เล่มที่ 26
ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 26 ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทยเกิดขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ผู้ริเริ่มคือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรมีจุดมุ่งหมาย เพื่อ "ฟื้นฟูบำรุงศิลปกรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพาะศิลปินผู้ทรงวิทยาคุณให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น" โดยมีการตราพระราชบัญญัติไว้ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖

ความเป็นมาของห้องสมุดเสียง

            ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทยนั้น ผู้ริเริ่มคือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งโดยเนื้อแท้ท่านเป็นครู เป็นนักการศึกษา ที่ต้องการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด และสืบสานวัฒนธรรม ด้วยปณิธานนี้ เมื่อท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร "ห้องสมุดเสียง" จึงได้เกิดขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งใหม่ ณ บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม


            อันที่จริงท่านได้มีความคิดในเรื่องนี้ ก่อนที่จะมารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เพิ่งมีโอกาสได้ทดลองทำความคิดของท่านให้เห็นเป็นรูปธรรม ท่านได้สะสมแถบบันทึกเสียงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สุนทรพจน์ และปาฐกถาของบุคคลสำคัญ ในระดับนานาชาติเท่าที่จะหามาได้ โดยติดต่อขอความร่วมมือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมิตรประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ท่านได้นำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาเก็บไว้ที่ห้องสมุดเสียงนี้

บริการของห้องสมุดเสียง

            "ห้องสมุดเสียง" คือ สถานที่เก็บรักษาวัสดุรวบรวมเสียงต่างๆ ที่ได้บันทึกลงแถบเสียงไว้ โดยผ่านกรรมวิธีการจัดทำเป็นแถบบันทึกเสียงต้นฉบับ (Master Tape) แล้ว และจัดแยกเป็นหมวดหมู่ตามประเภทของรายการ บรรจุไว้ในตู้เก็บพร้อมกับรายละเอียดของแถบเสียงแต่ละม้วน เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาค้นคว้า คล้ายกับการจัดเก็บหนังสือในห้องสมุด ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาตามวัตถุประสงค์ โดยมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน คือ


            ๑. เพื่อเสริมการสอนวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรด้วย "เสียง" ตามที่ผู้สอนต้องการ

            ๒. เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาตามลำพังนอกเวลาเรียน และให้ได้รับความบันเทิงตามสมควร

            ๓. รักษาสมบัติวัฒนธรรมทางเสียงไว้ เพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต

            โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาวัฒนธรรมทางเสียงไว้ เพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคตนั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้เน้นมาก โดยขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน "จดหมายจากเพื่อน" ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มีใจความว่า "เรื่องของภาษานั้น ภาษาพูดเกิดก่อน ส่วนตัวอักษรที่เรียกว่า หนังสือนั้น เป็นเพียงเครื่องบันทึกเสียงที่มนุษย์พูดกันเท่านั้น ผมยังเห็นต่อไปอีกว่า หนังสือทั่วโลกไม่สามารถบันทึกเสียงพูดให้ถูกต้องได้แม้แต่ภาษาเดียวกัน ฉะนั้น เครื่องมือใหม่นี่แหละ จะเป็นหนังสือสากล แน่นอน หนังสือไทยเรามีเสียงมากก็จริง แต่ไม่สามารถคุ้มครองให้ภาษาไทยปราศจากความวิบัติได้ ดังที่กล่าวขวัญกันมาในหมู่ปัญญาชนทุกวันนี้ ขอให้รีบดำเนินการให้เรียบร้อยเป็นหลักฐานเถิด เพราะผมเห็นมีทางเดียว ที่จะแก้ความวิบัติของภาษาไทยเราได้"