เล่มที่ 19
พืชน้ำมัน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปาล์มน้ำมัน

            ปาล์มน้ำมันชนิดที่ปลูกเป็นการค้า มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย โดยผ่านทางอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่สถานีทดลองยางคอหงษ์ จังหวัดสงขลา และสถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ส่วนการปลูก เพื่อเป็นการค้า เริ่มต้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสงขลา แต่ก็ได้ล้มเลิกกิจการไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีการส่งเสริมอีกครั้งหนึ่ง และพื้นที่เพาะปลูกขยายตัวออก อย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีเนื้อที่การปลูกน้ำมัน ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยแยกออกเป็นสวนปาล์มของบริษัท ร้อยละ ๕๗ สวนของเอกชนร้อยละ ๒๘ และในสหกรณ์นิคม ร้อยละ ๑๕ พื้นที่เพาะปลูกปาล์มยังขยายตัวออกไปอีกทุกปี ปาล์มน้ำมันเจริญเติบโต และให้ผลิตผลดีในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น มีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ ๒,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปีขึ้นไป จึงปลูกกันมากในภาคใต้ และชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย

สวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่

ทะลายผลปาล์มน้ำมัน

น้ำมันปาล์มเกิดขึ้นจากผลปาล์ม ๒ ส่วน คือ จากเปลือกหุ้มภายนอก และจากเนื้อในของเมล็ด

            น้ำมันจากเปลือกของปาล์ม ประกอบด้วยกรดไขมันที่อิ่มตัว ประมาณร้อยละ ๕๒ และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ร้อยละ ๔๘ ดังนั้น จึงต้องนำน้ำมันดิบผ่านกรรมวิธีแยกกรดไขมันทั้งสองออกจากกัน นำน้ำมันไม่อิ่มตัวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ใช้ปรุงอาหาร ทำเนยเทียม หรือมาการีน เนยขาว เป็นส่วนผสมของนมข้นหวาน ไอศกรีม และขนมอีกหลายชนิด ส่วนที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ก็นำไปทำสบู่ ผงซักฟอก และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ

            ส่วนน้ำมันเนื้อในของเมล็ดปาล์ม ประกอบด้วยน้ำมันชนิดอิ่มตัว สูงถึงร้อยละ ๘๕ - ๙๐ ทำให้ไม่เหมาะต่อการบริโภค จึงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมทำสบู่ เครื่องสำอาง ผงซักฟอก อุตสาหกรรมสี และเรซิน เป็นต้น

ปาล์มน้ำมันมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ปลูกเป็นการค้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Elaeis guineensis และจำแนกออกเป็น ๓ พันธุ์ คือ

ใบปาล์มน้ำมัน

การขนส่งทะลายปาล์มน้ำมันสู่โรงงาน

๑. พันธุ์ดูรา (Dura)

            มีเปลือกหุ้มผล ค่อนข้างบาง และมีกะลาหนา มีปริมาณน้ำมันต่อทะลายต่ำ เพียงร้อยละ ๑๘ - ๒๐

๒. พันธุ์ฟิสิเฟอรา (Pisifera)

            มีเปลือกหุ้มผลค่อนข้างบาง แต่ให้ผลขนาดเล็กและดอกตัวเมียเป็นหมัน ผลิตผลต่อต้นต่ำ

๓. พันธุ์เทนเนอรา (Tenera)

            เป็นพันธุ์ลูกผสม โดยรวมลักษณะดีจากทั้งสองพันธุ์ดังกล่าวเข้าด้วยกัน โดยใช้ดูราเป็นแม่ และฟิสิเฟอราเป็นพ่อ ให้น้ำหนักผลปาล์มต่อทะลายสูง เนื่องจากมีเปลือกหุ้มผลหนา และมีปริมาณน้ำมันมาก

