เล่มที่ 3
ยางพารา
เล่นเสียงเล่มที่ 3 ยางพารา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            พวกเราทุกคนคงจะรู้จักยางกันเป็นอย่างดีแล้ว ได้เห็น และได้ใช้กันอยู่เกือบจะเป็นประจำวัน เช่น ยางลบ ยางรัดของ รองเท้ายาง ยางรถยนต์ ยางรถจักรยาน ยางล้อเครื่องบิด ถุงมือยาง ตุ๊กตา และของเล่นอื่นๆ อีกหลายอย่าง สิ่งต่างๆ ที่ทำจากยางดังกล่าวนี้ เป็นยางที่ได้มาจากต้นยางพารา

ผลิตภัณฑ์บางอย่างจากยางพารา

            ต้นยางพาราเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมมีอยู่ในทวีปอเมริกาใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น มีผู้นำเอามาปลูกในเอเชีย และแอฟริกา เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี่เอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีดิน มีฝนและมีอากาศ ที่เหมาะแก่การปลูกยางพาราได้ดี ชาวไทยจึงมีอาชีพในการทำสวนยางได้อย่างถาวร มั่นคง ท้องที่ที่ปลูกต้นยางพาราได้ดี คือ บริเวณแถบฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และทางภาคใต้อีก ๑๔ จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนสุดจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งสิ้น ๑๗ จังหวัดด้วยกัน ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดประเทศหนึ่ง ประมาณ ๘ ล้านไร่ ผลิตยางได้มากเป็นที่ ๓ ของโลก คือ ผลิตได้ถึงปีละประมาณ ๓๘๐,๐๐๐ เมตริกตัน หรือประมาณ ๓๘๐ ล้านกิโลกรัม ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ได้เงินปีละประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท นอกจากนั้น โรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศยังสามารถผลิตวัตถุยางสำเร็จรูปขึ้นใช้ภายในประเทศได้เอง เกือบทุกอย่าง และยังส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันนี้ การทำสวนยางเป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่ง ของประเทศไทย

            เนื่องจากยางพาราเป็นวัตถุดิบที่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก ใช้ผลิตวัตถุสำเร็จรูปได้มากมาย เพื่อใช้ในการแพทย์ การวิทยาศาสตร์ การก่อสร้าง การสื่อสาร การขนส่ง ตลอดจนของใช้ต่างๆ ภาย ในบ้าน และเนื่องจากทุกประเทศ ต่างก็ต้องการใช้ยาง เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ความต้องการใช้ยางของโลกจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี เท่าที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลา ๗๐ ปีมานี้ ปรากฏว่า การใช้ยางได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๑๐ ปี ต่อไปข้างหน้า ความต้องการก็คงจะเพิ่มมากขึ้นในทำนองเดียวกัน ผู้มีอาชีพในการทำสวนยางจึงสบายใจได้ว่า อาชีพนี้จะมั่นคงถาวรไปอีกหลายปี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จะต้องพัฒนาสวนยางให้ก้าวหน้าอยู่เสมอด้วย จึงจะช่วยให้มีรายได้หรือมีกำไรสูงขึ้น

