เล่มที่ 19
พืชน้ำมัน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ละหุ่ง

            เมล็ดละหุ่งมีสารพิษเจือปนอยู่ ไม่สามารถใช้บริโภคได้ แต่ก็มีการปลูก และใช้ประโยชน์จากน้ำมันละหุ่งอย่างแพร่หลาย ในเขตร้อน และกึ่งร้อนของทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป มาเป็นเวลาช้านาน ได้มีการขุดพบเมล็ดละหุ่งในหลุมฝังศพในประเทศอียิปต์ มีอายุนานกว่า ๖,๐๐๐ ปี ละหุ่งเป็นสินค้าสำคัญ และมีการซื้อขายมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกผลิตละหุ่งได้ประมาณปีละ ๓ - ๔ แสนตัน บราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ รองลงไปได้แก่ อินเดีย รัสเซีย จีน ไทย และอาร์เจนตินา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศไทยผลิตละหุ่งได้ ๓๑,๘๐๐ ตัน จากพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๒๘๓,๐๐๐ ไร่ และเป็นมูลค่าที่เกษตรกรขายได้ ๒๘๓ ล้านบาท ละหุ่งปลูกมากตามชายป่า หรือเชิงเขาในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แปลงละหุ่ง

ผล (ฝัก) ละหุ่ง

เมล็ดละหุ่งกะเทาะแล้ว

            ละหุ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ละหุ่งอยู่ในวงศ์ Euphobiaceae เช่นเดียวกับยาง และมันสำปะหลัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ricinus communis L. ซึ่งในภาษาละตินหมายความถึง "เห็บของหมา" เนื่องจากเมล็ดละหุ่ง มีลักษณะ และลวดลายคล้ายกัน ละหุ่งมีหลายพันธุ์ ซึ่งมีทรงต้น ใบ ช่อดอก และเมล็ด มีรูปร่าง ขนาด และสี แตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่อาจจำแนกออก ได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ ประเภทล้มลุก หรืออายุสั้นกว่าหนึ่งปี และประเภทยืนต้น ซึ่งมีอายุเกินหนึ่งปี (อาจถึง ๑๐ ปี) ทรงต้นของละหุ่งอาจสูงตั้งแต่ ๑ เมตร ไปจนถึง ๑๐ เมตร รากละหุ่งประกอบด้วยรากแก้ว ซึ่งอาจหยั่งลงใน ดินได้ลึกถึง ๖ เมตร ทำให้ละหุ่งทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ส่วนรากแขนง และรากฝอย เกิดจากรากแก้วประสานกันเป็นกระจุกแน่นอยู่ใต้ผิวดินในระยะลึก ๓๐ เซนติเมตร ละหุ่งมีทรงต้นเป็นพุ่มตรง ที่ข้อของลำต้นที่มีใบแตกออกมา ต้นละหุ่งมีสีเขียว แดง หรือม่วง เมื่อต้นละหุ่งเติบโตมีใบหรือข้อประมาณ ๖ - ๑๒ ใบ จะมีช่อดอกเกิดขึ้นที่ยอด ในขณะที่ช่อแรกกำลังออก ดอกติดฝักจะมีกิ่งชุดแรกแตกออกจากลำต้นใต้ ช่อดอกแรกอีกสองถึงสามกิ่ง เมื่อกิ่งชุดแรกมี ช่อดอกเกิดขึ้นที่ยอด กิ่งชุดที่สองก็จะแตกออก จากกิ่งชุดแรก และมีกิ่งชุดที่สามแตกออกจากชุด ที่สองและกิ่งชุดต่อๆ ไปเกิดขึ้นตามลำดับ ทำให้ลำต้นมีการเจริญเติบโตอย่างสืบเนื่องไปตาม ลำดับ โดยเฉพาะในละหุ่งประเภทยืนต้นซึ่งมี อายุหลายปี แต่สำหรับละหุ่งประเภทอายุสั้นนั้น การเจริญเติบโตจะสิ้นสุดหลังการแตกกิ่งชุดที่สอง หรือที่สาม แล้วทั้งต้นจะแห้งตายไปในที่สุด

เมล็ดละหุ่งพันธุ์พื้นเมือง :
ก. ลายขาวดำ

เมล็ดละหุ่งพันธุ์พื้นเมือง :
ข. ลายหินอ่อน

            ใบละหุ่งเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ ขอบใบแยกเป็นแฉกลึก จำนวน ๗ - ๑๑ แฉก สีของใบและก้านใบเป็นสีเดียวกับสีของลำต้น บางพันธุ์มีไขสีขาวคล้ายแป้งเกาะคลุมผิวใบ ช่อดอกมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน ในแต่ละช่อแบ่งออกเป็นสองส่วน ดอกตัวผู้เกิดเป็นกระจุกอยู่ที่โคนของช่อดอก ส่วนดอกตัวเมียเกิดเรียงอยู่ด้านบน ถัดต่อไปถึงปลายช่อมีเรณู (เกสรตัวเมีย) รูปสามแฉกสีแดงเห็นได้ชัด ช่อดอกที่มีดอกตัวเมียจำนวนมาก ก็ติดเมล็ดมาก ดอกที่ได้รับการผสมเกสรจะพัฒนาเป็นผล ผลของละหุ่งส่วนใหญ่มีหนาม ภายในผลละหุ่งแบ่งออกเป็น ๓ พู และแต่ละพูมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ขนาดของผลก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ด เมื่อผลละหุ่งแก่จะแตกออกตามรอยเชื่อมระหว่างพู ทำให้เมล็ดร่วงไป

เมล็ดละหุ่งพันธุ์พื้นเมือง :
ค. ลายแดงเข้ม


            เมล็ดละหุ่งมีขนาด รูปร่าง สี และลาย บนเปลือก แตกต่างกันไปตามพันธุ์ แต่โดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเห็บ คือ เมล็ดค่อนข้างกลม น้ำหนัก ๑๐๐ เมล็ด ประมาณ ๒๐ - ๖๐ กรัม มีเปลือกข้างนอกแข็ง ข้างในมีใบเลี้ยง ๒ ใบ หุ้มต้นอ่อน ละหุ่งที่ปลูกเป็นการค้ามีน้ำมันในเมล็ดประมาณร้อยละ ๔๐ - ๖๐ และมีสารพิษไรซิน และไรซินินเจือปนอยู่ หากรับประทานเข้าไป ทำให้อาเจียน ท้องร่วง ง่วงนอน มีไข้สูง และทำให้เม็ดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

            พันธุ์ละหุ่งที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งเป็น ๒ พวก คือ พวกอายุใช้พันธุ์พื้นเมือง เช่น ลายขาวดำ ลายหินอ่อน ลายแดงเข้ม เป็นต้น ละหุ่งพวกนี้ เมื่อปลูกแล้ว จะปล่อยทิ้งไว้ให้ติดผล เป็นเวลา ๕ - ๖ ปี หรือนานกว่านั้น ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการผลิตละหุ่งอายุสั้น พันธุ์ลูกผสม ชื่อ อุบล 90 และได้นำพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์ H 22 ทั้งสองพันธุ์มีลำต้นเตี้ย (๑ - ๑.๕ เมตร) และมีอายุสั้น (๗๕ - ๑๐๐ วัน) ให้ผลิตผลต่อไร่และเมล็ดมีน้ำมันสูง แต่เมล็ดที่เป็นเมล็ดพันธุ์ยังมีจำนวนจำกัด และมีราคาแพงกว่าพันธุ์พื้นเมือง จึงยังไม่มีการปลูกพันธุ์ลูกผสมอย่างแพร่หลาย

            แม้ว่าละหุ่งจะเหมาะสมต่อสภาพดินฟ้าอากาศในเขตร้อน และทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีแมลงศัตรูที่สำคัญหลายชนิด ทำความเสียหายแก่ละหุ่งตลอดเวลา เกษตรกรจึงปลูกละหุ่งเป็นพืชเสริมรายได้ โดยปลูกรายละเล็กน้อย เช่น บนหัวไร่ ปลายนา หรือในพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกพืชชนิดอื่น และบางรายก็ปลูกละหุ่งแซมกับพืชอื่นๆ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชชนิดเดียว

            ละหุ่งควรปลูกในต้นฤดูฝนบนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ดินระบายน้ำได้ดี ละหุ่งพื้นเมืองมีอายุยาว และต้นโต ใช้ระยะปลูกประมาณ ๓ x ๓ เมตร ส่วนละหุ่งพันธุ์ลูกผสมต้นเตี้ยอาจลดระยะปลูกลง เหลือ ๑ x ๑.๕ เมตร และในการปลูกละหุ่งแซมกับพืชอื่น อาจปลูกละหุ่ง ๑ แถว สลับกับข้าวโพด ๖ แถว เป็นต้น ในระหว่างที่ละหุ่งเจริญเติบโตอยู่ในไร่ อาจมีการพรวนดินดายหญ้า ให้คลุมต้นละหุ่งบ้าง ส่วนการป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้น เกษตรกรอาจไม่ได้ปฏิบัติกันเลย เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน

            เนื่องจากช่อดอกละหุ่งทยอยกันออก ทำให้ผลละหุ่งสุกแก่ไม่พร้อมกันทั้งต้น เกษตรกรจะเลือกตัดช่อที่ผลสุกแก่มาเก็บกองไว้ในที่ร่ม ต่อเมื่อมีเวลา หรือว่างจากงานอื่น จึงนำเมล็ดมากะเทาะด้วยมือ แล้วจึงเก็บเมล็ดรวบรวมไว้ จนมีปริมาณมากพอ ก็นำไปจำหน่ายเป็นครั้งคราวไป ในฤดูแล้ง ละหุ่งหยุดการออกดอก และชะงักการเจริญเติบโต ถ้าเป็นละหุ่งพันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรปล่อยต้นทิ้งไว้ เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนในปีต่อไป จึงตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้แตกยอด และออกช่อใหม่อีกครั้ง สำหรับละหุ่งพันธุ์ลูกผสมนั้น เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ต้นจะแห้งตายไป ต้องปลูกใหม่อีกในปีต่อไป

            น้ำมันละหุ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถนำเอาน้ำมันพืชชนิดอื่นมาใช้ทดแทนได้ เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเรซิน (resin) และเส้นใยเทียม พลาสติก หนังเทียม น้ำมันชักเงา และน้ำมันผสมสี ฉนวนไฟฟ้า ขี้ผึ้งเทียม น้ำยารักษาหนัง น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเบรกรถยนต์ และหมึกพิมพ์ น้ำมันละหุ่งหลังจากผ่านกรรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์แล้ว นำไปใช้ผลิตยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอางชนิดต่างๆ และสบู่ อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี