ในบางท้องถิ่น เรียกว่า ถั่วดิน ถั่วขุด หรือถั่วยี่สง นอกจากการใช้เมล็ดเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมันแล้ว ยังได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ถั่วลิสงต้ม คั่ว ทอด ทำขนมพวกขบเคี้ยว เช่น ถั่วตัด จันอับ ถั่วกระจก และเป็นส่วน ประกอบของอาหารหลายชนิด (แกงมัสมั่น น้ำจิ้มสะเต๊ะ น้ำพริกรับประทานกับขนมจีน) ใช้ทำแป้ง และเนยถั่วลิสง อนึ่ง ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่ว การปลูกถั่วลิสงจึงเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่นเดียวกับถั่วเหลือง ต้นและใบถั่วลิสง หลังจากปลิดฝักออกแล้ว นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก
ถั่วลิสงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน และกึ่งร้อน ตอนกลางของทวีปอเมริกาใต้ หลักฐานทางโบราณคดีระบุไว้ว่า ชาวพื้นเมืองบริโภคถั่วลิสง มานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ชาวยุโรปได้นำไปปลูกในทวีปแอฟริกา เมื่อประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปีก่อน ต่อมาจึงได้แพร่มายังทวีปเอเชีย และกลายเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วโลกมีพื้นที่ปลูกถั่วลิสงประมาณ ๑๒๓ ล้านไร่ ได้ผลิตผล ๒.๒ ล้านตัน อินเดียและจีนผลิตได้มากที่สุด คือ ประเทศละ ๖ ล้านตัน ประเทศไทยมีพื้นที่ เพาะปลูกถั่วลิสง ๗๖๓,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผล (ถั่วทั้งเปลือก) ๑๖๒,๐๐๐ ตัน ใช้บริโภคและ ทำพันธุ์เกือบทั้งหมด ส่งเข้าสกัดน้ำมันเพียง ๒๒,๐๐๐ ตัน การเพาะปลูกมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ ปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ เป็นพื้นที่ถึง ๔๓๓,๐๐๐ ไร่ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๑๓,๐๐๐ ไร่ และภาคกลาง ๑๐๖,๐๐๐ ไร่
แปลงปลูกถั่วลิสง
ดอกถั่วลิสง
การเก็บเกี่ยวถั่วลิสงโดยการถอนต้น
ถั่วทอด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ถั่วลิสงจัดอยู่ในวงศ์ (Family) Legume- minosae เช่นเดียวกับถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก (มีอายุเพียงฤดูเดียว) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arachis hypogaea L.
ถั่วลิสงขยายพันธุ์โดยเมล็ด เมื่อเมล็ดได้รับน้ำเพียงพอ ต้นอ่อนในเมล็ดจะงอก โดยขยายตัวแทงรากลงไปในดิน รากแก้วอาจหยั่งลึกลงไปถึง ๒ เมตร รากแขนงจะแตกออกจากผิวของรากแก้ว เติบโตขยายไปทางแนวราบใต้ผิวดิน แผ่ออกเป็นบริเวณกว้าง และมีปมของจุลินทรีย์เกิดขึ้นเป็นกระจุกตามผิวราก ต้นอ่อนของถั่วลิสงเจริญเติบโตโผล่พ้นผิวดิน มีกิ่งแตกออกจากลำต้นตรงมุม ใบ มีจำนวน ๓ - ๘ กิ่ง บางพันธุ์มีทรงต้น เป็นทรงพุ่มตั้งตรง บางพันธุ์แตกกิ่งเลื้อยไปตามแนวนอน ลำต้นอาจมีสีเขียวหรือม่วง สูงประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร ใบถั่วลิสงเป็นใบรวม ประกอบด้วยใบย่อย ๒ คู่ (๔ ใบ) ขอบใบเรียบ ปลายมน ก้านใบยาวสีเขียวหรือม่วง ดอกถั่วลิสง เกิดขึ้นบนช่อดอกซึ่งแทงออกมาจากมุมใบ เริ่มจาก โคนต้นไปสู่ยอด ดอกบานในเวลาเช้า มีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีอับเกสรตัวผู้ และเรณู (รังไข่) อยู่ในดอกเดียวกัน หลังจากผสมเกสรแล้ว กลีบดอกจะเหี่ยวและร่วง แต่ก้านของรังไข่ขยายตัวยาวออกไปเรียกว่า เข็ม ปลายเข็มขยายตัวตามแนวดิ่ง แทงลงไปในดิน แล้วจึงพัฒนาเป็นฝัก แต่ละฝักมีเมล็ด ๒ - ๔ เมล็ด เนื่องจากดอกออกไม่พร้อมกัน ทำให้ฝักแก่ไม่พร้อมกันด้วย การเก็บเกี่ยวจึงเลือกเวลาที่มีฝักแก่จำนวนมากที่สุด ถั่วลิสงต้นหนึ่ง เมื่อถอนออกมา มีฝักที่สมบูรณ์อยู่จำนวน ๘ - ๒๐ ฝัก และมีฝักอ่อนอีกจำนวนหนึ่งปนอยู่ ซึ่งเป็นฝักที่เกิดจากดอกชุดหลัง หรือจากยอดฝักแก่ มีลายเส้น และจะงอยเห็นได้ชัด ฝักคอดกิ่วตามจำนวนเมล็ดในฝัก เมื่อตากให้แห้งแล้ว เขย่าจะมีเสียง เยื่อหุ้มเมล็ดมีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง ม่วง และน้ำตาล เมล็ด ประกอบด้วยใบเลี้ยงขนาดใหญ่ ๒ ใบ ห่อหุ้ม ต้นอ่อนไว้ภายใน