สวนยางพันธ์ดี ที่ให้น้ำยางมาก

            ปัจจุบันนี้โลกต้องการใช้ยางเป็นจำนวนถึงปีละประมาณ ๑๑ ล้านต้น แต่มียางที่จะได้จากต้นยางพารา หรือที่เรียกกันว่า ยางธรรมชาติ เพียงปีละ ประมาณ ๔ ล้านต้นเท่านั้น ส่วนที่ขาดอีกประมาณ ๗ ล้านต้น จำเป็นต้องใช้ยางเทียม ที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ยางเทียมจึงกลายเป็นคู่แข่ง ของยางธรรมชาติ แต่เนื่องจากโลกต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงยังไม่มีการแข่งขันกันจริงจัง และอีกประการหนึ่ง คุณสมบัติของยางเทียมยังไม่ดีเท่าเทียมกับยางธรรมชาติ และต้นทุนการผลิต ก็ยังสูงกว่ายางธรรมชาติ ในระยะนี้จึงยังไม่มีข้อน่าวิตกว่า จะขายยางธรรมชาติได้ยากลำบาก แต่ในกาลข้างหน้าอีกไม่นานนัก เชื่อว่า การค้นคว้าคงจะช่วยให้ยางเทียมมีคุณสมบัติดีเท่ากับยางธรรมชาติ ส่วนราคาต้นทุนการผลิต จะให้ลดต่ำเท่ากับยางธรรมชาติคงจะทำได้ยาก แม้ว่าคุณสมบัติของยางเทียมจะยังไม่ดีเท่ากับยางธรรมชาติก็จริง แต่โลกก็ได้ใช้ยางเทียมผลิตวัตถุยางสำเร็จรูปทุกชนิด รวมทั้งยางรถยนต์มากกว่ายางธรรมชาติเสียอีก ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ได้พยายามศึกษาค้นคว้ายิ่งขึ้น เพื่อจะลดราคาต้นทุนการผลิตยางธรรมชาติ ให้ต่ำลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหาทางที่จะปรับปรุงคุณสมบัติ ของยางธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

            ในปัจจุบันนี้จากผลของการศึกษาค้นคว้า สามารถเพิ่มผลิตผลให้แก่สวนยางได้มากขึ้นถึง ๕-๖ เท่าตัว สวนยางของเราที่ปลูกมาแต่เดิม ให้ผลิตผลเพียงไร่ละ ๕๐-๗๐ กิโลกรัม/ปี แต่ขณะนี้มีต้นยางพันธุ์ใหม่สามารถให้ผลิตผลได้ถึงไร่ละ ๒๕๐-๓๕๐ กิโลกรัม/ปี สูงกว่าเ ดิมถึง ๕-๙ เท่าตัว เป็นโอกาสของเจ้าของสวนยางที่จะเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น และในด้านการผลิต ก็ได้ปรับปรุงใช้วิธีการผลิตยางแบบใหม่ออกจำหน่าย เพื่อเป็นการจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมยางในประเทศต่างๆ สนใจที่จะใช้ยางธรรมชาติต่อไปให้มากยิ่งขึ้น การพัฒนากิจการยางใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องน่ารู้ น่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของสวนยางจะต้องรีบศึกษา และปรับปรุงสวนยางโดยเร็วที่สุด

การกรีดดีช่วยให้หน้ายางราบเรียบกรีดซ้ำได้ ๒-๓ ครั้งและทำรายได้เกินเวลา ๓๐ ปี

            ต้นยางพาราเป็นต้นไม้ใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบได้ประมาณ ๑-๒ เมตร และสูงประมาณ ๑๕ เมตร (ขนาดเล็กกว่าที่ขึ้นอยู่ในถิ่นเดิม คือ ประเทศบราซิล) การปลูกสร้างสวนยางจึงจำเป็นต้องเรียนรู้หลายประการ เช่น จะต้องศึกษาในเรื่องดิน น้ำ ฝน และอากาศในท้องที่ที่จะใช้ปลูก รวมทั้งต้องศึกษาในเรื่องพันธุ์ยาง วิธีปลูก ระยะปลูก ปุ๋ยที่จะใช้ และวิธีใส่ปุ๋ย วิธีกำจัดวัชพืช และศัตรูพืช การตัดแต่งต้น วิธีกรีดยาง วิธีรักษาเปลือกต้นยางตรงรอยกรีดซึ่งเรียกว่า "หน้ายาง" การเก็บ และรวบรวมน้ำยาง เป็นต้น

