ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อประชากรสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากมายหลายชนิด นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยอย่างถาวรของกุ้ง หอย ปู และปลาจำนวนมากแล้ว ป่าชายเลนก็ยังเป็นแหล่งอาหาร บางช่วงเวลาเป็นแหล่งผสมพันธุ์ และอนุบาลตัวอ่อน และเป็นแหล่งที่หลบภัยของสัตว์นานาชนิด
กลุ่มประชากรสัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน ประกอบด้วยสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น พวกโปรโตซัว หอย แมลง และพวกครัสเตเชียน ปลาซึ่งมี ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่อย่างถาวร กลุ่มที่เข้ามาบางช่วงเวลา เพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ หรือวางไข่ กลุ่มผู้ล่า และกลุ่มที่เข้ามาบางฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ อีก ได้แก่ นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มประชากรสัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน ได้แก่ พรรณไม้หลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของประชากรสัตว์ ความอุดมสมบูรณ์ของป่า และการปรับตัวของกลุ่มประชากรสัตว์ในป่าชายเลน เช่น ปูก้ามดาบ ซึ่งสามารถปรับตัวให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ ในบริเวณป่าชายเลนได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อกลุ่มประชากรสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรประมงที่สำคัญของประเทศ แต่ในปัจจุบัน มีการเสื่อมสภาพของป่าชายเลน อันเนื่องมาจากการทำนากุ้ง หรือการขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำให้ต้องถางป่าชายเลน การตัดไม้ เพื่อเผาถ่าน ทำให้พื้นที่ป่าลดลง การทำเหมืองแร่ในทะเล ทำให้เกิดตะกอนดินทับถมกัน ธาตุอาหารลดลง และทำให้น้ำขุ่น ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม ในบริเวณชายฝั่งทะเล ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลงไปอย่างมาก
ดังนั้น การฟื้นฟู และการปลูกป่าชายเลน จึงเป็นภารกิจจำเป็น ที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าชายเลน การฟื้นฟู และการปลูกป่าชายเลน จะช่วยทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร สัตว์ต่างๆ ก็จะเข้ามาอาศัยในป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มประชากรสัตว์ และช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์ทะเลหน้าดิน ซึ่งเป็นอาหารของปลา และปูทะเล ตลอดจนสัตว์อื่นๆ ต่อไป