เล่มที่ 9
นิติเวชศาสตร์
เล่นเสียงเล่มที่ 9 นิติเวชศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ในปัจจุบันนี้ วิชาแพทย์ได้ใช้วิชาวิทยาศาสตร์หลายสาขา สำหรับเป็นความรู้พื้นฐาน และวิชาแพทย์ ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นสาขาวิชาเฉพาะมากมาย ในจำนวนวิชาแพทย์สาขาต่างๆ เหล่านี้อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น วิชากายวิภาคศาสตร์ กล่าวถึง ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย วิชาสรีรวิทยา กล่าวถึง การทำงาน และหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย วิชาพยาธิวิทยา กล่าวถึงต้นเหตุของโรค การเกิดโรค และความผิดปกติ ของอวัยวะที่เป็นโรคเหล่านี้ เป็นต้น กับวิชาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า วิชาการแพทย์คลินิก ได้แก่วิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย เช่น วิชาสูติศาสตร์ กล่าวถึงการตั้งครรภ์ การคลอด รวมทั้งการบริบาลทารกหลังคลอด วิชานรีเวชวิทยา กล่าว ถึงโรคเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง วิชากุมารศาสตร์ กล่าวถึงโรคต่างๆ ในเด็ก วิชาอายุรศาสตร์ กล่าวถึงโรคที่ต้องรักษาทางยา ศัลยศาสตร์ กล่าวถึงโรคที่ต้องรักษาทางผ่าตัด เป็นต้น นอกจากนั้น วิชาต่างๆ ในกลุ่มนี้ยังแบ่งแขนงย่อยลงไปตามอวัยวะระบบต่างๆ อีกด้วย เช่น วิชาตัจจวิทยา กล่าวถึงโรคผิวหนัง ประสาทวิทยา กล่าวถึง โรคประสาท จักษุวิทยา กล่าวถึงโรคของตา เป็นต้น

ในระหว่างกลุ่มวิชา ๒ กลุ่มดังกล่าวแล้ว นิติเวชศาสตร์ นับว่า เป็นวิชาคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างกลุ่มวิชาทั้งสองนั้น เพราะเป็นวิชาที่รวบรวมวิชาแพทย์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่จะให้ข้อมูลแก่ศาล หรือตำรวจ (พนักงานสอบสวน) เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น อาทิเช่น เมื่อมีการทำร้ายร่างกาย มีบาดแผล แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลก็ต้องใช้วิชาว่าด้วยบาดแผล ให้ความเห็นต่อศาลว่า บาดแผลนั้นน่าจะเกิดจากอาวุธประเภทใด บาดแผลนั้นรุนแรงมากน้อยเท่าใด

ถ้ามีการตายเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือโดยการถูกทำร้าย แพทย์ก็ต้องอาศัยวิชาที่กล่าวถึงเหตุของโรค และเหตุของการตายต่างๆ เพื่อทำการตรวจชันสูตรศพนั้น และหาข้อมูล ให้ความเห็นแก่ตำรวจหรือศาลต่อไป บางรายก็มีการตายโดยสารพิษ หรือยาพิษ การพิสูจน์จำต้องเอาอวัยวะต่างๆ จากผู้ตายมาตรวจวิเคราะห์หาสารพิษ โดยอาศัยวิชาเคมีที่กล่าวถึงการตรวจวิเคราะห์เข้ามาช่วย นอกจากมีการตรวจผู้บาดเจ็บ ตรวจศพแล้ว แพทย์ยังต้องทำการตรวจวัตถุพยานต่างๆ เช่น คราบเลือด คราบน้ำลาย คราบอสุจิ เป็นต้น นอกจากผู้บาดเจ็บ ผู้ตาย และวัตถุพยานต่างๆ แล้ว ตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำผิด ก็อาจจะถูกส่งมาให้แพทย์ตรวจหาร่องรอยการกระทำผิด หรือตรวจหาว่า ผู้นั้นจะต้องรับผิดมากน้อยเท่าใด สภาพจิตของเขาเป็นอย่างไร วิกลจริตหรือไม่ ปัญญาอ่อนหรือไม่ ในคดีความผิดเกี่ยวกับการจราจร ผู้ต้องหาจะถูกส่งไปให้แพทย์พิสูจน์ว่า มึนเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ในคดีแพ่งที่มีการฟ้องขอให้รับรองบุตร หรือฟ้องไม่รับเด็กเป็นบุตร แพทย์จะทำการตรวจหมู่เลือดพิสูจน์ว่า เด็กนั้นจะเป็นบุตรของคู่กรณีนั้นได้หรือไม่ งานของแพทย์ในการให้บริการต่อตำรวจหรือศาลดังได้กล่าวมาแล้ว รวมอยู่ในวิชานิติเวชศาสตร์ทั้งสิ้น