบว่า อาการหูตึงจะเป็นทีละน้อยๆ ทั้ง ๒ ข้าง โดยจะตึงมากข้างใดข้างหนึ่ง บางรายมีอาการลมออกหู หรือเวียนศีรษะ เมื่อตรวจหู จะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่เมื่อตรวจการได้ยินจะพบว่า เป็นหูตึงชนิดแบบนำเสียงเสีย ถ้าตรวจวัดการทำงานในช่องหูชั้นกลางจะพบว่า กระดูกนำเสียงถูกยึดแน่น และรีเฟล็กซ์ของกระดูกโกลนให้ผลลบ อาการหูตึงจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำโดยตัดกระดูกโกลนทิ้ง แล้วใส่ของเทียม เช่น ลวดท่อเหล็ก ท่อพลาสติก ให้ทำหน้าที่แทนกระดูกโกลน ผู้ป่วยจะหายหูตึง และได้ยินเป็นปกติได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการรักษาทางยา โดยไม่ยอมผ่าตัดจะไม่หายเป็นปกติ แต่ถ้าใช้เครื่องช่วยฟังจะช่วยได้มาก |