ความมุ่งหมายในการผลิตชิ้นงานหัตถกรรมในระยะแรก ก็เพียงเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน สำหรับใช้ภายในครอบครัว ต่อมามีการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อแจกจ่ายในหมู่ญาติมิตร และขายไปบ้างพอเป็นค่าเหนื่อย แต่ก็ขายเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ต่อมามีการพัฒนากรรมวิธีการผลิต และดัดแปลงรูปแบบให้แปลกแตกต่างกันออกไป เพื่อนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ภายในท้องถิ่น หรือต่างท้องถิ่น เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ก็สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าสูง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของส่วนรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน
เครื่องปั้นดินเผาจากภาคเหนือ
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตในประเทศไทย มีเป็นจำนวนมากหลายชนิด และมีการผลิตอยู่ทั่วไป ในแต่ละภาคของประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกันไปดังนี้
๑. ภาคเหนือ
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ร่มทำด้วยกระดาษสา ผลิตภัณฑ์อื่นจากกระดาษสา เครื่องใช้ในบ้านเรือนไม้ เครื่องปั้น ดินเผา ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม และผ้าฝ้าย เครื่องนุ่งห่มพื้นเมือง และเครื่องจักสาน เป็นต้น
ผ้าทอมือของภาคอีสาน
๒. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคนี้มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ผ้าทอชนิดต่างๆ จากไหมและฝ้าย ลักษณะเด่นของผ้าคือ ลวดลายของการทอ ได้แก่ ผ้าทอลายขิต และมัดหมี่ เป็นต้น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ซึ่งแตกต่างกับเครื่องปั้นดินเผาจากภาคเหนือ เพราะเนื้อดินตามธรรมชาติ ที่นำมาใช้ในการผลิต มีธาตุเหล็กผสมอยู่ด้วย จึงมีสีแดงออกดำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานชนิดต่างๆ เช่น กระติบข้าว และหวด
๓. ภาคตะวันออก
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคนี้ ได้แก่ เสื่อกก และผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก เช่น กระเป๋า ที่ใส่ซองจดหมาย ที่ใส่กระดาษชำระและ กระดาษเช็ดหน้า ที่รองแก้ว และที่รองเท้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสานชนิดต่างๆ จากไม้ไผ่และหวาย
การแกะรูปหนังตะลุง
๔. ภาคกลาง
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตในภาคกลางมีอยู่เป็นจำนวนหลายชนิดด้วยกัน เช่น เครื่องจักสานจากไม้ไผ่และหวาย เพชรพลอยเจียระไน เครื่องประดับ อัญมณี เครื่องประดับเทียม เครื่องใช้ในการเดินทาง ทำด้วยหนังแท้ หนังเทียม ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองลงหิน และทองเหลือง ตุ๊กตาชนิดต่างๆ กรอบรูป กรอบกระจก เครื่องใช้ในบ้านทำด้วยไม้
๕. ภาคใต้
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในภาคใต้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เครื่องใช้ และเครื่องประดับถมเงิน และถมทอง ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ แผ่นหนังแกะสลัก และผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย เป็นต้น
การผลิตเครื่องใช้จากโลหะเงิน
ลักษณะการผลิตผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมโดยทั่วไป ทำการผลิต ทั้งในรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก
การผลิตสินค้าหัตถกรรม ผู้ผลิตจะต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ การถ่ายทอดมาจากครูหรือผู้รู้ จึงจะสามารถสร้างชิ้นงานหัตถกรรมได้ประณีตงดงาม
การเชิดหนังตะลุง
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องกระทำ และสามารถทำได้ ทั้งในด้านการออกแบบ การคิดค้นหาวัสดุที่แปลกใหม่มาใช้ในขบวนการผลิต และกรรมวิธีการผลิต ตลอดจนการนำเอาเทคนิค และเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาใช้ เป็นต้น
ตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมแบ่งออกเป็นสองตลาดคือ ตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ตลาดในประเทศ
โดยทั่วไปจะจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยจะมีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านขายของที่ระลึก และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ตลาดต่างประเทศ
มีสินค้าหัตถกรรมของไทยหลายชนิด ที่สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างแพร่หลาย เช่น เพชรพลอยเจียระไน เครื่องประดับอัญมณี ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา ผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องจักสาน เครื่องทองลงหิน และกรอบรูป เป็นต้น
การขายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว
ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของไทยมีอนาคตสดใส เพราะผู้ผลิตส่งออกของไทย ได้ศึกษาติดตามข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค และมีการพัฒนาคุณภาพ และรูปแบบสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสามารถขยายการส่งออกได้กว้างขวางยิ่งขึ้น