เล่มที่ 21
การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
เล่นเสียงเล่มที่ 21 การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ทรัพยากรธรรมชาติ

            ในอดีต ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนบกและในน้ำ การเร่งรัดพัฒนาประเทศ ที่เริ่มต้น เมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว โดยมิได้ระมัดระวัง และให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่ควร ทำให้มีการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง มิได้คำนึงถึงอัตราการเกิดทดแทน หรือการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ดังนั้นในปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ จึงอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม สร้างข้อจำกัดของการพัฒนา ในระยะต่อไป ในขณะนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการ และเอกชน จะต้องหันมาสนใจ และร่วมมือกัน เพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ให้สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งในเมือง และในชนบท และการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตลอดไป




ประชาชนช่วยกันปลูกป่า เพื่อฟื้นสภาพป่าให้สมบูรณ์

ตามหลักวิชาการ จัดประเภททรัพยากรธรรมชาติ ออกเป็น ๓ ประเภทที่สำคัญ ดังนี้

            ๑. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมด หรือสูญหายไป เราสามารถใช้ทรัพยากร ประเภทนี้ได้อย่างไม่จำกัด เนื่องจากธรรมชาติสร้างให้มีใช้อยู่ตลอดเวลา ได้แก่ บรรยากาศ น้ำที่อยู่ในวัฏจักร ซึ่งเกิดจากการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของน้ำ กล่าวคือ เมื่อน้ำตามที่ต่างๆ ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ก็จะระเหยกลายเป็นไอน้ำ ลอยขึ้นไปบนบรรยากาศ เมื่อกระทบกับความเย็นก็จะรวมตัวเป็นละอองน้ำเล็กๆ ลอยจับตัวกันเป็นกลุ่มเมฆ เมื่อจับ ตัวกันมากขึ้นและกระทบกับความเย็น ก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นโลก แล้ว ไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร และไหลออกสู่ทะเล เป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียน ต่อเนื่องกันตลอดเวลา ทำให้มีน้ำเกิดขึ้นบนผิวโลกอยู่สม่ำเสมอ ทรัพยากรประเภทนี้รวมทั้ง แสงแดด ลม และทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ อีกด้วย

            ๒. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมด แต่สร้างทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น ป่าไม้ ดิน ที่ดิน แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า และสัตว์ป่า เป็นต้น ทรัพยากรประเภทนี้เมื่อใช้แล้ว จะสามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ อย่างไรก็ดี การใช้ประโยชน์ก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้มากเกินต้องการ และเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นมาทดแทนได้ มิฉะนั้นทรัพยากรชนิดนั้นก็จะร่อยหรอ เสื่อมโทรมลง และสูญสิ้นไป การเสื่อมโทรมและ สูญสิ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรชนิดอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ และอยู่ในสภาพ แวดล้อมเดียวกัน



ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์

            ๓. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่มีการสร้างทดแทนได้ เช่น แร่ น้ำมัน ที่ดิน ในสภาพธรรมชาติ แหล่งที่เหมาะสมสำหรับศึกษาธรรมชาติ แหล่งธรรมชาติที่หาดูได้ยาก แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งสภาพธรรมชาติใดๆ ที่ถูกใช้ไปแล้ว ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนเดิมอีก เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน เมื่อนำมาใช้ประโยชน์ก็จะหมด สิ้นไป โดยธรรมชาติไม่อาจจะสร้างขึ้นทดแทนได้ในชั่วอายุของคนรุ่นปัจจุบัน ทรัพยากร ประเภทนี้ควรใช้โดยประหยัดที่สุด คุ้มค่า และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากรประเภทที่ดินสวยงามในสภาพธรรมชาติ เช่น แพะเมืองผี ที่จังหวัดแพร่ เกิดจาก การกัดกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้มีรูปร่างลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่สนใจของนักท่อง เที่ยวผู้ไปเยี่ยมชมมากมาย เราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาไว้ ให้คงสภาพตามธรรมชาติให้นาน ที่สุด



