เครื่องปั้นของไทยโบราณ มีหลักฐานว่า ผลิตกันมานาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นต้นมา เป็นเวลากว่าห้าพันปีมาแล้ว ในส่วนของเครื่องปั้นสมัยประวัติศาสตร์สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
เครื่องปั้นทวารดี (ระหว่างประมาณ พ.ศ.๑๑๐๐-๑๖๐๐)
เป็นภาชนะรูปร่างต่างๆ เช่น หม้อสีสัน และกาน้ำ มีทั้งชนิดเนื้อหยาบ และชนิดเนื้อละเอียด
ชุดเครื่องปั้นไทยโบราณ
เครื่องปั้นภาคใต้ (ประมาณ พ.ศ.๑๓๐๐-๑๘๐๐)
เป็นเครื่องปั้นเนื้อดินสีขาวถึงสีส้มนวล เนื้อแข็ง ได้แก่ จานแบน จานเชิง หม้อ กาน้ำรูปกลม หรือกุณฑี และอื่นๆ
เครื่องปั้นหริภุญชัย (ระหว่างประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐-๑๙๐๐)
เป็นเครื่องปั้นเนื้อหยาบ สีค่อนข้างขาวถึงสีส้ม ส่วนใหญ่เป็นหม้อมีเชิง และกุณโฑ ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำรูปร่างคล้ายกุณฑี แต่คอเล็กยาว
เครื่องปั้นดินเผาภาคเหนือเคลือบสีน้ำตาลและสีเขียว
เครื่องปั้นลพบุรี (ระหว่าง พ.ศ.๑๔๐๐-๑๘๐๐)
ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบมีไห อ่าง กระเบื้องมุงหลังคา จาน ชาม กระปุก ฯลฯ
เครื่องปั้นภาคเหนือ (ระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๒๐๐)
ส่วนใหญ่เป็น เครื่องปั้นเคลือบสีเขียวไข่กา แหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่แหล่งเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบ
- แหล่งสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นเคลือบสีน้ำตาล หรือเคลือบสีเขียว
- แหล่งบ้านโป่งแดง จังหวัดเชียงราย เป็นเครื่องเคลือบลักษณะคล้ายของแหล่งเวียงกาหลง
- แหล่งวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นเครื่องเคลือบสีเขียวแบบเซ- ลาดอน
- แหล่งห้วยแม่ต่ำ จังหวัดพะเยา เป็นเครื่องเคลือบสีน้ำตาล หรือเคลือบสีเขียว ลักษณะคล้ายเครื่องเคลือบสันกำแพง
- แหล่งเมืองสุโขทัย เรียก สังคโลก มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่สองแหล่ง คือ ที่เมือง ศรีสัชนาลัย และที่เมืองสุโขทัย
- แหล่งเมืองศรีสัชนาลัย ผลิตภาชนะต่างๆ เช่น โอ่ง ไห และเครื่องประดับทางสถาปัตยกรรม มีกระเบื้องเคลือบมุมหลังคา ตุ๊กตาขนาดต่างๆ รูปสัตว์ เป็นเครื่องเคลือบเนื้อละเอียด ส่วนที่แหล่งเมืองสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบเนื้อหยาบ
เครื่องปั้นภาคกลาง
เริ่มเมื่อสถาปนาอาณาจักรอยุธยา หรือประมาณ พ.ศ.๑๙๐๐-๒๓๐๐ แหล่งผลิตได้แก่
- แหล่งแม่น้ำน้อย หรือแหล่งวัดพระ ปรางค์ ริมแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ผลิตเครื่องปั้น สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ครก อ่าง กระปุก กาน้ำ จาน ขวด ท่อน้ำมีลวดลาย บางส่วนส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง
- แหล่งบ้านปูนริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเครื่องปั้นชนิดไม่เคลือบ ผลิต ชาม จาน กระปุก ไห กุณโฑ
เครื่องเคลือบลายน้ำทอง
เครื่องเบญจรงค์
