เล่มที่ 26
การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา
เล่นเสียงเล่มที่ 26 การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สื่อประสม (multimedia)

            เป็นสื่อสมัยใหม่ ที่ใช้คอมพิวเตอร์นำเอาตัวหนังสือแสดงข้อความ ภาพ และเสียง ซึ่งบันทึกไว้ในรูปของข้อมูลดิจิทัล มาแสดงผลแปลงกลับเป็นตัวหนังสือ แสดงข้อความ ภาพ และเสียงทางจอภาพ และลำโพงผสมผสานกัน รวมทั้งควบคุมการแสดงผลของสื่อเหล่านั้น โดยโปรแกรมการสั่งงานคอมพิวเตอร์ ทำให้สื่อเหล่านั้น มีลักษณะพิเศษขึ้น มีพลังในการสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าสื่อที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อื่นๆ



            คำว่า “สื่อประสม” อาจมีความหมายพื้นๆ เพียงการแสดงผลของข้อความภาพ และเสียงพร้อมๆ กัน ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สไลด์ประกอบเสียง หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการสาธิต หรือการสอน แต่สื่อเหล่านี้ อาจใช้คำเฉพาะอื่นๆ ที่สามารถอธิบายความหมายได้ชัดเจนมากกว่าคำว่า สื่อประสม จึงใช้ เพื่อหมายความถึงสื่อ ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ดังที่อธิบายข้างต้น



            ในสมัยก่อน มนุษย์ใช้สื่อที่เป็นภาพและตัวอักษร ในการบันทึก เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ โดยการสลักภาพ และอักษร ลงบนแผ่นหิน หรือขีดเขียนลงบนวัสดุชนิดอื่นที่มีความแข็งแรง และในระยะต่อมาได้มีการวาดหรือเขียนลงบนกระดาษ ตัวอย่างเช่น ในสังคมไทยมีการบันทึกความรู้ และเหตุการณ์ต่างๆ โดยการจารึกลงบนใบลาน หรือกระดาษ เป็นต้น การพิมพ์และหนังสือเป็นสื่อ ที่เกิดขึ้นในยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และเป็นสื่อที่ทำให้ความรู้ หรือการศึกษาแพร่ขยายออกไป เป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็ว ในอีก ๓๐๐ ปีต่อมา


            ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ทอมัส แอลวา เอดีสัน (Thomas Alva Edison; ค.ศ. ๑๘๔๗ – ๑๙๓๑๗) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกา ได้ประดิษฐ์ระบบบันทึกเสียงขึ้น ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงเก็บไว้ได้เป็นครั้งแรก ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๘ จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman ; ค.ศ. ๑๘๕๔ – ๑๙๓๒) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพโดยใช้แสง ประดิษฐกรรมทั้ง ๒ อย่าง ทำให้เกิดสื่อประเภทเสียงขึ้น และมีรูปแบบใหม่ในการบันทึกภาพ นอกเหนือจากการวาด เขียน และพิมพ์ลงบนกระดาษ



            การบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ได้พัฒนาไปสู่การถ่ายภาพเคลื่อนไหว จึงทำให้การบันทึก และถ่ายทอดเรื่องราว แม่นยำตรงกับความจริง และน่าสนใจยิ่งขึ้น และนี่คือที่มาของสื่อประเภทภาพยนตร์ ซึ่งได้แพร่หลายไปทั่วโลก เมื่อเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
            


            ระยะเวลาต่อมา ประมาณครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มนุษย์ก็ค้นพบประดิษฐกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัลได้ประปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ครั้งสำคัญ โดยการนำเข้าสู่ระบบสื่อประสม กล่าวคือ แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะการพิมพ์ ในงานด้านการจัดเก็บข้อมูล และการบริการธุรกิจต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น




ลักษณะของสื่อประสม ความก้าวหน้าของระบบสื่อประสมที่สำคัญก็คือ

            ๑. การนำสื่อหลายชนิดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวจัดการ และควบคุมให้สื่อต่างๆ แสดงผลออกมาทางหน้าจอ และลำโพงของคอมพิวเตอร์
สื่อที่คอมพิวเตอร์นำมาแสดงผลทางหน้าจอ เป็นระบบสื่อประสมนั้น ประกอบไปด้วย

                        ๑. ภาพ

                        ภาพที่ปรากฏบนจอ จะแบ่งตามประเภทของข้อมูล ในระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ภาพกราฟิกส์ ภาพเคลื่อนไหว และภาพวีดิทัศน์จากเครื่องเล่นวีดิทัศน์ หรือกล้องถ่ายวีดิทัศน์

                        ภาพกราฟิกส์ คือ ภาพบนจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพเดี่ยว ไม่มีการเคลื่อนไหว ภาพเหล่านี้ อาจได้มาจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างขึ้น หรือดัดแปลงข้อมูลของภาพ ที่ได้จากอุปกรณ์แปลงรูปถ่าย หรือภาพวาด ให้เป็นข้อมูลภาพคอมพิวเตอร์

                        ภาพเคลื่อนไหว คือ ภาพบนจอคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏคล้ายภาพเคลื่อนไหวได้ เกิดจากการแสดงผลของภาพหลายภาพซ้อนกันอย่างรวดเร็ว ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการสร้างขึ้น โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือดัดแปลงจากภาพกราฟิกส์ที่มีอยู่เดิม

                        ภาพวีดิทัศน์ เป็นภาพที่ได้มาจากการแปลงสัญญาณภาพวีดิทัศน์ โดยอุปกรณ์แปลงสัญญาณให้เป็นข้อมูลดิจิทัล มีการบีบย่อข้อมูลในการเก็บบันทึก และนำข้อมูลนั้นมาแปลงกลับเป็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์



                        ๒. เสียง

                        ได้แก่ เสียงบรรยาย เสียงสนทนา ดนตรี และเสียงประกอบอื่นๆ

                        ๓. ข้อความ

                        ข้อความที่ปรากฏบนจอเป็นภาพ ซึ่งคอมพิวเตอร์สร้างจากข้อมูลตัวอักษร ไม่ใช่ภาพแบบกราฟิกส์ ข้อมูลตัวอักษรเหล่านี้ ได้มาจากการพิมพ์จากแป้นพิมพ์ หรือแปลงมาจากภาพข้อความ ที่ผ่านเครื่องแปลงสัญญาณภาพเป็นข้อมูลดิจิทัล และแปลงข้อมูลนั้น เป็นข้อมูลตัวอักษรอีกครั้ง ด้วยโปแกรม OCR (optical character reader)

            ๒. ความสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ (interactivity) กล่าวคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถจัดการกับข้อมูลภาพและเสียง ให้แสดงผลบนจอ ในลักษณะที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ไม่ใช่การแสดงผลรวดเดียวจบ (run through) แบบวีดิทัศน์ หรือภาพยนตร์ และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว (one-way communication) คือ ผู้ชมเป็นผู้ดูฝ่ายเดียวอีกต่อไป