เล่มที่ 26
ชุมชน
เล่นเสียงเล่มที่ 26 ชุมชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เราคงเคยได้ยินคำว่า "ชุมชน" กันมาบ้าง แต่หลายคนอาจสงสัยว่า คือ สิ่งเดียวกับบ้าน หมู่บ้าน หรือตำบลหรือไม่ ซึ่งก็อาจตอบได้ว่า ทั้งใช่และไม่ใช่

            หมู่บ้านและตำบลคือ หน่วยพื้นฐานการปกครองระดับล่างสุดของสังคมไทย เป็นหน่วยการปกครองทางกายภาพ กล่าวคือ มีขอบเขต และอาณาบริเวณที่แน่นอน ในขณะที่คำว่า "ชุมชน" สามารถให้ความหมายครอบคลุมถึงหน่วยทางสังคมของกลุ่มคน ที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีการรวมกลุ่ม มีความรัก และมีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการปฏิบัติการบางอย่าง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มเหล่านี้อาจจะเป็นสมาชิกร่วมกันได้ทั้งหมู่บ้าน หรือเฉพาะบางคนในหมู่บ้าน หรือต่างหมู่บ้านกันก็ได้


            นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า "ชุมชน" นั้น น่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๕ โดยบัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "community" เนื่องมาจากในระยะนั้น อิทธิพลของวิชาสังคมศาสตร์จากประเทศตะวันตก ได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทย เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสังคมชนบท ซึ่งรัฐบาลก็ได้ใช้คำๆ นี้เรื่อยมา จนใน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานชื่อว่า "กรมการพัฒนาชุมชน" ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และด้วยเหตุที่คำว่า "ชุมชน" มักจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการปกครอง ความหมายของคำว่า "ชุมชน" ในระยะแรก จึงนำไปใช้ในความหมายที่ใกล้เคียง หรือซ้อนทับกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอน ภายใต้การควบคุมของรัฐ ความเข้าใจนี้ได้เป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน


            โดยความหมายดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของคนมิได้ขึ้นกับขอบเขตของพื้นที่เพียงอย่างเดียว หากแต่คนยังมีความสัมพันธ์กันทางสังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีพลังอย่างมากในการจัดการตัวเอง และสังคม ซึ่งสามารถเห็นได้จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา กลุ่มรักษาป่าชุมชน รักษาแม่น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดตรัง กลุ่มโรงสีชุมชนในแถบอีสานตอนกลาง อย่างจังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น


            ในอดีตก่อนการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น คนในสังคม หรือชุมชนนั้นๆ จะจัดการในเรื่องต่างๆ กันเอง เช่น การศึกษา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การพัฒนาชุมชน การงานอาชีพ ฯลฯ โดยรัฐมีหน้าที่เพียงแต่ดูแลเรื่องความมั่นคงของประเทศ และรักษาความสงบภายในหน่วยต่างๆ ของสังคมเท่านั้น ครั้นเมื่อมีการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น รัฐจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลความเป็นอยู่ของคนในสังคม หรือชุมชนมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕


            รัฐ ยิ่งเพิ่มบทบาท และอำนาจหน้าที่มากขึ้น จนครอบคลุมทุกด้านของคนในชุมชน ตั้งแต่เกิดจนตาย จนกลายเป็นว่า รัฐได้สร้างวัฒนธรรมแห่งการพึ่งพา และคอยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ขยะในบ้าน การรักษาสุขภาพ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การขุดลอกคลอง การรักษาป่า ทั้งที่ในอดีต ชุมชนสามารถจัดการกันเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สายใยในการอยู่ร่วมกัน และวิถีทางในการอยู่รอดของคนในชุมชนนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐโดยสิ้นเชิง




            ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ โครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์ ที่มีขนาดใหญ่เกินไป และนับวันยิ่งด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ หรือปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนมีการกล่าวกันว่า "รัฐนั้นเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่ๆ และใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็กๆ"
เหตุการณ์จลาจล เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถือได้ว่า เป็นจุดหักเหที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลในเชิงรูปธรรมก็คือ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และการปกครองตนเองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติเรื่องการรวมตัวกันเป็นชุมชนในชื่อต่างๆ มาตรา ๔๖ บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน หรือมาตรา ๘๐ บัญญัติว่ารัฐต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น

นอกจากการที่รัฐธรรมนูญจะเอื้อต่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนแล้ว ควรจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ได้แก่

            ๑. ชุมชนต้องมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้สื่อสาร หรือพบปะกันของคนในชุมชน เช่น สภากาแฟ ศาลาวัด งานบุญประเพณี ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และเรื่องราวต่างๆ ได้