เล่มที่ 3
ฝ้าย
เล่นเสียงเล่มที่ 3 ฝ้าย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ผ้าฝ้ายเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่เกิด คือ ใช้เป็นผ้าอ้อม เมื่อเติบโตก็ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ประจำตัว เช่น ผ้าขาวม้า ในการทำบุญของชาวพุทธ เช่น งานมงคลต่างๆ การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตลอดจนงานศพ ล้วนแต่มีธรรมเนียมที่จะต้องใช้ผ้าเหลือง ผ้าขาว และด้ายสายสิญจน์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของฝ้ายทั้งสิ้น

ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย

            คนไทยปลูกฝ้าย และทอผ้าใช้เองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ดังที่มีสุภาษิตของชาวสุโขทัยว่า "เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก" นอกจากนี้ในวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผนก็กล่าวถึงการทำไร่ฝ้าย ซึ่งเป็นงานที่ผู้หญิงออกไปทำ ไม่น่าสงสัยเลยว่า คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็รู้จักปลูกฝ้าย และทอผ้าใช้เอง ในปัจจุบันนี้ จะยังเห็นช่างทอผ้าอยู่เป็นส่วนมากตามชนบทในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคอื่นๆ ก็มีการทอผ้าบ้าง แต่ไม่มากนัก การทำไร่ฝ้ายในอดีตคงทำเพื่อใช้ภายในครอบครัว มิได้ทำเพื่อเป็นสินค้า มิได้ทำเพื่อเป็นสินค้า ทำไร่กันในเนื้อที่น้อยสามารถดูแลบำรุงได้ดี

            เมื่อคนไทยได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาวต่างประเทศนำผ้าฝ้ายที่ทอด้วยเครื่องจักร ซึ่งมีลักษณะบางกว่าผ้าทอด้วยมือประกอบทั้งความงดงามในการพิมพ์ดอก และลวดลายด้วยสีอ่อนสีแก่สลับกัน สวยกว่าผ้าไทยซึ่งมีสีไม่มากนัก คนไทยก็เริ่มนิยมการซื้อผ้าทอด้วยเครื่องจักร ทำให้การทอผ้าด้วยมือลดน้องลง

ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย


            ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย ประเทศไทยก็เริ่มรู้ตัวว่าต้องใช้เงินซื้อผ้าต่างประเทศมากขึ้น ถ้าไม่ชักชวนให้คนไทยใช้ของไทย วิชาการทอผ้าฝ้ายของไทยก็จะต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ถ้าเกิดสงครามไม่สามารถซื้อผ้ามาจากต่างประเทศได้ จะทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ปลูกฝ้าย และทอผ้าฝ้ายมากขึ้นโดยการสร้างโรงปั่นด้าย และโรงทอผ้าต่างๆ ที่จำเป็นใช้ในราชการทหารขึ้นก่อน ต่อมาเกิดสงครามจึงต้องชะงักไป และได้เกิดความขาดแคลนผ้า และเครื่องนุ่งห่ม จนทำให้มีราคาแพงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

            เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ทางราชการก็ส่งเสริมการปลูกฝ้ายอีก โดยนำฝ้ายพันธุ์ดีมาจากต่างประเทศ การทำไร่ฝ้ายเป็นงานหนัก เพราะต้องปลูกใหม่ทุกปี ต้องดูแลพรวนดิน ดายหญ้า ตลอดจนป้องกันศัตรูพืชอย่างเหน็ดเหนื่อย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้แนะนำ และช่วยเหลือการปลูก การบำรุงรักษาตลอดจนแนะนำวิธีการปลูกที่ถูกต้อง ดังนั้น อนาคตของการปลูกฝ้ายในประเทศไทยจึงอยู่ในสภาพที่น่าพอใจ


ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย

ในปัจจุบันนี้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากฝ้ายในกิจการหลายอย่าง ดังจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

            ๑. เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง โสร่ง ผ้าขาวม้า ฯลฯ

            ๒. เครื่องใช้ เช่น สำลี ผ้าพันแผล ม่าน มุ้ง ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

            ๓. เครื่องประกอบในการอุตสาหกรรม ทำสายพานเครื่องจักร ผ้าใบยางรถยนต์ สายสูบส่งน้ำใช้ในการผลิตเส้นใยเทียม ฯลฯ

            ๔. เครื่องบริโภค เมล็ดฝ้ายเมื่อนำมาบีบ จะได้น้ำมันปรุงอาหาร ทำเนยเทียม
            
            ๕. อาหารสัตว์ กากเมล็ดฝ้ายนิยมใช้เป็นอาหารสัตว์

ไร่ฝ้ายกับเศรษฐกิจของประเทศไทย

            ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนไทยใช้ฝ้ายมาตั้งแต่สมัยโบราณ ยิ่งในปัจจุบันนี้มีพลเมืองมากขึ้นก็ย่อมมีความต้องการผ้าเป็นทวีคูณ การปลูกฝ้ายภายในประเทศจึงไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงทอผ้า เป็นเหตุให้ต้องซื้อฝ้ายจากต่างประเทศปีละมากๆ เช่น พ.ศ. ๒๕๑๖ ต้องซื้อฝ้ายถึง ๑,๓๔๖ ล้านบาท ถ้าคนไทยสามารถปลูกฝ้ายให้พอใช้ นอกจากไม่ต้องเสียเงินซื้อของต่างประเทศแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ให้รายได้มั่นคง นอกเหนือไปจากผลิตผลทางเกษตรกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว