หอยเป๋าฮื้อ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แอบะโลนี (Abalone) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ประเภทหอยฝาเดียว มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น หอยโข่งทะเล หอยร้อยรู เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะใช้เนื้อเป็นอาหาร และใช้เปลือกเป็นเครื่องประดับ ที่มีราคาแพง
หอยเป๋าฮื้อมีหลายชนิด ทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์ฮาลิโอทิดี (Haliotidae) สกุลฮาลิโอทิส (Haliotis) ส่วนใหญ่พบในเขตอบอุ่น และเขตร้อน ตามบริเวณชายฝั่งที่มีพื้นแข็ง และมีแสงสว่างส่องถึง ซึ่งได้แก่ หาดหิน และแนวปะการังตามเกาะแก่ง ที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำเค็ม กินอาหารจำพวกพืชทะเลที่เกาะติดตามก้อนหิน และแนวปะการัง เช่น ไดอะตอมประเภทเกาะติด และสาหร่ายขนาดเล็ก ที่เกาะตามโขดหินใต้น้ำ หลบซ่อนตัวตามซอกหินและแนวปะการังในเวลากลางวัน และออกหากิน ในเวลากลางคืน
ลักษณะเด่นของหอยเป๋าฮื้อคือ มีรูจำนวนหนึ่งที่เป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก จำนวนของรูนี้ เป็นลักษณะหนึ่ง ที่ใช้ในการจำแนกชนิดของหอยเป๋าฮื้อ รูเปิดเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยในการหายใจ การขับถ่าย และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ด้านล่างของเปลือกไม่มีฝาปิด ซึ่งต่างจากหอยฝาเดียวที่มีวิวัฒนาการสูงกว่า เช่น หอยนมสาว หอยหวาน ที่มีฝาปิด เท้าของหอยเป๋าฮื้อมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจน และเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของหอยเป๋าฮื้อ เนื่องจากใช้สำหรับการเคลื่อนที่ และยึดเกาะกับพื้นผิว โดยประกอบด้วยส่วนของกล้ามเนื้อที่มีความหนาและแข็งแรง เท้าของหอยเป๋าฮื้อเป็นส่วนที่คนนิยมรับประทาน และมีราคาแพงที่สุด สีของกล้ามเนื้อเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีส้ม สีดำ
ในโลกนี้มีหอยเป๋าฮื้อประมาณ ๑๐๐ ชนิด มีประมาณ ๒๐ ชนิด ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ในเขตทะเลไทยพบหอยเป๋าฮื้อ ๓ ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจคือ ฮาลิโอทิส แอสสินินา (H. asinina)
ในการเพาะพันธุ์ ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี และใช้วิธีการที่เหมาะสมในการควบคุมการปฏิสนธิ จึงจะได้ลูกหอยจำนวนมาก และการที่ตัวอ่อนจะมีชีวิตรอดได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยง ซึ่งต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับธรรมชาติของหอยเป๋าฮื้อ ในการเลี้ยงลูกหอยมีระบบการเลี้ยง ๒ ระบบใหญ่ คือ การทำฟาร์มในทะเล และการทำฟาร์มบนบก ซึ่งการทำฟาร์มบนบกจะแบ่งออกเป็น แบบระบบเปิด ระบบปิด และกึ่งปิดกึ่งเปิด
การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ต้องจัดสภาพให้ใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ โดยจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำ ความเค็ม อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง การมีน้ำสะอาดไหลผ่านตลอดเวลา มีที่หลบแดดในเวลากลางวัน การให้อาหารที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และเวลาที่เหมาะสมสำหรับการให้อาหาร
ขนาดของลูกหอยที่เหมาะสม ในการนำมาเลี้ยง ควรมีความยาวของเปลือก ๐.๕ - ๓ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการเลี้ยง ว่าจะเลี้ยง เพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปเลี้ยงต่อ หรือเพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปบริโภค ตลอดจนความเหมาะสมกับระบบการเลี้ยง ความสามารถ และความพอใจของผู้เลี้ยง การเลี้ยงจะใช้เวลาตั้งแต่ ๖ เดือน - ๒ ปี ตามขนาดที่เริ่มเลี้ยง และขนาดที่จำหน่าย เช่น ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาดกลาง ที่เรียกกันว่า ขนาดค็อกเทล เพื่อจำหน่ายสำหรับการบริโภค จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ ๑๒-๑๘ เดือน ในการคัดเลือกขนาดของหอย ที่จะนำมาเลี้ยงนั้น ถ้าใช้ลูกหอยที่มีขนาดเล็กมาก ก็จะมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องดูแลเอาใจใส่ และใช้เวลามาก แต่ก็มีข้อดีคือ ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงจะต่ำ
ในการเลี้ยง จำเป็นต้องใช้หอยที่มีขนาดเหมาะสม และมีความหนาแน่นของหอย (จำนวนหอยต่อ ๑ หน่วยพื้นที่) ที่เหมาะสม เช่น ควรเริ่มเลี้ยงหอยที่มีความยาวเปลือก ๑ เซนติเมตร เพราะหอยขนาดนี้สามารถฝึกให้กินสาหร่ายใบ ซึ่งเป็นอาหารที่หอยกินตามธรรมชาติ หรืออาหารสำเร็จรูปได้ไม่ยาก โดยควรเริ่มต้น ด้วยการให้มีความหนาแน่น ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ตัวต่อตารางเมตร ให้มีน้ำสูงประมาณ ๕๐ - ๘๐ เซนติเมตร การให้อาหาร และการดูแลทำความสะอาด ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องมีการติดตาม และควบคุมคุณภาพน้ำ ในระบบ สิ่งที่ต้องคอยติดตาม และควบคุม คือ อุณหภูมิของน้ำ ความเค็ม ความเป็นกรดด่าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และปริมาณแอมโมเนียรวม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุดแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ เหมือนกับสภาพตามธรรมชาติจริงๆ ที่หอยอาศัยอยู่ จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ลูกหอยเจริญเติบโตช้า หอยตาย เพราะความเครียด และเกิดโรคต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในการเพาะเลี้ยง โรคของหอยเป๋าฮื้อเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา โปรโตซัว ตลอดจนปรสิตภายนอกจำพวกปลิงใสและหนอน