ทานตะวัน
ทานตะวันเป็นพืชน้ำมันสำคัญของหลายประเทศในเขตอบอุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วโลกผลิตเมล็ดทานตะวันได้ประมาณ ๑๗ ล้านตัน ประเทศที่ปลูกทานตะวันมาก ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา น้ำมันทานตะวัน เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง โดยมีน้ำมันไม่อิ่มตัวสูง กว่าร้อยละ ๙๐ จึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อบริโภคโดยเฉพาะ เช่น เนยเทียม น้ำมันสลัด และอาหารอีกหลายชนิด และขายได้ราคาสูงเป็นพิเศษ กากเมล็ดทานตะวัน หลังจากสกัดน้ำมันแล้ว จะมีโปรตีนร้อยละ ๓๐ - ๔๐ นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังนำเอาเมล็ดของทานตะวันพันธุ์ที่มีเปลือกบาง มาบริโภคเป็นของขบเคี้ยวเล่น
ทานตะวันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทางตะวันตก ของสหรัฐอเมริกา ชาวอินเดียนแดงได้เก็บเมล็ดมาบริโภคเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อ ๓๐๐ - ๔๐๐ ปีก่อน ได้นำทานตะวันไปปลูกเป็นไม้ดอก ในยุโรป และได้แพร่ไปถึงรัสเซีย นักวิทยาศาสตร์ ชาวรัสเซียได้ปรับปรุงพันธุ์ทานตะวัน เพื่อใช้เมล็ดสกัดน้ำมันได้สำเร็จ เมื่อประมาณร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้การปลูกทานตะวันได้แพร่ขยายตัวออก ในเขตแห้งแล้ง (มีฝนตกต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ มิลลิเมตร) ในเขตอบอุ่นทั่วทุกทวีป รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ทานตะวันเป็นพืชล้มลุก (อายุต่ำกว่า ๑ ปี) อยู่ในวงศ์ Compositae เช่นเดียวกับดอกบัวตอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus annus L. ลำต้นสูงประมาณ ๑ - ๓ เมตร ใบมีขนาดใหญ่ ปลายแหลม และขอบใบเป็นจักร ช่อดอกเป็นจาน ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยดอก กลีบดอกรอบจานดอกมีสีเหลืองสวยงาม เนื่อง จากดอกทานตะวันไม่ผสมเกสรในต้นเดียวกันจึง ต้องอาศัยผึ้ง หรือแมลงบางชนิด นำละอองเกสร จากดอกอื่นมาช่วยผสม จึงจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดมีอาชีพเลี้ยงผึ้งควบคู่ไปกับการปลูก ทานตะวันไปด้วยในทุกท้องที่
ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการปลูกทานตะวันเป็นการค้าในประเทศไทย ในจังหวัดทางภาคกลาง ในปลายฤดูฝ นและเกษตรกรได้รับรายได้ดี เชื่อว่าพื้นที่เพาะปลูกจะขยายตัวมากขึ้นในปีต่อๆ ไป
ทุ่งทานตะวัน
ภาพขยายใกล้ของจานดอกทานตะวัน