            ในด้านการทำยางออกขาย เมื่อได้น้ำยางมาจากสวนแล้ว จะต้องกรองให้สะอาด แล้วทำให้ยางจับตัวเป็นก้อน โดยเทน้ำยางลงตะกง (ตะกง คือ ถาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาว ๔๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๖ เซนติเมตร และสูง ๗ เซนติเมตร) แล้วใส่น้ำกรดอะเซติก (กรดน้ำส้ม) หรือกรดฟอร์มิก ผสมลง ไปในน้ำยาง เพื่อให้ยางจับตัวเป็นก้อน ถ้าจะทำยางแผ่นรมควันตามแบบเก่า ที่ส่วนมากยังทำอยู่ทุกวันนี้ เจ้าของสวนยางจะนำยางที่จับตัวเป็นก้อนเข้าเครื่องรีด ทำให้เป็นแผ่นบาง ซึ่งมีความหนาเพียง ๒-๓ มิลลิเมตร ยางแผ่นหนึ่งๆ จะหนัก ไม่เกิน ๑ กิโลกรัม เมื่อรีดเป็นแผ่นบางแล้วจะผึ่งให้น้ำแห้งเสียก่อน แล้วจึงนำเข้ารมควัน ในโรงรมยาง ประมาณ ๕-๑๐ วัน ยางชนิดนี้ เรียกว่า ยางแผ่นรมควัน มีสภาพคล้ายของป่า เพราะไม่อาจจะแจ้งคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า มีความสกปรก มีเถ้าถ่าน มีไนโตรเจน หรือมีความยืดหยุ่นมากน้อยเท่าใด โรงงานที่ใช้ยางชนิดนี้ จะต้องนำยางไปตรวจสอบวิเคราะห์เอง ทำให้ไม่สะดวกในการใช้ แต่บัดนี้ได้ค้นคว้า และทำยางแบบใหม่ขึ้นแล้ว ซึ่งทำได้เร็วกว่า ทุ่นค่าใช้จ่ายมากกว่า และสามารถแจ้งคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ ตามที่โรงงานอุตสาหกรรมยางต้องการได้ ด้วยยางชนิดใหม่นี้ เรียกว่า ยางแท่ง เพราะเปลี่ยนรูปจากเป็นแผ่นๆ มาเป็นแท่ง แท่งหนึ่งๆ หนักประมาณ ๓๔ กิโลกรัม แทนที่จะเป็นก้อนใหญ่อย่างแต่ก่อน ซึ่งหนักถึงก้อนละ ๑๐๐ กิโลกรัมเศษ ยากแก่การขน และการใช้มาก การทำยางแท่งมีกรรมวิธีง่ายกว่าการทำยางแผ่นรมควันมาก ในขั้นการทำให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อน ปฏิบัติทำนองเดียวกันกับการทำยางแผ่นรมควัน จะต่างกันบ้างก็เฉพาะมีสารเคมีบางอย่างผสมลงไปบ้าง และเมื่อยางจับตัวเป็นก้อนแล้ว จะนำเข้าเครื่องย่อย ยางจะถูกย่อยออกเป็นชื้นเล็กๆ แบนๆ ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย หรืออาจจะย่อยให้เล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟก็ได้ เมื่อย่อยแล้วจะนำเข้าอบความร้อนซึ่งมีความร้อนประมาณ ๑๐๐-๑๑๐ องศาเซลเซียส เพียงประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง ยางจะสุกเหลืองคล้ายฟองน้ำ แล้วเอาไปชั่งให้ได้น้ำหนักที่ต้องการ คือ ให้ได้น้ำหนักแท่งละ ๓๔ กิโลกรัม เมื่อชั่งได้จำนวนแน่นอนแล้ว จึงนำเข้าอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิก ยางจะอัดตัวแน่นเป็นแท่งขนาดกว้างยาวสูง ๗๐ x ๓๕.๔ x ๑๖.๕ เซนติเมตร และมีน้ำหนัก ๓๔ กิโลกรัม ห่อด้วยพลาสติกป้องกันสกปรกการทำยางแท่งใช้เวลาไม่เกิน ๑ วัน ก็นำออกจำหน่ายได้ ทุกประเทศที่ปลูกยางกำลังผลิตยางชนิดนี้มากขึ้น และค่อยๆ เลิกการผลิตยางแผ่นรมควันไปทีละน้อย บางประเทศสามารถผลิตได้มากถึงร้อยละ ๕๐ ของจำนวนน้ำหนักยางที่เคยผลิตได้แต่ละปี แต่สำหรับประเทศไทยผลิตยางแท่งออกจำหน่ายได้ปีละประมาณร้อยละ ๑๐ ของยางที่ผลิตได้ทั้งหมด แต่คงจะผลิตได้มากขึ้นใน ๒-๓ ปีข้างหน้า