เล่มที่ 8
อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
เล่นเสียงเล่มที่ 8 อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อุบัติเหตุ

            อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เกิดขึ้นแก่มนุษย์ได้ทุกผู้ทุกวัย มีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย เช่น หกล้มมีบาดแผลถลอกของแขนรุนแรงขึ้นไป จนถึงอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน ที่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตคราวละมากๆ

บริเวณที่มีการก่อสร้าง
เป็นแหล่งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้เสมอ

            เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ได้ปรากฏชัดเจนในปัจจุบันว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหลายๆ ชนิดสามารถป้องกัน และรักษาได้ดีและรวดเร็วขึ้น สถิติของผู้ป่วยด้วยโรคไข้จับสั่น วัณ โรคปอด โรคท้องร่วงลดลงทุกปี อัตราตายของผู้ที่ป่วยด้วยด้วยโรคติดเชื้อเหล่านี้ลดลงอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน บ้านเมืองก้าวหน้าด้านวัตถุเพิ่มขึ้น ประชากรหนาแน่น มีการใช้ยวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นใช้เครื่องจักรกล มีการแข่งขันด้านความเร็วทั้งการคมนาคมและการผลิต ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุล้ำหน้าสถิติการเกิดโรค จนปรากฏว่า สถิติคนตายจากอุบัติเหตุในประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่หนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมานอกจากคนกลุ่มหนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ จนเป็นภาระแก่ครอบครัวและแก่สังคม ตลอดจนทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่สูญสิ้นไปทุกวันจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วประเทศอยู่ทุกๆ นาที

            การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในอนาคต ขึ้นอยู่กับการศึกษาถึงสาเหต ุและสถิติการเกิดอุบัติเหตุของบุคคลและหน่วยงาน โดยหลายฝ่ายและหลายระดับควบคู่กันไป เริ่มตั้งแต่ตัวเราเองว่า เรามักประสบอุบัติเหตุประเภทไหนบ่อย มีสาเหตุจากอะไรบ้าง อยู่ที่ตัวเราเองผิด หรือสิ่งแวดล้อมไม่ดี ในบ้านเรือนที่ยู่อาศัย มีสาเหตุใดบ้างที่ส่อไปว่า น่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อสงสัยแล้วให้รีบแก้ไข ในวงกว้างออกไป คือ โรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงงาน ท้องถนน ยานพาหนะ ที่เราใช้สัญจร มีสิ่งใดบ้างที่น่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ตัวเราได้ ควรหลีกเลี่ยง และหาทางแก้ไข ส่วนผู้ที่ควบคุมบริหารหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้บริหารประเทศ ควรสนใจศึกษา หาทางทำให้สถิติอุบัติเหตุในประเทศลดลง

            การให้การศึกษาแก่ประชาชนในการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นการศึกษาต่อเนื่อง โดยเริ่มอบรมสั่งสอนเด็กให้ระมัดระวัง เรียนรู้การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่ใกล้ตัวตั้งแต่เยาว์วัย โดยบิดามารดา หรือผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้แนะนำ เมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว ครูมีหน้าที่อบรมสั่งสอนเรื่องอุบัติเหตุเพิ่มเติม เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บุคคลยังต้องเรียนรู้ถึงการหลีกเลี่ยงและป้องกันอุบัติเหตุอยู่เรื่อยไปไม่หยุดยั้งเพราะความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้บุคคลที่มีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุได้ทุกวินาที จึงต้องอยู่ด้วยความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ

การปฐมพยาบาล

หลักสำคัญในการปฐมพยาบาล มีดังต่อไปนี้ คือ

            ๑. เมื่อพบเห็นผู้บาดเจ็บ ควรดูให้แน่นอนว่าผู้ป่วยมีเลือดออกหรือไม่ ออกจากที่ใดบ้าง มีความรุนแรงของบาดแผลแค่ไหน ถ้ามีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือดเป็นอันดับแรก

การสาธิตวิธีการลำเลียงผู้ป่วยจมน้ำ
และผู้ป่วยกระดูกสันหลังหัก

            ๒. ถ้าผู้ป่วยไม่มีเลือดออก ให้ตรวจดูว่าร่างกายอบอุ่นหรือไม่ ถ้าร่างกายเย็นชื้น แสดงว่าผู้ป่วยอาจมีอาการช็อค ควรห่มผ้าให้อบอุ่น ให้นอนศีรษะต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย

            ๓. ควรตรวจดูปากของผู้ป่วยว่ามีสิ่งอาเจียน หรือสิ่งอื่นใดอุดตันหรือไม่ ถ้ามี ให้รีบล้วงออกเสียเพื่อมิให้อุดตันทางเดินหายใจ หรือมิให้สำลักเข้าปอด

การสาธิตวิธีการลำเลียงผู้ป่วยจมน้ำ
และผู้ป่วยกระดูกสันหลังหัก

            ๔. ตรวจดูให้แน่ว่าผู้ป่วยหายใจขัดหรือหยุดหายใจหรือไม่ ถ้าหยุดหายใจให้รีบทำการผายปอด และตรวจคลำชีพจรของเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอว่ายังเต้นเป็นจังหวะหรือไม่ ถ้าคลำชีพจรไม่พบหรือเบามาก ให้จัดการนวดหัวใจด้วยวิธีกดหน้าอกต่อไป

            ๕. ตรวจดูส่วนต่างๆ ของร่างกายว่ามีบาดแผล รอยฟกช้ำ กระดูกหัก ข้อเคลื่อนหรือไม่ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ ให้ปฏิบัติการปฐมพยาบาลแล้วแต่กรณี เช่น ปิดบาดแผล เข้าเฝือกชั่วคราว เป็นต้น

            ๖. ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ถ้าหากต้องการเคลื่อนย้ายควรทำให้ถูกวิธี และมีผู้ช่วยเหลือหลายคนช่วยกัน

            ๗. คลายเสื้อผ้าที่รัดร่างกายออก

            ๘. อย่าให้คนมามุงดุ เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

            ๙. พยายามปลอบใจผู้ป่วยอย่าให้ตื่นเต้นตกใจ อย่าให้ผู้ป่วยมองเห็นบาดแผล และรอยเลือดของตน

            ๑๐. ตามแพทย์มาสถานที่เกิดเหตุ หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว