เล่มที่ 10
โรคหู คอ จมูก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิธีวัดการได้ยิน

            โดยทั่วไป หูตึงแบบการนำเสียงเสียอาจจะรักษาได้ทางยาหรือการผ่าตัด หูตึงแบบหูชั้นใน หรือประสาทหูเสียรักษายาก หรือรักษาไม่ได้ ผู้ที่หูตึงจึงจำเป็นต้องแยกประเภทว่า เป็นหูตึงประเภทไหน วิธีวัดการได้ยิน เพื่อให้ทราบว่า หูตึงมากหรือน้อย หรือหูตึงประเภทไหน ต้องอาศัยวิธีการวัดหลายอย่าง ดังนี้

๑. การใช้ส้อมเสียง (tuning fork)

            ที่ใช้บ่อยคือ ส้อม เสียงความถี่ ๕๑๒ และ ๑,๐๒๔ เฮิรตช์ (Hertz,รอบต่อวินาที) เป็นการวัดได้คร่าวๆ ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้

๒. การวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน (audiometer)

            เป็นการตรวจการได้ยินที่ใช้มาที่สุด เพราะสามารถบอกได้ทั้งประเภทหูตึง และปริมาณหูตึง เครื่องมีหลายชนิด และหลายแบบ เพื่อใช้วัดการได้ยินในสภาพ และในอายุต่างๆ กัน แบบที่ได้ผลแน่นอนที่สุด คือ ใส่หูฟัง ครอบหูทั้งสองข้าง ผู้ป่วยยกมือ หรือกดปุ่ม เมื่อได้ยินเสียง การตรวจวิธีนี้จะได้ผลแน่นอน และเชื่อถือได ้เมื่อเด็กอายุ ๕-๖ ปีขึ้นไป อายุที่ต่ำกว่านี้ต้องใช้การตรวจวิธีอื่น
การตรวจวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน
การตรวจวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน
            เครื่องตรวจการได้ยินนี้วัดความดังของเสียงที่มีความถี่ต่างๆ กันตั้งแต่ ๑๒๕-๘,๐๐๐ เฮิรตซ์ ความดัง -๑๐ ถึง +๑๑๐ เดซิเบล (decibel) การรายงานผลใช้ค่าเฉลี่ยของความดังที่ความพี่ ๕๐๐, ๑,๐๐๐ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์

การได้ยิน มีระดับการได้ยิน ๒๕ เดซิเบล หรือน้อยกว่า
หูตึง มีระดับการได้ยิน ๒๕-๙๐ เดซิเบล
หูหนวก มีระดับการได้ยินมากกว่า ๙๐ เดซิเบลไม่สามารถเข้าใจคำพูดได้

๓. การวัดการทำงานของหูชั้นกลางด้วยเครื่องไฟฟ้า (acoustic impedance audiometer)

            เป็นการวัดการทำงานของแก้วหู กระดูกนำเสียง และกล้ามเนื้อในหูชั้นกลาง ตลอดจนวัดประมาตรของหูชั้นกลาง การตึงตัวของกระดูกนำเสียง รีเฟล็กซ์ของกระดูกโกลน และการทำงานของท่อยูสเตเชียน การวัดด้วยเครื่องไฟฟ้านี้ ได้ค่าประมาณของหูตึงเท่านั้น ไม่แน่นอนเท่าวิธีที่ ๒ ซึ่งช่วยแยกประเภทหูตึงได้ ข้อดีคือ เป็นการวัดโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องยกมือ หรือกดปุ่มอะไรเลย นั่งเฉยๆ เท่านั้น ผู้ป่วยต้องยอมให้ใส่ท่อยางเข้าช่องหูชั้นนอก เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี หรือคนที่หมดสติก็วัดได้ เด็กเล็กวัดตอนที่นอนหลับตามปกติ ถ้าเด็กโตอาจให้ยานอนหลับก่อนวัดก็ได้

๔. การวัดการได้ยินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (brain stem electrical response audiometer)

            เป็นการวัดการได้ยินแบบใหม่สุด โดยใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (microcomputer) เก็บข้อมูลการทำงานของสมอง ขณะที่หูถูกกระตุ้นด้วยเสียง บันทึกผล และหาค่าเฉลี่ย แล้วแสดงผลการวัด สามารถวัดการได้ยินของเด็กตั้งแต่แรกเกิด คนปัญญาอ่อน หรือหมดสติได้เด็กอายุ ๑ วัน - ๓ เดือน วัดขณะนอนหลับตามปกติอายุ ๓ เดือน - ๗ ปีให้ยานอนหลับ อายุเกิน ๗ ปี หรือผู้ใหญ่ ตรวจได้ทันที โดยผู้ป่วยนอนบนเตียงเฉยๆ ไม่ต้องยกมือ หรือกดปุ่มอะไร มีสายปะติดที่หน้าผากหลังหู และใส่หูฟังครอบหูไว้ขณะที่ตรวจ การตรวจนี้สามารถประมาณระดับหูตึงได้ค่าใกล้เคียงกับการวัดวิธีที่ ๒ มาก และแยกประเภทหูตึงได้ นอกจากนี้ยังสามารถบอกตำแหน่งพยาธิสภาพ ที่ทำให้หูตึง หรือหูหนวกได้ด้วยว่า อยู่ตรงส่วนไหนของสมอง