งา
"กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้" เป็นสุภาษิตพื้นเมืองที่แสดงให้เห็นความคุ้นเคยของคนไทย ที่มีต่องาในอดีต และได้นำเอาเมล็ดงามาประกอบอาหาร และขนมหวานมากมายหลายชนิด นอกจากนั้นยังได้น้ำมันงาที่สกัดใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ยารักษาโรค ตลอดจนในพิธีทางศาสนา และประเพณีพื้นบ้านทั่วๆ ไป งามีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา และได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ทวีปเอเชีย และทั่วโลก มีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากงาในประเทศอิหร่าน ตั้งแต่สมัย ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว บางครั้งก็ใช้เมล็ดงาแทนเงินตรา และในบันทึกการเดินทางสู่ประเทศจีน ของมาโคโปโล ก็ได้กล่าวถึงงาไว้ด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศไทยมีพื้นที่ ปลูกงา ๒๘๓,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผล ๒๗,๐๐๐ ตัน ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกเป็นเงิน ๒๕๒ ล้านบาท นอกจากใช้บริโภคภายในแล้ว ก็ยังส่งออกจำหน่ายต่างประเทศปีละประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๑๕,๐๐๐ ตัน งาปลูกกันมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แปลงปลูกงา
การตากต้นงาหลังเก็บเกี่ยว
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศไทยมีพื้นที่ ปลูกงา ๒๘๓,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผล ๒๗,๐๐๐ ตัน ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกเป็นเงิน ๒๕๒ ล้านบาท นอกจากใช้บริโภคภายในแล้ว ก็ยังส่งออกจำหน่ายต่างประเทศปีละประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๑๕,๐๐๐ ตัน งาปลูกกันมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
งาจัดอยู่ในวงศ์ (Family) Pedaliaceae และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum indicum L. ได้มีการปลูกงามาเป็นเวลานานในหลายประเทศ ทำให้ต้นงามีความแตกต่างกันมาก ในด้านความสูง รูปร่าง การแตกกิ่ง ขนาด สีของลำต้น ใบ และเมล็ด แต่โดยทั่วไปแล้ว งาจัดเป็นพืชล้มลุก (พืชอายุสั้นไม่เกินปี) มีรากแก้วที่เติบโตได้ รวดเร็ว และหยั่งลึกลงไปถึง ๒ - ๓ เมตร มีรากแขนง และรากฝอย แตกออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้งาเป็นพืชที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ลำต้นตั้งตรงสูงตั้งแต่ ๖๐ เซนติเมตร ถึง ๒ เมตร ลำต้นเป็นรูปเหลี่ยม บางพันธุ์ก็แตกกิ่งย่อยออกไป ลำต้นมีสีเขียวหรือม่วง มีทั้งมีขน และไม่มีขน ใบงาเกิดขึ้นตรงข้อของลำต้น ใบที่เกิดจากโคนต้น มีขนาดใหญ่ รูปกลมปลายแหลม ขอบใบกลมหรือเว้า บางพันธุ์ขอบใบเป็นรูปฟันเลื่อย ใบที่เกิดจากส่วนกลางของลำต้น มีขนาดปานกลาง และใบที่เกิดจากส่วนยอดมีขนาดเล็ก ปลายเรียวแหลมเป็นรูปหอก ผิวใบมีขน และเมือกเหนียวติดอยู่ ดอกออกจากต้นตรงข้อใบ จำนวน ๑ หรือ ๓ ดอกต่อข้อ กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ตอนปลายแตกออกเป็นห้ากลีบ มีสีขาว หรือชมพูอ่อน หรือม่วง