เล่มที่ 20
ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :



เทวสถานโบสถ์พราหมณ์   


พระราชพิธีตรียัมปวาย  


พระราชพิธีตรียัมปวาย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

            คำว่า พราหมณ์ หมายถึง คนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความรู้ทางวิทยาการเกี่ยวกับหลักดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสนา หรือแนวพิธีกรรมต่างๆ ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ และพิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนดูฤกษ์ดูยามในพิธีหลวง และพิธีราษฎร์

            ชาวอินเดียที่เป็นพราหมณ์เข้ามาในประเทศไทย ก่อนสมัยสุโขทัย โดยผ่านมาทางเขมร ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทางใต้ ศาสนาพราหมณ์คือ ศาสนาฮินดูดั้งเดิม ชาวอินเดียได้เข้ามาพร้อมกับศาสนาฮินดู โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

            คัมภีร์ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ คัมภีร์พระเวท แปลว่า ความรู้มาจากพระเจ้า พระผู้ประเสริฐ คือ พรหม คัมภีร์พระเวทจึงเป็นคำสอนของพระเจ้า มีเทพเจ้าทั้งหลายเป็นที่เคารพนับถือ เช่น พระอัคนีเทพ พระอินทรเทพ พระอัศวินเทพ สาวิตรีเทพ สุริยเทพ วรุณเทพ อุสาเทพ โสมเทพ วิษณุเทพ เป็นต้น ชาวฮินดูเลือกบูชาเทพองค์หนึ่งองค์ใด ที่ตนเองเคารพนับถือเป็นพิเศษ

            ในประเทศไทยมีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์หลายแห่ง เช่น โบสถ์พระอิศวร โบสถ์พระพิฆเนศ โบสถ์พระนารายณ์ โบสถ์เทพมณเฑียร โบสถ์พระแม่อุมาเทวี วัดวิษณุ เป็นต้น ทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หลายแห่งก่อตั้งมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

            พราหมณ์มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม ทั้งของหลวง และของราษฎร์ ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น นอกนั้นมีพิธี ซึ่งราษฎร์ทั่วไปก็กระทำ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีให้ โดยเฉพาะพิธีที่เกี่ยวกับขวัญ เช่น พิธีทำขวัญเดือนโกนผมไฟ พิธีโกนจุก พิธีสมรส พิธีศพ พิธีตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น

            พิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเอง มีอยู่ประจำเกือบทุกเดือน นอกนั้นก็มีการประกอบศาสนกิจเป็นประจำทุกวัน ด้วยการสวดมนต์การบูชาพระเจ้า โดยการร้องเพลงสดุดีพระองค์ ชาวฮินดูถือว่า ดนตรี การขับร้อง และการเต้นรำ เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ

            ชาวฮินดูซึ่งเข้ามาในประเทศไทยระยะร้อยปีเศษมานี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า จึงทำมาค้าขายในสังคม เหมือนพ่อค้าทั่วไปเป็นหลัก