เหมืองแร่ ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง จะเกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนา

            คือ การเปลี่ยนแปลงชีวาลัย (Biosphere) อันเป็นบริเวณที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ได้แก่ บริเวณที่เป็นมหาสมุทร ที่ซึ่งมีน้ำจืด บรรยากาศ และชั้นดินบางส่วน โดยการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพย์สินเงินทอง ทรัพยากรที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้มีคุณภาพ

            การพัฒนาสามารถยั่งยืนต่อไปได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบทางสังคม และนิเวศ ให้เท่ากับองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ โดยมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐาน สามารถที่จะเลือกกิจกรรมที่มีประโยชน์ และไม่มีผลประโยชน์ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้



การใช้พลังงานธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปบางประเภท
การอนุรักษ์

            หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด การใช้ประโยชน์นั้น จะต้องเกิดผลดีต่อประชากรโลกส่วนรวมมากที่สุด จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์ให้ได้เป็นเวลายาวนานที่สุด ให้มีการสูญเสียทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์น้อยที่สุด และต้องกระจายการใช้ประโยชน์แก่ประชากรของประเทศอย่างทั่วถึงกัน

            การอนุรักษ์จึงมิได้หมายถึง การเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้เฉยๆ หากหมายถึง ความสามารถในการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างถูกต้องตามเวลา และสถานที่ เพื่อให้ประชาชนทุกคน และทุกฐานะ มีสิทธิใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน การอนุรักษ์กับการพัฒนาต้องดำเนินการคู่กันไป ให้ ความสำคัญเสมอกันระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณา เพื่อให้การอนุรักษ์ และพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม และให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้น ลดน้อยลง และไม่เป็นการผลักภาระความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ไปสู่ประชาชน



การอนุรักษ์และพัฒนาต้องดำเนินการควบคู่กันไป
ระบบนิเวศ

            นิเวศวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับบ้านหรือที่อยู่อาศัย ความหมายอีกนัยหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือ การศึกษาถึงโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบธรรมชาติ

            ระบบนิเวศแต่ละระบบ เป็นสังคมที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต ซึ่งอาจมีรูปร่าง ลักษณะโครงสร้าง ขนาดเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กอย่างไรก็ได้ เป็นที่ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้มีบทบาท หรือกิจกรรมในการดำรงชีวิตร่วมกัน มีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เป็นตัวควบคุม รวมทั้งช่วยให้เกิดการถ่ายทอดพลังงาน และการหมุนเวียนของธาตุอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดดุลยภาพภาย ในระบบนิเวศนั้นๆ



การพัฒนาซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของท้องถิ่นและรักษาสิ่งแวดล้อม
นิเวศพัฒนา

            คือ การพิจารณากำหนดแนวพัฒนา ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อให้ประชาชนในท้องที่นั้นๆ ได้รู้ถึงศักยภาพของทรัพยากร และสภาพแวดล้อม ที่มีอยู่ในท้องที่ของตน เป็นการชี้ให้เห็นถึงการที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ เพื่อขจัดทุกข์ บำรุงสุข โดยไม่ทำให้ทรัพยากรเหล่านั้น เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

            อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของการพัฒนาก็คือ การทำให้ประชาชนมีการอยู่ดี กินดี โดยพิจารณาจากข้อมูลทางด้านรายได้ การว่างงาน การกระจาย รายได้ จำนวนประชากร และการศึกษา เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ แต่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนา ไม่ได้บ่งชี้สถานภาพและคุณค่าของทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ ผลของการเร่งรัดพัฒนา ประเทศในระยะที่ผ่านมา กลับทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง จนร่อยหรอ ลงทุกขณะ และตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม การพิจาณาเพื่อกำหนดกลวิธีในการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงต้องรวมการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมให้เสียหายน้อยที่สุด โดยการนำเอาแนวความคิด นิเวศพัฒนา (Ecodevelopment) มาใช้ ข้อคิดนี้สำคัญมากในการอนุรักษ์และพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