เล่มที่ 3
ข้าว
เล่นเสียงเล่มที่ 3 ข้าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ข้าวที่เรารับประทานเป็นอาหารอยู่ทุกวันนี้ เป็นเมล็ดพืชชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลหญ้า ต้นข้าวมีลักษณะภายนอกบางอย่าง เช่น ใบ กาบใบ ลำต้น และรากคล้ายต้นหญ้า ชาวนาซึ่งทำนาอยู่ทั่วไปทุกแห่งของประเทศไทยเป็นผู้ปลูกข้าว ชาวนาที่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวเหนียว และข้าวเจ้า เพราะประชาชนส่วนมากนิยมกินข้าวเหนียว ส่วนชาวนาที่อยู่ในภาคกลาง และภาคใต้ปลูกข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการปลูกข้าวเหนียวบ้างก็เป็นจำนวนน้อย เพราะประชาชนนิยมกินข้าวเจ้า

            ชาวนาเตรียมดินปลูกข้าวโดยใช้แรงสัตว์ เช่น วัว และควาย สำหรับไถนา และคราดนา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีชาวนาทั่วไป ใช้รถแทรกเตอร์ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่เตรียมดินปลูกข้าว แทรกเตอร์ขนาดเล็ก เช่น ควายเหล็ก ทำขึ้นได้เองในประเทศไทย ส่วนแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ จะต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แต่การเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาก็ยังคงใช้แรงคนโดยใช้เคียว หรือกรูด เก็บเกี่ยวรวงข้าวครั้งละหลายๆ รวง ยกเว้นในภาคใต้ ชาวนาใช้แกระเกี่ยวข้าวทีละรวง ส่วนการนวด เพื่อเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงนั้น ชาวนาอาจนวดข้าวด้วยเครื่องนวดซึ่งใช้แรงคน หรือเครื่องยนต์ หรือใช้แรงสัตว์ เพื่อเหยียบย่ำให้เมล็ดหลุดออกจากรวงก็ได้

            พื้นที่นาที่ปลูกข้าวแบบปักดำ โดยเอาต้นข้าวเล็กๆ มีอายุประมาณ ๒๕-๓๐ วัน ไปปลูกเรียกว่า นาดำ พื้นที่นาที่ปลูกข้าวแบบหว่าน โดยเพาะเมล็ดให้งอกเสียก่อน หรือเอาเมล็ดแห้งที่ยังไม่ได้เพาะให้งอก ไปหว่านลงในนาโดยตรง เรียกว่า นาหว่าน การปลูกข้าวแบบปักดำในบ้านเรา จะได้รับผลิตผลสูงกว่าการปลูกแบบหว่านข้าวแห้ง เพราะในนาดำ มีการเตรียมดินสำหรับปูลกข้าวดีกว่านาหว่าน จึงทำให้นาดำมีวัชพืช หรือพืชอื่นๆ ที่ไม่ต้องการน้อยกว่านาหว่าน วัชพืชนี้คอยแย่งอาหารหรือปุ๋ย ที่ใส่ลงไปในนาจากต้นข้าว นอกจากวัชพืชแล้ว ยังมีโรค และแมลงศัตรูข้าวหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลายต้นข้าว ฉะนั้นการปลูกข้าว เพื่อให้ได้ผลิตผลสูง จะต้องมีการกำจัดวัชพืช และป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าวอีกด้วย

            ปกติชาวนาปลูกข้าวในฤดูฝน ซึ่งเรียกว่า นาปี เพราะชาวนาใช้น้ำฝนสำหรับปลูกข้าวแต่ในบางท้องที่ที่มี น้ำชลประทาน ซึ่งได้มาจากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา ชาวนาก็จะปลูกข้าวนอกฤดูฝนด้วย ซึ่งเรียกว่า นาปรัง ข้าวที่ปลูกบนที่ดอน หรือบนภูเขา ซึ่งไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก เรียกว่า ข้าวไร่ ข้าวที่ปลูกในที่ลุ่ม และมีระดับน้ำในนาลึกไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร เรียกว่า ข้าวนาสวน ส่วนมากปลูกแบบปักดำ ส่วนข้าวที่ปลูกในที่ลุ่ม และมีน้ำในนาลึกเกิน ๘๐ เซนติเมตร ขึ้นไปเรียกว่า ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ ทำการปลูกแบบหว่านในบางท้องที่ในเขตจังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก นครนายก และปทุมธานี นาที่ปลูกข้าวนาเมืองในระหว่างเดือนกันยายน และพฤศจิกายน จะมีน้ำลึกประมาณ ๑-๓ เมตร ด้วยเหตุนี้ข้าวไร่จึงมีปลูกมากในภาคเหนือ และภาคใต้ ข้าวนาสวนมีปลูกทั่วไปในทุกภาค ข้าวนาเมืองมีปลูกเฉพาะบางท้องที่ในภาคกลาง และภาคเหนือ และการปลูกข้าวในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวนาสวน รองลงมา ได้แก่ ข้าวนาเมือง และข้าวไร่ตามลำดับ

            นอกจากประเทศไทยแล้วประเทศอื่นๆ ที่มีดินฟ้าอากาศคล้ายๆ ประเทศไทย ก็ปลูกข้าวด้วย เช่น ลาว เขมร เวียดนาม จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย และประเทศต่างๆ ในแอฟริกา และอเมริกาใต้ ส่วนประเทศที่มีอากาศหนาวมากในฤดูหนาว เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น ก็จะปลูกข้าวเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น แม้จะมีหลายประเทศในโลกนี้ ทำการเพาะปลูกข้าว แต่ในบางประเทศเหล่านี้มีประชาชนมากเหลือเกิน จนกระทั่งข้าวที่ปลูกไม่พอสำหรับบริโภคภายในประเทศของเขา จึงจำเป็นต้องซื้อข้าว จากประเทศอื่นๆ สำหรับประเทศไทยเรานั้น สามารถปลูกข้าวได้ผลิดผลมาก จนพอเพียงกับการบริโภคของประชาชน และยังมีข้าวอีกจำนวนมากเหลือจากการบริโภค โดยเหตุนี้ประเทศไทยจึงได้ส่งข้าวไปขายต่างประเทศ และนำรายได้เข้าประเทศ ปีละหลายล้านบาท ปัจจุบัน สินค้าข้าวทำรายได้ให้กับประเทศไทย มากกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ หลายชนิด