การจัดอายุเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง ๑๕ ปี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี้ เป็นการจัดอย่างกว้างขวาง ในทางการแพทย์ได้แบ่งวัยเด็กๆ ไว้เป็นระยะ และมีชื่อเฉพาะดังนี้
ทารกแรกเกิด หมายถึง ช่วงตั้งแต่คลอดจนอายุได้ ๒๘ วัน
ทารก หมายถึง ช่วยตั้งแต่แรกคลอดจนอายุ ๑ ปี
เด็กวัยก่อนเรียนหรือปฐมวัย หมายถึง อายุระหว่าง ๒-๖ ปี
เด็กวัยเรียน หมายถึง อายุ ๗-๑๕ ปี
เด็กวัยรุ่น (หนุ่ม - สาว) ถ้าเป็นหญิง หมายถึง ระหว่างอายุ ๑๒ - ๑๗ ปี
ถ้าเป็นชาย หมายถึง ระหว่างอายุ ๑๔-๑๙ ปี
ในทางการแพทย์ เด็กที่มีคุณภาพ หมายถึง เด็กที่มีสุขภาพดี และเป็นสุข ซึ่งประกอบด้วย
๑. มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย ปราศจากความพิการและโรค
๒. สมองและเชาวน์ปัญญาปกติ
๓. จิตใจ และอารมณ์ปกติ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
วัยเด็กเป็นวัยที่รับประสบการณ์ของชีวิตอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ซึ่งต้องการความช่วยเหลือทุกด้าน จนกระทั่งเริ่มช่วยตัวเองได้ทีละนิด และช่วยตัวเองได้เต็มที่ตามอายุและวัยที่ผ่านไป แม้ว่าช่วงระยะของความเป็นเด็กจะค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของคนแต่ละคน แต่ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความหมาย และมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินชีวิต เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
จากรายงานของสถาบันประชากรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดทำขึ้น เนื่องในปีเด็กสากล เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๒ เกี่ยวกับสถานภาพ และสุขภาพเด็กของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๕) ได้พบว่า
เด็กในโลก ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีทั้งสิ้น ๑,๔๙๓ ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ ๓๖ ของประชากรของโลก
เด็ก
๖๐๔
ล้านคน ไม่ได้รับบริการทางแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ
๒๓๐
ล้านคน มีสภาพทุพโภชนา
๔๑๗
ล้านคน มีสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม
๕๙๐
ล้านคน ไม่มีน้ำดื่มที่ปลอดภัย
๗๒
ล้านคน ได้รับความทรมานจากอาการทุพพลภาพอย่างมาก
และ
๕
ล้านคน จะตายทุกปีด้วยโรคติดเชื้อที่สำคัญ ๖ ชนิด
สำหรับในประเทศไทยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีถึงร้อยละ ๔๕ ของประชากรของประเทศ และร้อยละ ๘๕ อาศัยอยู่ในชนบท เพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเมือง