การเผากระดาษเงินกระดาษทองอุทิศให้ผู้ล่วงลับของชาวจีน
ศาสนาและความเชื่อ
ศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งในสังคม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ หลักธรรมคำสอน พิธีกรรมที่แสดงออกถึงความเชื่อนั้น และความเชื่อ และวิธีการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ศาสนามีบุคลากรทางศาสนาเป็นผู้สั่งสอนหลักธรรม ประกอบพิธีกรรม และเป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา
ศาสนาในสังคมไทยมีหลายศาสนา คือ พุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาของชาวจีน และศาสนาของชาวเขา
บางครั้งเรียกว่า ความเชื่อของชาวจีน และความเชื่อของชาวเขา เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีโครงสร้างสถาบันทางศาสนาอย่างเด่นชัด มีขนาดเล็ก และกระจัดกระจายไปตามกลุ่มคนในที่ต่างๆ โดยไม่มีความเชื่อมโยงกันเป็นระบบเหมือนศาสนาอื่นๆ
ศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อศรัทธาในหลักธรรมคำสอน ซึ่งให้คำอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไป อธิบายอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อธิบายสาเหตุของปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดความสงบ และความหวังในชีวิต
พิธีกรรมคือ การแสดงออกถึงความเชื่อเหล่านี้ ตั้งแต่คนเกิดมา จนถึงตาย มีพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต พิธีกรรมตามฤดูกาล ตามเทศกาล หรือวันสำคัญที่ศาสดา และประเพณีได้กำหนด และกระทำสืบต่อกันมา พิธีกรรมเหล่านี้ นอกจากจะให้ความหมายเกี่ยวกับชีวิตแล้ว ยังเป็นการกระชับความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้หลักธรรมคำสอน และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของศาสนา ได้รับการเคารพนับถือ และปฏิบัติตาม
ความเชื่อในศาสนาแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้นับถือศาสนานั้นๆ ซึ่งมีกฎหรือบัญญัติ ที่เรียกชื่อต่างๆ กันเป็นแนวทาง อย่างเช่น พุทธศาสนามีศีล ๕ และหลักศีลธรรม จริยธรรม หลายประการตามในพระไตรปิฎก ศาสนาคริสต์มีบัญญัติ ๑๐ ประการ และบทบัญญัติอื่นๆ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล ศาสนาอิสลามมีหลักเกณฑ์อย่างละเอียด ในการดำเนินชีวิต ในทุกด้าน เหล่านี้เป็นต้น