น้ำมันทั้งของพืชและสัตว์ เป็นสารประกอบเชิงอินทรีย์ เกิดจากการรวมตัวของกรดคาร์บอซิลิค (Carboxylic acid) หรือกรดไขมันหลายโมเลกุล โดยมีกลีเซอรอลหรือกลีเซอรีน (Glycerol or Glycerine) เป็นตัวเชื่อม กรดไขมันแต่ละชนิด มีสูตรโครงสร้างของตัวเองโดยเฉพาะ และยังแยกออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งรางกายดูดซึมเข้าไป และใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงทำให้เกิดการสะสมตัวเกาะติดกับผนังด้านในของเส้นโลหิต เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตัน และเปราะแตกได้ง่าย
๒. กรดไขมันไม่อิ่มตัว มีคุณค่าทางด้านโถชนศาสตร์สูง เนื่องจากถูกดูดซึมและย่อยได้ง่าย
น้ำมันมีกรดไขมันอิ่มตัว เรียกว่า น้ำมันอิ่มตัว ในทำนองเดียวกัน น้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว เรียกว่า น้ำมันไม่อิ่มตัว
น้ำมัน และไขมัน เป็นสารประกอบชนิดเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกัน กล่าวคือ ในอุณหภูมิห้อง (๒๕ - ๒๗ องศาเซลเซียส) ถ้าอยู่ในสภาพของเหลว เรียกว่า น้ำมัน ถ้าอยู่ในสภาพแข็ง เรียกว่า ไขมัน และน้ำมัน แต่ละชนิดก็มีจุดหลอมเหลวคงที่ จึงได้นำมาใช้เป็นประโยชน์ในการจำแนกน้ำมันออกจากกัน ในแต่ละกลุ่มของกรดไขมันทั้งสองประเภท ยังแบ่งออกไปอีกหลายชนิดตามจำนวน และโครงสร้างของโมเลกุลของธาตุ องค์ประกอบทั้งสาม คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ดังนั้น คุณภาพ และการใช้ประโยชน์ของน้ำมันพืชแต่ละพืช จึงขึ้นอยู่กับสัดส่วน และชนิดของกรดไขมัน ที่ประกอบกันขึ้นมา และเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละพืช กรดไขมันบางชนิดอาจใช้ทดแทนกันได้ หรือนำไปผ่านกรรมวิธีบางอย่าง ให้มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน แต่น้ำมันพืชบางชนิด มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งต้องนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างเท่านั้น
นอกจากใช้พืชน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมันแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ ยังสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีก เช่น เมล็ดถั่วเหลือง หลังจากนำไปสกัดน้ำมันออกแล้ว กากที่เหลือมีโปรตีนในปริมาณสูง นำไปใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ได้ ดังนั้น การจำแนกกลุ่มพืช จึงพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์
พืชที่ให้น้ำมันที่เพาะปลูกในปัจจุบันมีอยู่หลายสิบชนิด แต่เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่เพาะปลูก และผลิตผลจากทั่วโลกแล้ว อาจจัดลำดับความสำคัญได้ดังนี้ คือ ถั่วเหลือง ฝ้าย ถั่วลิสง ทานตะวัน เมล็ดจากต้นป่าน (flax) มะพร้าว และปาล์มน้ำมัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วโลกผลิตน้ำมันพืชได้ ๕๒ ล้านตัน ซึ่งเป็นน้ำมันถั่วเหลือง ๑๖ ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ ๓๐ รองลงไป ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จำนวน ๘ ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ ๑๕ น้ำมันพืชที่ผลิตได้ทั้งหมด ใช้บริโภคภายในประเทศผู้ผลิต ๓๕ ล้านตัน เหลือส่งออกจำหน่ายในตลาดโลก ๑๗ ล้านตัน คาดว่า ในอนาคตการผลิตน้ำมันพืชจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประชากร ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย พืชน้ำมันที่สำคัญ ได้แก่ ปาล์ม ถั่วเหลือง มะพร้าว ถั่วลิสง งา และ ละหุ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันพืชได้ในปริมาณ ๗๘,๐๐๐ ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๒๕๒,๑๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒ ต่อปี โดยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งร้อยละ ๕๐ รองลงไป ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีส่วนแบ่งร้อยละ ๒๐ และ ๑๕ ตามลำดับ นอกจากพืชน้ำมันที่กล่าวมาแล้ว ยังได้นำเอาเมล็ดฝ้าย เมล็ดนุ่น รำข้าว มาสกัดน้ำมัน เป็นผลพลอยได้
ในด้านการบริโภคในประเทศก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีปริมาณการใช้น้ำมันพืช ๙๔,๐๐๐ ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศจำนวน ๑๖,๐๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ปริมาณการใช้น้ำมันพืชเพิ่มขึ้นเป็น ๒๕๕,๐๐๐ ตัน หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๘.๘ ต่อปี แต่เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันพืชภายในประเทศเพิ่มขึ้น การนำเข้าจึงเหลือเพียง ๓,๐๐๐ ตัน และคาดว่า ในเวลาต่อไปประเทศไทยจะผลิตน้ำมันพืชได้เพียงพอ สำหรับการใช้ในประเทศ และอาจเหลือส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ
การบริโภคน้ำมันพืชของคนไทยโดยเฉลี่ย เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คนไทยบริโภคน้ำมันคนละ ๒.๒ กิโลกรัม ต่อปี และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เพิ่มขึ้นเป็นคนละ ๔.๘ กิโลกรัมต่อปี ทั้งนี้อาจอนุมานได้ว่า คนไทยได้เปลี่ยนค่านิยมจากการบริโภคน้ำมันสัตว์ มาเป็นน้ำมันพืชกันมากขึ้น โดยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และน้ำมันพืชมีปริมาณมากพอ อีกทั้งมีราคาไม่สูง นัก