คำฝอย
จากหลักฐานที่ค้นพบในหลุมฝังศพของชาวอียิปต์ ยืนยันว่า มีการปลูกคำฝอยมาเป็นเวลานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี เพื่อเป็นไม้ดอก และใช้กลีบดอกเป็นสีย้อมผ้า และวัสดุอื่นๆ ให้มีสีเหลือง คำฝอยมีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายอาหรับ ระหว่าง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอ่าวเปอร์เซีย จากนั้น ได้แพร่ออกไปสู่ทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย ตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย โดยนำกลีบ ดอกมาเป็นสีย้อมผ้าครองของพระสงฆ์ จนกระทั่ง เมื่อ ๕๐ - ๖๐ ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปได้นำเอา เมล็ดคำฝอยมาสกัดน้ำมันและได้น้ำมันที่มี คุณภาพสูง (โดยมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึงร้อยละ ๙๐) นำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันผสมสี และน้ำยา เคลือบผิว ต่อมาเมื่อทางการแพทย์ได้ค้นพบการ สะสมตัวของคอเลสเทอรอลในเส้นเลือด ทำให้มี การบริโภคน้ำมันคำฝอยมากขึ้น และได้มีการ แปรรูปเป็นโภคภัณฑ์อีกหลายชนิด รวมทั้ง เครื่องสำอางและยารักษาโรค
คำฝอยอยู่ในวงศ์ Compositae เช่นเดียวกับทานตะวัน และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carthamus tinctorius L. ทรงต้นเป็นพุ่มเตี้ยแตกกิ่งมาก สูง ตั้งแต่ ๓๐ - ๑๕๐ เซนติเมตร ใบค่อนข้างเล็ก ปลายแหลม และขอบใบเว้าเป็นฟันเลื่อย แข็ง และคมคล้ายหนาม ดอกมีสีเหลืองอมแดงรวม กันอยู่บนจานซึ่งเกิดจากยอดและกิ่ง จานดอกมี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร เมล็ด คำฝอยมีลักษณะคล้ายทานตะวัน แต่มีขนาดเล็ก กว่า น้ำหนัก ๑๐๐ เมล็ดประมาณ ๕ - ๗ กรัม เมล็ดสุกแก่หลังจากปลูก ๘๐ - ๑๒๐ วัน เก็บเกี่ยว โดยใช้มีดตัดจานดอก เก็บรวบรวมไปตากให้แห้ง แล้วใช้ไม้ตีแยกเอาเมล็ดออก การปฏิบัติทำได้ ลำบาก เนื่องจากอันตรายจากหนามแหลมคม ใน สหรัฐอเมริกาซึ่งปลูกในแปลงขนาดใหญ่ต้องใช้ เครื่องจักรเก็บเกี่ยว
คำฝอยเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งมากที่สุด ปลูกได้ในท้องที่ที่แห้งแล้ง ซึ่งมีฝนตกน้อย (๒๐๐ - ๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปี) ประเทศที่ปลูกมากคือ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และอินเดีย สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการปลูก เพื่อเป็นการค้า เนื่องจากทำรายได้ไม่สูงเท่าพืชอื่น
ดอกคำฝอย