พันธุ์ถั่วลิสงที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกได้แก่ พันธุ์ลำปาง สุโขทัย 38 ไทนาน 9 ขอนแก่น 60-1 ขอนแก่น 60-2 และ ขอนแก่น 60-3
เนื่องจากฝักถั่วลิสงเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน ควรเลือกปลูกในดินร่วน หรือร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีปฏิกิริยาเป็นกลาง และไม่ใช่ดินเค็ม อนึ่ง ไม่ควรปลูกในดินที่มีสีดำหรือแดงจัด เนื่องจากถ้าฝักถั่วลิสงเปื้อนติดสีดังกล่าว ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ประเทศไทยอาจปลูกถั่วลิสงได้ตลอดทั้งปี แต่เพื่อเหมาะสมกับระบบ การปลูกพืชได้ผลิตผลสูง และเก็บเกี่ยวสะดวก จึงนิยมปลูกเพียงปีละสองครั้ง คือ ในฤดูฝน และฤดูแล้ง ในพื้นที่ที่มีการชลประทาน การเตรียมดินปลูกถั่วลิสงก็เหมือนกับพืชไร่ทั่วไป คือ ไถพรวนให้ดินมีความร่วนซุย และกำจัดวัชพืช ถ้าปลูกในเขตชลประทาน ควรมีการยกแปลงทำร่องส่งและระบายน้ำในระหว่างแต่ละแปลง นำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้ว ปลูกเป็นหลุมๆ ละ ๒ - ๓ เมล็ด ลึกจากผิวดิน ๕ เซนติเมตร มีระยะระหว่างแถว ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร และ ระหว่างหลุม ๒๐ เซนติเมตร จะได้จำนวน ถั่วลิสงประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๖๐,๐๐๐ ต้นต่อไร่ ซึ่งจะใช้เมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วจำนวน ๑๒ - ๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ หรือเมล็ดทั้งฝัก ๒๐ - ๓๐ กิโลกรัมต่อไร่ (แล้วแต่ขนาดของ เมล็ดและความงอก และควรกะเทาะเมล็ดก่อน ปลูกเพื่อให้ได้ต้นงอกที่สม่ำเสมอ)
เมล็ดเริ่มงอกภายใน ๕ วันหลังจากปลูก ทำการถอน หรือซ่อมให้มีจำนวนต้นต่อไร่ครบตามกำหนด ภายในระยะเวลา ๗ - ๑๐ วัน และพรวนดิน ดายหญ้า เพื่อกำจัดวัชพืช ภายใน ๓๐ วันหลังงอก และควรพรวนดินกลบโคนสูงประมาณ ๕ - ๗ เซนติเมตร เพื่อให้เข็มแทงลงดินได้ง่ายขึ้น และงดการพรวนดินเมื่อต้นถั่วลิสงมีอายุ ๔๐ วันไปแล้ว เนื่องจากจะไปรบกวนการแทงเข็มอัน เป็นผลให้เมล็ดฝ่อ ในระยะเจริญเติบโตควรออก สำรวจแปลง ซึ่งอาจจะมีโรคและแมลงศัตรูพืช ระบาดทำลายต้นถั่วลิสง ทำการป้องกัน กำจัด ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ถั่วลิสงมี อายุตั้งแต่ ๙๐ - ๑๒๐ วัน (ตามลักษณะของพันธุ์) เมื่อฝักสุกแก่สังเกตได้จากใบร่วง และลำต้นเหี่ยว สุ่มถอนต้นขึ้นมา แกะฝักออกจะเห็นว่าผนังด้าน ในของฝักได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เก็บเกี่ยวโดยใช้มือถอนต้นและฝักขึ้นจากดิน เลือกปลิดฝักแก่ออก นำไปตากแดดจนฝักแห้ง สนิทแล้วจึงเก็บเพื่อรอการจำหน่าย
ในปัจจุบันปัญหาสำคัญของถั่วลิสง ก็คือ
การเกิดสารพิษแอลฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็น สาเหตุของการเกิดมะเร็งในตับ ดังนั้น จึงต้องตากเมล็ดให้แห้งสนิทโดยเร็ว (มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่าร้อยละ ๑๔) จะระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งผลิตสารพิษชนิดนี้
โดยทั่วไปเกษตรกรจะเก็บถั่วลิสงไว้ทั้งฝัก เมื่อจะนำไปปลูกหรือใช้บริโภค จึงกะเทาะเปลือกออก โดยใช้มือหรือเครื่องกะเทาะเมล็ด เมล็ดถั่วลิสง ๑๐๐ เมล็ด มีน้ำหนัก ๓๐ - ๖๐ กรัม เมล็ดที่มีขนาดใหญ่นำไปปรุงแต่ง เพื่อใช้บริโภคทั้งเมล็ด ส่วนเมล็ดขนาดเล็ก หรือเมล็ดแตก นำไปบดเป็นถั่วป่น และสกัดน้ำมัน เมล็ดถั่วลิสงมีโปรตีนร้อยละ ๒๕ - ๓๕ และน้ำมันร้อยละ ๔๔ - ๕๗ (ขึ้นอยู่กับพันธ ุ์) น้ำมันถั่วลิสงประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวถึงร้อยละ ๘๐ ของน้ำมันทั้งหมด จึงเกิดกลิ่นเหม็นหืนได้ง่าย (จึงต้องเก็บรักษาไ ว้ทั้งฝัก) กากถั่วลิสงที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้ว นำไปอบให้แห้งใช้ประกอบเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้