เป็นเครื่องเคลือบห้าสี คือ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และ สีเขียว เริ่มผลิตขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ มีการสั่งทำ และนำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้ในตอนปลายสมัยอยุธยา
เครื่องเคลือบลายน้ำทอง
ผลิตขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนเช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ ในราว พ.ศ. ๒๒๐๐ เป็นเครื่องเคลือบที่เขียนลวดลายด้วยวิธีลงยา แต่ลงพื้นภาชนะด้วยสีทอง ที่ทำจากทองคำ สวยงามมาก
เครื่องมือรีดดินเพื่อไล่อากาศและน้ำ
การทำเครื่องปั้นดินเผา แบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบ การขึ้นรูป การตากและเผา การตกแต่ง และการเคลือบ
วัตถุดิบสำหรับทำเครื่องปั้นที่สำคัญคือ ดิน ซึ่งมีหลายชนิด คุณภาพแตกต่างกันไป แล้วแต่แหล่งกำเนิด ดินคุณภาพดีที่สุด มีความบริสุทธิ์สูงคือ ดินขาว หรือดินเคโอลิน สีขาวหม่น สามารถทนความร้อนได้สูงระหว่าง ๑,๔๐๐-๑,๕๐๐ องศาเซลเซียส สำหรับใช้ทำเครื่องถ้วยได้งดงามมาก วัตถุอื่นนอกจากดิน ได้แก่ หินประเภทต่างๆ เช่น หินฟันม้า (เฟลด์สปาร์) หินเขี้ยวหนุมาน (ควอตซ์) เป็นต้น หินที่ผสมลงในดินจะช่วยให้เครื่องปั้นมี เนื้อแข็งแกร่งทนไฟ ลดการหดตัว นอกจากวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้แล้ว ยังมีการผสมวัตถุดิบ อื่นๆ เพื่อให้เครื่องเคลือบมีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เช่น ให้เนื้อโปร่งแสง ทนไฟ หรือทำให้ผิวเคลือบมีความแวววาวสวยงามอีกด้วย
ดินที่ได้จากการรีด นำมาปั้นขึ้นรูป
เมื่อมีวัตถุดิบต่างๆ พร้อมแล้ว ต้องนำเอาดินและหินมาทำให้สะอาด บดให้ละเอียด แล้วผสมให้ได้ที่ตามส่วนที่ต้องการ จากนั้นนวดให้เข้ากัน เพื่อจะได้ใช้ในการขึ้นรูปต่อไป ขั้นนี้เรียกว่า การเตรียมตัวดิน
๑. บดดินหรือหินให้เป็นผง โดยใช้เครื่องมือบดชนิดต่างๆ แล้วร่อนด้วยตะแกรงร่อน ให้ได้ขนาดความละเอียดตามต้องการ
๒. ล้างดินด้วยตะแกรงร่อนหรือเครื่องมือ เพื่อแยกเอาสิ่งเจือปน เช่น กรวด ทราย เศษไม้ ออกจากดิน
๓. ผสมวัตถุดิบต่างๆ เข้าด้วยกัน อาจผสมปนกับน้ำในหม้อผสม เรียก ผสมเปียก หรือนวดผสมกันเรียก ผสมหมาด หรือผสมวัตถุดิบ ที่บดเป็นผงละเอียด จนคลุกเคล้าเข้าด้วยกันเรียก ผสมแห้ง ก็ได้
ชิ้นงานที่ปั้นแล้วนำมาตากเพื่อให้แห้งก่อนนำไปเผา
๔. แยกเหล็กออกจากเนื้อดิน โดยใช้เครื่องมือแยกเหล็ก
๕. หมักดินที่ผสมดีแล้วไว้ในอ่างปูน หรือโอ่งดิน โดยใส่น้ำให้ดินมีความ ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อให้เนื้อดินมีความเหนียว
เผาเตาชนิดใช้ฟืน (มองจากด้านหน้า)
๖. อัดดิน โดยใช้เครื่องขัดดินไล่น้ำออก เนื้อดินจะจับตัวเป็นแผ่น เหมาะ สำหรับนวด
๗. นวดดิน เพื่อให้เนื้อดินผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และไล่ฟองอากาศออกจากดิน ทำโดยใช้เครื่องรีดดิน แล้วนวดต่อด้วยมือ
ดินที่ผ่านการเตรียมดินตามขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้แล้ว จะมีความเหนียว และความชื้นพอเหมาะ ที่จะนำไปขึ้นรูป ตาก เผา ตกแต่ง และเคลือบ ต่อไป