ภายในกลีบ ดอกมีจุดสีม่วงหรือเหลือง ดอกบานในตอนเช้า และเหี่ยวร่วงในตอนบ่าย ดอกที่ได้รับการผสมเกสรจะพัฒนาเป็นฝักกลม ปลายแหลมยาว ๕ - ๗ เซนติเมตร กว้าง ๑ - ๒ เซนติเมตร ฝักแบ่ง ออกเป็น ๒ หรือ ๔ พู แต่ละพูมี ๑ - ๒ กลีบ เมื่อสุกแก่ฝักแตกอ้าออกตรงรอยต่อของพู เมล็ดติดอยู่กับผนังภายในของเปลือก เมล็ดงามีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมรูปไข่ น้ำหนักต่อ ๑,๐๐๐ เมล็ด ประมาณ ๒ - ๔ กรัม เปลือกหุ้มเมล็ดมีทั้งสีขาว สีเหลือง สีน้ำตาล สีเทา หรือดำ
เมล็ดงามีโปรตีนร้อยละ ๑๘ - ๒๕ น้ำมัน ร้อยละ ๔๐ - ๕๐ และเป็นน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัว สูงถึงร้อยละ ๘๕ ซึ่งจัดว่าเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพ สูง และยังมีสารป้องกันการเหม็นหืนอยู่ด้วย ทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น
งาเจริญเติบโตได้ดีในเขตที่มีอากาศร้อน และค่อนข้างแห้งแล้ง แต่เมื่อมีฝนตกชุก หรือมีน้ำขังแฉะ จะเกิดโรคหลายชนิดทำให้ใบร่วง โคนและลำต้นเน่าตาย ดังนั้น เกษตรกรจึงนิยมปลูกงา เฉพาะในช่วงต้นและปลายฤดูฝนเท่านั้น โดยเลือกปลูกบนที่ดอน ซึ่งมีดินอุดมสมบูรณ์ และระบายน้ำได้ดี พันธุ์งาที่กรมวิชาการเกษตร แนะนำมี ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์ร้อยเอ็ด 1 และ พันธุ์มหาสารคาม 60
เกษตรกรเริ่มเตรียมดินปลูกงาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ในฤดูแล้ง เมื่อมีฝนแรกตกในเดือนมีนาคม หรือเมษายน ก็จะหว่านเมล็ดงาทันที โดยใช้เมล็ดในอัตรา ๓ กิโลกรัมต่อไร่ ปนกับทรายละเอียด เพื่อให้เมล็ดกระจายออกไปอย่างสม่ำเสมอ คราดหน้าดินกลบเมล็ด เมล็ดงาจะงอกภายใน ๓ - ๕ วัน หลังจากนั้นก็จะปล่อยให้ต้นงาเจริญเติบโต อาจมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด แมลงศัตรูพืชหนึ่งหรือสองครั้ง ส่วนการปลูกในปลายฤดูฝน เริ่มหลังจากเก็บเกี่ยวพืชอื่นๆ เสร็จแล้ว โดยหว่านเมล็ดในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน ซึ่งมีฝนตกน้อยลง
หลังจากต้นกล้างอกแล้ว ๓๕ - ๔๕ วัน ต้นงาจะเริ่มออกดอก การออกดอกเริ่มจากโคน ทยอยไปสู่ยอด มีช่วงเวลาออกดอกนานประมาณ ๒๕ - ๔๕ วัน (แล้วแต่พันธุ์) จากดอกพัฒนาเป็นฝัก และสุกแก่ภายใน ๒๕ - ๓๕ วัน ฝักงาสุกแก่ไม่พร้อมกัน ฝักที่แก่ก่อนจะแตกอ้าออก ทำให้เมล็ดร่วงหล่นเสียหาย ดังนั้น การเก็บเกี่ยว จึงต้องพิจารณาช่วงที่มีจำนวนฝักที่สุกแก่มากที่สุด ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วเกินไป ฝักเกิดทีหลังยังมีเมล็ดไม่สมบูรณ์ ทำให้ได้ผลิตผลน้อย และมีคุณภาพต่ำ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ฝักจะแตก ทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย โดยทั่วไปงามีอายุ ๘๕ - ๑๒๐ วัน
การเก็บเกี่ยวทำได้โดยตัดต้นมากองสุมไว้ และนำไปแขวนในร่ม โดยมีเสื่อหรือผ้าพลาสติกรองพื้น ทิ้งไว้ ๗ - ๑๐ วัน ฝักแห้งจะแตกอ้าออก และเมล็ดร่วงตกลงมา หรืออาจใช้ไม้ตี หรือนำต้นมาเคาะกับพื้นอีกครั้ง เพื่อให้ฝักแตก และเมล็ดร่วงออกจากฝักจนหมด ตากเมล็ดให้แห้งสนิท แล้วจึงเก็บไว้รอจำหน่าย
หัวข้อก่อนหน้า