การรักษาโรคด้วยการผ่าตัด ทำกันมาทั้งในยุโรป และเอเชีย ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล ในยุโรป การผ่าตัดเริ่มขึ้นในหมู่ช่างตัดผม เห็นจะเป็นเพราะ เครื่องมือที่ใช้ตัดผมมีคม ใช้ผ่าตัดได้โดยไม่เจ็บปวดมากนัก
บาดแผลฉีกขาด ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การผ่าตัดทำได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งสามารถจัดประเภทการผ่าตัดได้ ๔ อย่าง ดังนี้
๑. การรักษาบาดแผล เช่น ถูกแทง กระดูกหัก ม้ามแตก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฯลฯ
๒. การรักษาการอักเสบ การอักเสบอาจเกิดขึ้นที่ส่วนใดในร่างกายก็ได้เห็นได้ง่ายๆ เช่น ฝี หรืออักเสบภายใน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
๓. การรักษาเนื้อร้าย เนื้อร้าย คือ การที่เซลล์ของร่างกายมีความเติบโต และงอกเงยออกมาอย่างผิดปกติ ทำลายเซลล์ของอวัยวะที่ปกติให้หมดไป ทำให้หน้าที่ของอวัยวะเสียไป และยังสามารถแพร่กระจายไปงอกและทำลายที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย ถ้าอวัยวะที่เสียหน้าที่เป็นอวัยวะสำคัญต่อการดำรงชีพ ผู้ป่วยมักถึงแก่ชีวิตในเวลารวดเร็ว การผ่าตัดต้องพยายามเลาะเนื้อร้ายออกให้หมดถ้าทำได้
๔. ศัลยศาสตร์เสริมสร้าง ได้แก่ การแก้ไขความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ แก้ไขหัวใจ ทางเดินอาหารที่ผิดปกติ การปลูกเปลี่ยนหัวใจ และอวัยวะต่างๆ
บาดแผลถูกแทงด้วยฉมวก ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
วิสัญญีแพทย์ คือ แพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยปราศจากความเจ็บปวด ขณะถูกศัลยแพทย์ผ่าตัด เพื่อรักษาโรคบางชนิด วิธีที่จะไม่ให้เจ็บปวดมีอยู่ ๒ วิธี คือ การให้ยาดมสลบ และการฉีดยาชาเฉพาะที่
การให้ยาดมสลบ
จะทำให้ผู้ป่วยหลับสนิทขณะถูกผ่าตัด และเย็บแผล วิธีการให้ยาดมสลบ แบ่งออกได้เป็น ๒ วิธี คือ
๑. ดมยาสลบจากหน้ากาก วิธีนี้ใช้เวลานานพอสมควรจึงจะหลับ
๒. ฉีดยาเข้าหลอดเลือดเพียง ๑ เข็ม ภายในเวลา ๑ นาทีก็หลับสบาย
การให้ยาดมสลบจากหน้ากาก
หลังจากหลับแล้ว วิสัญญีแพทย์จะคอยตรวจดูชีพจร ความดันโลหิต การหายใจและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็น เป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยหลับสบายและปลอดภัย ขณะเดียวกันก็จะให้อาหาร คือ น้ำตาลในน้ำ หรือน้ำตาลในน้ำเกลือ เข้าทางหลอดเลือดดำ แทนอาหารที่ผู้ป่วยอดรับประทานมา ๖ ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด เมื่อศัลยแพทย์ทำงานเสร็จสิ้นลงแล้ว วิสัญญีแพทย์ก็จะปลุกผู้ป่วยให้ตื่น โดยหยุดให้ยาดมสลบ หรืออาจให้ยาแก้เข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้ แล้วแต่ชนิดของยาสลบที่ผู้ป่วยได้รับ
การฉีดยาชาเฉพาะที่
เส้นประสาทที่ได้รับยาชาจะหยุดทำงานชั่วคราว ทำให้ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อของร่างกายที่มีเส้นประสาทนั้นเลี้ยงอยู่ เกิดการชา และหมดความรู้สึกไปด้วย ดังนั้น เวลาผ่าตัดจึงไม่รู้สึกเจ็บปวด มีวิธีทำได้หลายวิธี คือ
แผนภาพแสดงการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณศีรษะก่อนทำการผ่าตัด
๑. ฉีดยาชารอบๆ บริเวณที่จะถูกผ่าตัด เช่น การผ่าตัดถุงน้ำเล็กๆ ที่แขนหรือขา
๒. ฉีดยาชาที่กลุ่มประสาท เช่น ในรายที่กระดูกแขนหัก และแพทย์จะทำการตัดกระดูก หรือต่อกระดูกให้เข้าที่ วิสัญญีแพทย์ก็จะฉีดยาที่กลุ่มประสาทใต้รักแร้ หรือบริเวณเหนือไหปลาร้าข้างเดียวกับแขนที่หัก
๓. ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังส่วนล่าง จะทำให้หน้าท้อง ตั้งแต่ส่วนเหนือสะดือลงไปตลอดขาชา และหมดความรู้สึกเจ็บปวด ขณะแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกขาหัก ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ หรือการผ่าตัดอย่างอื่นอีกหลายชนิด
ผลการชาของยาจะอยู่ได้นานตั้งแต่ ๔๕ นาทีถึง ๓ ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ได้รับ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะพิจารณา และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิด และระยะเวลาของการผ่าตัด เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ความรู้สึกก็จะกลับเป็นปกติอย่างเดิม