เล่มที่ 19
พืชน้ำมัน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ถั่วเหลือง

            ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้นานัปการ นอกเหนือไปจากการสกัดน้ำมัน เมล็ดถั่วเหลืองใช้ประกอบอาหาร เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ถั่วเน่า ซีอิ๊ว เส้นบะหมี่ น้ำนมถั่วเหลือง คุกกี้ โปรตีนแห้ง เนื้อเทียม ฟองเต้าหู้ และถั่วงอก เป็นต้น จีนใช้ถั่วเหลืองผิวดำปรุงยารักษาโรคหัวใจ ตับ ไต กระเพาะ และลำไส้ และเป็นอาหารเสริม เพื่อบำรุงสุขภาพ ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคถั่วเหลืองฝักสด (เก็บเกี่ยวเมื่อฝักยังมีสีเขียวสด) เป็นอาหารว่าง และนำเข้าประเทศในบริมาณมาก กากถั่วเหลืองใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ นอกจากนี้การปลูกถั่วเหลือง ยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งในด้านเพิ่มอินทรียวัตถุ และธาตุไนโตรเจน

            ถั่วเหลืองมีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ที่ติดต่อกับแมนจูเรีย ชาวจีนคุ้นเคยในการเพาะปลูก และใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองมาเป็นเวลากว่า ๕,๐๐๐ ปี ต่อจากนั้นก็ได้ขยายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น และแพร่หลายไปถึงทวีปยุโรป และอเมริกา เมื่อประมาณร้อยกว่าปี ปัจจุบันประเทศที่ปลูกถั่วเหลืองมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาได้แก่ บราซิล จีน และอาร์เจนตินา ตามลำดับ ประเทศเหล่านี้อยู่ในเขตอบอุ่น มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และให้ผลิตผลต่อไร่สูง

ถั่วเหลือง เป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ลักษณะลำต้นและดอกถั่วเหลือง

            ไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับการนำถั่วเหลืองเข้ามาปลูกในประเทศไทย แต่สันนิษฐานว่า นำเข้ามาโดยพวกพ่อค้า และชาวเขา ซึ่งเดินทางไปมาระหว่างจีนตอนใต้ และภาคเหนือของประเทศไทยแต่สมัยโบราณ ต่อมาจึงแพร่หลายไปในกลุ่มชาวไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ พระยาอนุบาลพายัพกิจ เทศาภิบาลมณฑลพายัพ ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วเหลือในนา หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นการเพาะปลูกก็ขยายตัวออกไปสู่ภาคต่างๆ พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะแรก จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการกากถั่วเหลือง (หลังจากที่ได้นำเมล็ดไปสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว) เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วทั้งประเทศมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองประมาณ ๒,๓๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยปลูกในภาคเหนือ ๑,๗๐๐,๐๐๐ ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคละ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ รวมผลิตผลทั่วประเทศได้ ๓๔๐,๐๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรขายได้ ๒,๗๐๐ ล้านบาท แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ต้องนำเข้ากากถั่วเหลือง เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์อีก ๒๓๐,๐๐๐ ตัน ในอนาคตคาดว่า พื้นที่เพาะปลูก และผลิตผลถั่วเหลืองภายในประเทศ จะเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ผลิตถั่วเหลืองได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายใน ประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

            ถั่วเหลืองมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glycine max (L.) Merrill อยู่ในวงศ์ (Family) Legumeminosae เป็นพืชล้มลุก ทรงต้นเป็นพุ่ม มีความสูงระหว่าง ๕๐ เซนติเมตรถึงสองเมตร บางพันธุ์ก็เลื้อยเป็นเถา ระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว ซึ่งอาจหยั่งลึกลงไปถึง ๒ เมตร ส่วนรากฝอยเกิดเป็นกระจุกประสานกันอยู่ใต้ ระดับผิวดิน บริเวณผิวรากมีปมของบัคเตรีเกาะอยู่เห็นได้ชัดเจน ลำต้นแตกกิ่งจำนวน ๓ - ๘ กิ่ง มีขนสีขาว น้ำตาล หรือเทาคลุมอยู่ ใบถั่วเหลือง เกิดสลับกัน เป็นใบรวม ประกอบด้วย ใบย่อย ๓ ใบ รูปร่างกลมรี ช่อดอกเกิดจากมุมใบและ ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วง จำนวน ๓ - ๑๕ ดอกต่อหนึ่งช่อ ดอกสมบูรณ์เพศมี อับเกสรตัวผู้และรังไข่อยู่ในดอกเดียวกัน การผสม เกสรเกิดขึ้นก่อนดอกบาน รังไข่จะเจริญเติบโต เป็นฝักรูปยาวและโค้ง ภายในมีเมล็ด ๒ - ๓ เมล็ด เรียงตัวอยู่ตามแนวนอน เปลือกหุ้มเมล็ด มีทั้งสีเหลือง เขียว น้ำตาล และดำ ภายใน เมล็ดมีใบเลี้ยงสีเหลืองหรือเขียวสองใบหุ้มต้น อ่อนอยู่ภายใน