            ผลปาล์มน้ำมัน เป็นรูปเรียวรี หรือรูปไข่ มีขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร และยาว ๕ เซนติเมตร มีน้ำหนักผลละ ๑๐ - ๑๕ กรัม เปลือกผิวนอกของผลปาล์มเป็นสีเขียวหรือดำ เมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง เมื่อสุกแก่ ภายใต้เปลือกเป็นเมล็ด ประกอบด้วยกะลา และเนื้อใน ซึ่งมีต้นอ่อนฝังอยู่ เมื่อนำไปเพาะให้งอก จะเห็นรากและยอดอ่อนโผล่ออกมาจากช่องของกะลา รากของปาล์มน้ำมันเป็นระบบรากฝอย แตกออกจากโคนด้าน เพื่อทำหน้าที่ยึดลำต้น ดูดน้ำและแร่ธาตุ ต้นปาล์มที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะมีรากจำนวนมาก ประสานกันอยู่อย่างหนาแน่น ในบริเวณใต้ผิวดิน ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร รากมีขนาดใหญ่ อาจยาวถึง ๕ เมตร และแตกออกเป็นรากที่สอง และที่สาม ซึ่งมีความยาว และขนาดเล็กลง แต่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมัน

สภาพภายในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

            ลำต้นปาล์มตั้งตรง เปลือกภายนอกแข็ง ภายในเนื้อเยื่อ และเส้นใยต้นปาล์มมียอดอยู่ยอดเดียว ถ้าถูกทำลาย ต้นปาล์มก็จะตาย ในช่วง ๓ ปีแรก ลำต้นจะเจริญเติบโตขยายตัวออกทางด้านข้าง มีโคนอวบใหญ่ หลังจากนั้น จึงยึดตัวเติบโตทางยอด ปล้องบนลำต้นเห็นได้อย่างชัดเจน ต้นปาล์มอาจสูงถึง ๓๐ เมตร และมีอายุนานถึง ๑๐๐ ปี แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า มีความสูงเพียง ๑๕ - ๑๘ เมตร และตกผลดกในช่วงอายุ ๒๕ ปี หลังจากนั้นตกผลน้อยลง

            ใบปาล์มเป็นใบประกอบมีความยาว ๖ - ๘ เมตร มีใบเล็ก หรือทางใบยาวประมาณ ๑ เมตร แตกออกจากก้านใบทั้งสองด้านเป็นรูปขนนก จำนวนประมาณ ๑๐๐ - ๑๖๐ คู่ ก้านใบมีหนามแหลมเรียงอยู่ ๒ แถว ทางใบแตกออกจากยอดประมาณปีละ ๒๐ - ๔๐ ทาง และมีอายุ ประมาณ ๒ ปี

            ช่อดอกแยกเป็นช่อดอกตัวผู้ และตัวเมีย แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ออกสลับกันจากมุมก้านใบ แต่มีช่อดอกตัวเมียมากกว่า การพัฒนาตั้งแต่ตาดอก จนถึงดอกบาน และรับการผสมเกสรใช้เวลา ๓๐ เดือน หลังจากนั้นอีก ๖ เดือน ผลบนทะลายจึงสุกแก่ ช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วยช่อดอกย่อยประมาณ ๑๐๐ - ๑๑๐ ช่อ และแต่ละช่อย่อยมีดอกตัวเมีย ๑๕ - ๓๐ ดอก ดังนั้น ในหนึ่งทะลายมีดอกตัวเมียประมาณ ๔,๐๐๐ ดอก

            การปลูกปาล์มน้ำมันเริ่มต้นด้วยการนำเมล็ดมาเพาะในถุงให้งอกเป็นต้นกล้า (ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๖ - ๙ สัปดาห์) หลังจากนั้นจึงย้ายลงปลูกในถุง บรรจุดิน ขนาด ๑๕ x ๒๐ เซนติเมตร ต้นละถุง เก็บไว้ในเรือนเพาะชำ (อีก ๑ - ๓ เดือน) เพื่อสะดวกต่อการให้น้ำและดูแลรักษา ต่อจากนั้นจึงย้ายต้นกล้าลงปลูกในถุงขนาดใหญ่ (ขนาด ๕๐ x ๗๕ เซนติเมตร) นำไปเก็บรวมในแปลงเพาะเลี้ยง เพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ (ประมาณ ๑ ปี) จึงย้ายไปปลูกในแปลงใหญ่ช่วงต้นฤดูฝน

