เล่มที่ 20
ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พุทธศาสนา

            ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย คนไทยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือทั้งศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา โดยได้รับอิทธิพลจากขอม พุทธศาสนาเองมีทั้งนิกายมหายาน และหินยาน (เถรวาท) ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พุทธศาสนาฝ่ายหินยาน ลัทธิลังกาวงศ์ ได้เข้ามาแพร่หลาย จนกระทั่งความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานค่อยๆ หายไป

จิตรกรรมฝาผนัง

ครูบาศรีวิชัย

            พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมานับแต่กรุง สุโขทัยมาจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และใน รัชกาลที่ ๓ ได้เกิดแบ่งแยกออกเป็นสองนิกาย คือ มหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิม และธรรมยุติกนิกาย โดยผู้ก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย คือ พระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ทรงลาผนวช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุต

                        จำนวนพระสงฆ์สามเณรในมหานิกายมีอยู่ ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป และมีวัดอยู่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ในธรรมยุติกนิกายมีพระสงฆ์ และสามเณรประมาณ ๒๑,๕๐๐ รูป มีวัดอยู่ ประมาณ ๒,๒๐๐ แห่ง

พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ อินทปัญโญ

พิธีอุปสมบท

            แม้ว่าคณะสงฆ์จะมีสองนิกาย แต่ก็เป็นเรื่องของคณะสงฆ์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ยังปฏิบัติศาสนาเหมือนเดิม โดยไม่มีการแบ่งสังกัด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ก็ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก

            พุทธศาสนามีบทบาทอย่างสำคัญต่อสังคมไทย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนประมาณร้อยละ ๙๕ นับถือพุทธศาสนา ศาสนามีส่วนสำคัญในวิถีชีวิต การประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน ของครอบครัว และของสังคม พุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในสมัยก่อน กฎหมายตราสามดวง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน วัดเป็นโรงเรียน เป็นที่ฝึกอบรมบ่มนิสัยลูกหลานของชาวบ้าน และเป็นที่พึ่งพิง ที่พบปะประชุม ที่จัดงาน ที่พักคนเดินทาง ที่รื่นเริงจัดงานเทศกาลต่างๆ เป็นศูนย์กลางศิลปกรรม เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม นอกนั้น ยังเป็นที่พยาบาลคนเจ็บป่วย เพราะในวัดหลายแห่ง พระสงฆ์มีความรู้เป็นหมอยาอีกด้วย

            นับแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิรูปสังคม เริ่มมีการสร้างโรงเรียน ทั้งของรัฐ และของราษฎร์ มีการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนวัดในอดีต โรงเรียนหลายแห่งเริ่มแยกออกมาจากวัด จนกระทั่งออกมาเกือบหมดในปัจจุบัน

            บทบาทของพุทธศาสนาในสังคมไทย ก็เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์ทำหน้าที่หลักในการสั่งสอนชาวบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ แต่นับวันสังคมเริ่มมีสิ่งต่างๆ มาทดแทนบทบาทเดิมของวัดและพระสงฆ์

            ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้มีพระสงฆ์หลายรูปที่เริ่มช่วยงานพัฒนาสังคม เช่น ครูบาศรีวิชัย ผู้ซึ่งได้นำชาวบ้านสร้างถนน จากตัวเมืองเชียงใหม่ ขึ้นไปดอยสุเทพ เป็นระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร โดยไม่ต้องเสียงบประมาณเลย ชาวบ้านร่วมมือร่วมแรงกันทำ เมื่อมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ

            ทุกวันนี้มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคม และชุมชน ช่วยเหลือให้ชาวบ้านสามารถรวมตัวกัน และช่วยเหลือตนเอง แบ่งปัน และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ประยุกต์ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เหมาะสม เช่น การทำนาร่วมกัน แล้วนำข้าวที่ได้ไปก่อตั้งสหบาลข้าว หรือธนาคารข้าว เพื่อช่วยเหลือคนยากจน

            ในพุทธศาสนาเองก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ก่อนพระสงฆ์จะเทศน์ โดยการอ่านจากใบลาน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ริเริ่มปฐกถาธรรม เทศน์โดยใช้ภาษาธรรมดา ทำให้ผู้คนได้รับรู้พระธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ท่านยังได้ก่อตั้งสวนโมกข์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยใช้วัดร้างแห่งหนึ่งให้เป็นที่สงบ เพื่อการศึกษา และปฏิบัติธรรม นอกจากการใช้ภาษาธรรมดาแล้ว ท่านยังใช้สื่อต่างๆ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงพระธรรมง่ายยิ่งขึ้น เช่น ภาพวาดปริศนาธรรม และศิลปกรรมต่างๆ

            ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นการใช้ปัญญา ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายสำนักสงฆ์และวัด ที่ริเริ่มแนวทางปฏิรูปศาสนา บ้างก็เน้นศีล โดยเน้นการปฏิบัติที่เคร่งครัด บ้างก็เน้นสมาธิ โดยการฝึกสมาธิ บางแห่งก็เน้นการทำวิปัสสนากรรมฐาน หรือการทำสมาธิ โดยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

            การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อศาสนา การปฏิบัติศาสนาในเมืองเปลี่ยนไป วัดหลายแห่งในชนบทขาดพระสงฆ์ จำนวนพระสงฆ์ที่บวชนาน หรือตลอดชีวิตมีน้อยลง แต่ผู้บวชระยะสั้น หรือระหว่างเข้าพรรษายังมีอยู่มาก

            งานบุญประเพณี และพิธีกรรมใหญ่ๆ ซึ่งเคยมีเป็นประจำเกือบทุกเดือน ก็ลดน้อยลง ผู้คนในชนบทออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง และในถิ่นอื่นมากขึ้น จึงไม่สามารถจัดงานได้เหมือนเมื่อก่อน ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนก็ลำบากมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงิน และเป็นหนี้เป็นสินกันมาก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลอย่างสำคัญ ต่อวิถีชีวิตทางศาสนาของทุกศาสนาก็ว่าได้

            แต่ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า ความยากลำบากในสังคมปัจจุบัน ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันหลังเข้าพึ่งศาสนามากยิ่งขึ้น หลายคนไปบวช เพื่อหาความสงบทางจิตใจ หลบจากความวุ่นวาย เพื่อแสวงหาชีวิตที่เรียบง่าย หรือฝึกสมาธิระยะหนึ่ง เพื่อจะออกมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ หลายคนไปทำบุญที่วัด หรือไปทำสมาธิ เท่าที่เวลา และเงื่อนไขจะทำได้