ในเขตอบอุ่นปลูกถั่วเหลืองได้ปีละครั้งในฤดูร้อน แต่ในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มีอุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถปลูกถั่วเหลืองได้ปีละสามครั้ง คือ ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และกลางฤดูฝนบนที่ดอน และครั้งที่สามในนา ที่มีระบบชลประทาน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ดังนั้น เกษตรกรนิยมปลูกถั่วเหลืองร่วม หรือสลับกับพืชไร่อื่นๆ

พันธุ์ถั่วเหลืองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ สจ.1 สจ.2 สจ.4 สจ.5 เชียงใหม่ 60 สุโขทัย 1 และนครสวรรค์ 1 รายละเอียดของพันธุ์ และคำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกถั่วเหลือง หาได้จากหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และตำบลในท้องถิ่น

            ถั่วเหลืองขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ไม่ชอบดินที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดหรือด่างจัด ดินเค็ม และดินที่มีน้ำขังแฉะ การเตรียมดินปลูกถั่วเหลือง ก็คล้ายกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป มีการไถพรวนดินให้ร่วนซุย เพื่อกำจัดวัชพืช และให้รากหยั่งลง ดินได้สะดวก ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยจุลินทรีย์ดินก่อนปลูก เพื่อให้มีการสร้างปมที่รากดีขึ้น เพื่อให้จุลินทรีย์ดิน หรือบัคเตรีในปมราก ช่วยจับไนโตรเจนจากอากาศมาสังเคราะห์เป็นปุ๋ยให้กับต้นถั่วเหลือง การปลูกมีหลายวิธี เช่น หว่านหรือโรยเมล็ดเป็นแถว หรือหยอดเป็นหลุม แต่วิธีที่แนะนำคือ หยอดเมล็ดหลุมละ ๒ - ๓ เมล็ด โดยให้มีระยะระหว่างแถวกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และระหว่างหลุม ๒๐ เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๗ - ๑๐ กิโลกรัมต่อไร่ ควรปลูกเมื่อดินได้รับความชุ่มชื้นหลังจากฝนตก หรือได้รับน้ำชลประทาน เมล็ดถั่วเหลืองจะงอกภายในเวลา ๕ - ๗ วัน ควรพรวนดิน ดายหญ้า ในระยะ ๓๐ วันหลังงอก เพื่อลดการแข่งขันจากวัชพืช ต้นถั่วเหลืองเริ่มออกดอก เมื่อมีอายุได้ ๓๕ - ๔๐ วัน และฝักแก่เมื่อมีอายุได้ ๘๕ - ๑๒๐ วัน (ขึ้นอยู่กับพันธุ์และฤดูปลูก) เมื่อฝักเริ่มแก่ จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลือง เริ่มจากโคนต้น ไปหาปลายยอด เก็บเกี่ยว โดยตัดต้นถั่วเหลืองมากองหรือผูกรวมเป็นฟ่อน ตากแดดให้แห้งสนิท แล้วจึงนวด โดยใช้ไม้ฟาด หรือใช้รถแทรกเตอร์เหยียบต้นถั่วเหลืองที่กองสุมกันอยู่ให้ฝักแตก หรือใช้เครื่องนวดข้าวติดเครื่องยนต์ นวดแยกเมล็ดออกจากเศษของลำต้น ทำความสะอาดตากเมล็ดให้แห้งสนิท ก่อนเก็บใส่กระสอบ หรือภาชนะอื่นๆ เพื่อจำหน่ายต่อไป ผลิตผลถั่วเหลืองของไทยอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๓๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ แต่โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๒๑ กิโลกรัมต่อไร่

ในระยะที่ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตในไร่ อาจจะมีโรคหรือแมลงศัตรูพืชบางชนิดระบาด ทำความเสียหาย ควรป้องกัน และกำจัด ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

            เมล็ดถั่วเหลืองประกอบไปด้วย โปรตีน ร้อยละ ๓๕ - ๕๐ น้ำมันร้อยละ ๑๒ - ๒๐ (มีส่วนประกอบของน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวร้อยละ ๘๕) เป็นน้ำมันคุณภาพดี สามารถละลายสารคอเลสเตอรอลที่เกาะผนังเส้นเลือดได้ นอกจากนี้มีวิตามินบี ซี อี และเลซิติน รวมอยู่ด้วย ในเมล็ดถั่วเหลืองมีสารพิษบางชนิด ที่ระงับการย่อยของโปรตีน ซึ่งสามารถขจัดให้หมดได้ โดยการนำไปผ่านความร้อน ก่อนนำไปแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์

น้ำมันถั่วเหลืองหลังจากทำให้บริสุทธิ์แล้ว ใช้แปรรูป เพื่อประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำน้ำมันสลัด เนยเทียม และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันผสมสี หล่อลื่น ยารักษาโรค กากถั่วเหลืองที่ได้ มีส่วนประกอบของโปรตีน สูงกว่าร้อยละ ๕๐ นำไปใช้เป็นอาหาร และเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์