            ต้นปาล์มขึ้นได้ดีในที่ที่มีหน้าดินลึก ๗๕ เซนติเมตร และเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้เร็ว การปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ ควรแบ่งแปลงออกเป็นแปลงย่อย โดยตัดถนนผ่านระหว่างแปลง เพื่อสะดวกต่อการเข้าไปดูแลรักษา และขนส่ง ทะลายปาล์มจากสวนสู่โรงงาน ควรปลูกต้นปาล์มเป็นแถว โดยมีระยะระหว่างแถว ๘ - ๑๐ เมตร ระหว่างต้น ๗ - ๘ เมตร จะมีต้นปาล์ม ๒๐ - ๓๐ ต้นต่อไร่

            หลังจากปลูกแล้ว ควรเข้าไปตรวจสวนทุกเดือน และทำการปลูกซ่อมต้นตาย กำจัดวัชพืช ที่ขึ้นคลุมต้นปาล์ม ตลอดจนทำการป้องกัน กำจัดแมลงและศัตรูพืชชนิดต่างๆ บางแห่งมีการปลูกพืชคลุมหน้าดิน เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย และรักษาความชุ่มชื้นในดิน ให้ปุ๋ยเคมีตามที่กำหนดในคำแนะนำ

            ต้นปาล์มเริ่มออกช่อดอกเมื่อมีอายุประมาณ ๑ ๑/๒ - ๒ ปี แต่เป็นช่อดอกขนาดเล็ก และให้ผลิตผลไม่มากพอ จึงควรตัดดอกชุดแรกออกทิ้ง เพื่อให้ต้นเจริญและสมบูรณ์ได้เต็มที่ การเก็บเกี่ยวผลิตผลอาจเริ่มจากปีที่สามเป็นต้นไป ผลิตผลของปาล์มเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และให้ผลิตผลสูง เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ ๘ โดยเฉลี่ยให้ผลิตผลตั้งแต่ ๘ - ๑๕ ทะลาย/ต้น/ปี ทะลายหนึ่งมีผลปาล์ม ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ผล และหนักทะลายละ ๑๐ - ๑๕ กิโลกรัม ต้นปาล์มจะให้ผลิตผลสูง ไปจนถึงอายุ ๒๕ - ๓๐ ปี หลังจากนั้นเริ่มลดลง ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องรื้อสวนเก่าออก เพื่อปลูกใหม่

            เมื่อผลปาล์มสุกแก่ เปลือกนอกจะเปลี่ยน เป็นสีส้ม และเริ่มร่วงหล่น เป็นระยะที่เปลือกมีน้ำมันสะสมมากที่สุด ควรทำการเก็บเกี่ยวทันที โดยใช้เสียมหรือมีด ตัดที่ก้านของทะลาย รวบรวมนำส่งโรงงานหีบน้ำมัน โดยให้ได้รับการกระเทือนน้อยที่สุด ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จึงจะได้น้ำมันคุณภาพสูง

            โรงงานจะนำผลปาล์มสดทั้งทะลายไปอบไอน้ำ เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของน้ำมัน และช่วยให้ผลปาล์มหลุดออกจากทะลาย และแยกเปลือกออกจากกะลาได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงนำไปย่อยอีกครั้ง เพื่อแยกเอาเปลือกไปสกัดน้ำมันออก นำน้ำมันไปทำความสะอาด และลดความชื้น แล้วจึงส่งน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่น เพื่อแยกน้ำมันบริสุทธิ์ อีกครั้งหนึ่ง นำกากเส้นใย และเศษของทะลาย ที่แยกออก กลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนเมล็ดปาล์ม ที่แยกมาจากเปลือก นำไปกะเทาะอีกครั้ง เพื่อแยกเอาเนื้อในออกจากกะลา นำเนื้อไปอบให้แห้ง ส่งไปยังโรงงานที่กลั่นน้ำมันจากเนื้อของเมล็ดปาล์มโดยเฉพาะ ส่วนกะลาที่เหลือนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง