เล่มที่ 9
โรคมะเร็ง
เล่นเสียงเล่มที่ 9 โรคมะเร็ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            มนุษย์ทุกคนย่อมจะต้องผจญกับโรคภัยไข้เจ็บเป็นธรรมดา มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีอันตราย และร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดได้กับมนุษย์ทุกชนชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัยและทุกฐานะ ในประเทศไทย โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญาทางสาธารณสุข ของประเทศ เพราะขณะนี้ในปีหนึ่งๆ ชาวไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับที่ ๒ รองจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ชาวไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้

ระบบเลือดไหลเวียน ระบบอวัยวะ และระบบโครงกระดูก

            มะเร็งมีลักษณะเป็นแผล หรือเป็นก้อน หรืออาจจะเป็นแบบกระจายไปทั่วระบบอวัยวะ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว จะกระจายไปทั่วระบบเลือดไหลเวียน เป็นต้น มะเร็งห รือเนื้องอกชนิดร้าย แตกต่างไปจากเนื้องอกชนิดธรรมดา คือ จะมีโทษต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ก้อนมะเร็งจะโตเร็วมาก ทำให้เน่าและมีกลิ่นเหม็น มันจะทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่ดีบริเวณข้างเคียงอย่างมาก เช่น ทำลายหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออก ทำลายเส้นประสาท หรือแม้แต่กระดูก ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก นอกจากนั้น มะเร็งยังสามารถกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ที่อยู่ไกลออกไป โดยการที่เซลล์มะเร็งหลุดเข้าไปในกระแสเลือด กระแสน้ำเหลือง หรือหลุดไปตามพื้นผิวของช่องต่างๆ ในร่างกาย เช่น ในช่องท้อง เป็นต้น

            มะเร็งมี ๒ ชนิด คือ มะเร็งที่เกิดกับเยื่อบุอวัยวะ หรือช่องทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งของช่องปาก มะเร็งปอดหรือหลอดลม เป็นต้น มะเร็งพวกนี้มักจะมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้บ่อย และมะเร็งของเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น มะเร็งของกล้ามเนื้อ มะเร็งกระดูก เป็นต้น มะเร็งพวกนี้ มักจะมีการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดได้ง่าย สำหรับชาวไทย ในเพศชายจะเป็นมะเร็งของช่องปาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในขณะที่เพศหญิงมักจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก และมะเร็งผิวหนัง มากตามลำดับ

แหนม ปลาส้ม ปลาร้า เป็นอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง แต่ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนก็จะปลอดภัย


            เซลล์มะเร็งเกิดจากเซลล์ปกติ โดยที่เซลล์ปกติมีการพิการ หรือการผิดปกติที่ยีนภายในโครโมโซม ซึ่งเป็นรหัสชีวิต ที่ควบคุมลักษณะหน้าที่การทำงานเซลล์ สาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ อย่างคือ ปัจจัยภายในร่างกาย อันได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล เชื้อชาติ เพศ อายุ และกรรมพันธุ์ ซึ่งมีส่วนควบคุมให้เกิดมะเร็งได้ยากง่ายต่างกัน และปัจจัยภายนอกร่างกายได้แก่ การระคายเรื้อรัง เช่น ฟันที่ครูดเยื่อบุในปากอยู่เสมอๆ การดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อนจัด ทำให้เกิดเป็นมะเร็งในช่องปาก หรือหลอดอาหาร หรือการที่ร่างกายได้รับสารต่างๆ มีคุณสมบัติทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า "สารคาร์ซิโนเจน" หรือสารก่อมะเร็ง เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน ควันบุหรี่ สีย้อมผ้าที่ผสมมาในอาหาร ขนม อาหารประเภทเนื้อสัตว์หมัก เช่น ปลาร้า ฯลฯ ยาที่ผสมสารหนู หรือฮอร์โมนสารพิษจากเชื้อราที่ชอบขึ้นในถั่ว หรือที่เรียกว่า อะฟลาทอกซิน รังสี และเชื้อไวรัส เหล่านี้สามารถจะทำให้เกิดมะเร็งได้ทั้งสิ้น

แหนม ปลาส้ม ปลาร้า เป็นอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง แต่ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนก็จะปลอดภัย

            มะเร็งในระยะที่เพิ่มเริ่มเป็นจะไม่มีอาการแต่อย่างใด อาการของโรคมะเร็งจะเป็นไปตามลักษณะอาการของอวัยวะนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นมะเร็งที่ปอด ก็จะมีอาการไอหรือไอเป็นเลือด เป็นต้น มักจะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตด้วยเสมอ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มะเร็งจะกระจายไปเกิดที่อวัยวะอื่นๆ และทำให้มีอาการของอวัยวะนั้นด้วย เช่น กระจายไปที่สมอง ก็จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ หมดสติ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งยังมีอาการทั่วๆ ไปอีก คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซูบซีด และผอมแห้ง

แหนม ปลาส้ม ปลาร้า เป็นอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง
แต่ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อน ก็จะปลอดภัย

            การป้องกันโรคมะเร็งอาศัยมาตรการ ๒ อย่าง คือ การรักษาสุขภาพ และพลานามัยให้แข็งแรงอยู่เสมอ และการสนใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อจะได้ทราบว่า มีสารอะไรบ้างที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ และพยายามหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้เสีย นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบว่า มีอาการอะไรบ้างที่น่าจะเป็นอาการของมะเร็ง เช่น การมีแผลเรื้อรังที่ไม่รู้จักหาย การมีก้อนผิดปกติในร่างกาย การไอเรื้อรัง การผิดปกติของระบบขับถ่าย การเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝที่มีมาก่อน การมีน้ำ น้ำเหลือง หนอง หรือเลือด ที่ผิดปกติ ไหลออกจากทวารต่างๆ ของร่างกาย และการผิดปกติของประจำเดือน ซึ่งถ้ามีอาการต่างๆ เหล่านี้ จะได้รีบไปปรึกษาแพทย์ ถ้าเป็นมะเร็งก็จะสามารถรู้ตัว เมื่อยังเป็นน้อยอยู่ และรักษาให้หายขาดได้

แหนม ปลาส้ม ปลาร้า เป็นอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง
แต่ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อน ก็จะปลอดภัย

            การรักษาโรคมะเร็ง ขึ้นอยู่กับว่า โรคเป็นน้อยหรือเป็นมาก มะเร็งเมื่อยังเป็นน้อยสามารถจะรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้ จนโรคเป็นมากแล้ว มักจะเสียชีวิตทุกราย การรักษาจะเพียงบรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น การรักษาใช้วิธีผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก หรือโดยการฉายรังสีไปยังบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็ง หรือการใช้ยารักษา หรืออาจจะใช้ทั้ง ๓ วิธีนี้ร่วมกัน ในกรณีที่เป็นมากแล้ว อาจจะใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด กระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งทำให้โรคทุเลาลงชั่วคราว และในระยะสุดท้ายของโรค การรักษาด้วยจิตวิทยาเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นมาก

            ผลการรักษาโรคมะเร็งจะดีหรือเลว มิได้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ต้องสนใจต่อสุขภาพของตนเอง มารับการรักษา เมื่อโรคยังเป็นน้อย และร่วมมือต่อการรักษาดี ย่อมจะได้ผลดี อย่าลืมว่า มะเร็งในระยะที่เป็นน้อย สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ดี แต่ถ้าเป็นมากแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย