การทำคลอดตามวิธีชาวบ้าน พิธีกินข้าวใหม่ของชาวเขาเผ่าลาฮู (มูเซอ) พิธีเลี้ยงผีหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าถิ่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของลูกหลานชาวเขาบางส่วน | ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย ชาวเขาในประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอยู่ ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามรอยตะเข็บชายแดนไทยพม่า จากภาคเหนือลงไปจนถึงกาญจนบุรี และเพชรบุรี ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ตามชายแดนติดกับประเทศลาว นอกนั้น กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น เพชรบูรณ์ อุทัยธานี กำแพงเพชร เป็นต้น ชาวเขาเหล่านี้มีอยู่หลายเผ่า เช่น ลัวะ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เมี่ยน (เย้า) ลีซู (ลีซอ) ลาฮู (มูเซอ) อะข่า (อีก้อ) และถิ่น เป็นต้น จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว อีกจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปมา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ความเชื่อ และพิธีกรรมสำคัญของชนเผ่าเหล่านี้ มีลักษณะคล้ายกันที่ว่า เกี่ยวข้องกับชีวิต การเกิด การตาย และการเจ็บไข้ได้ป่วย ความเชื่อ และพิธีกรรม แสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่คนมีต่อผี ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเขา แต่ละเผ่าจะมีรายละเอียด ที่แตกต่างกันไป ความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดของชาวเขา แสดงให้เห็นถึงความยากลำบาก ในการที่แม่ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตร จึงมีกฎเกณฑ์มากมายในการปฏิบัติตนของแม่ ข้อห้ามในชีวิตประจำวัน การกินอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้คลอดลูกง่าย และให้ลูกมีสุขภาพดี มีการเซ่นไหว้ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวเขาเชื่อว่า การเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากผี จึงมีหมอที่บอกถึงอาการ และวิธีการรักษา มีการเซ่นไหว้ผี และรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ โดยหมอผีเป็นผู้ทำพิธี บางกรณีก็ใช้ยาสมุนไพร และส่วนหนึ่งรักษา ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เมื่อมีสมาชิกตาย ชาวเขาเชื่อว่า เขาไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งของคนตาย เขาจะมีชีวิต และกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับโลกมนุษย์ ชาวเขาแต่ละเผ่ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย ตั้งแต่การอาบน้ำศพ การสวดศพ การจัดพิธีฝังหรือเผาศพ ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตของชาวเขา มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงการสั่งสมประเพณีดังกล่าวมาช้านาน และถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน ความเชื่อนี้ไม่ได้แยกออกไปจากการดำเนินชีวิตของพวกเขา ซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผี วิญญาณ และสิ่งที่ไม่เห็น หรือสัมผัสได้อยู่ตลอดเวลา การรักษากฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมา จึงต้องทำอย่างเคร่งครัด หากมีการละเมิดก็จะเกิดเหตุไม่ดีต่างๆ จะต้องขอขมาต่อผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแก้ไขความผิดที่ได้กระทำไป การรักษากฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ชาวเขาอยู่รอดได้ในสภาพชีวิตที่ยากลำบาก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตของชาวเขาส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคม การคมนาคม การติดต่อระหว่างชาวเขากับคนอื่นๆ การไปมาหาสู่กับชุมชนอื่น และกับเมือง ถนนหนทางกำลังรุกไล่เข้าไปถึงชุมชนที่พวกเขาอยู่ พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในวิถีการดำเนินชีวิต การ บริโภค และความสัมพันธ์ภายในสังคม และกับธรรมชาติ ป่าเขาเองก็เปลี่ยนไป แทบจะไม่มีป่า เหลือให้พวกเขาเคลื่อนย้ายทำมาหากิน เหมือนที่เคยทำอีกต่อไป ส่วนใหญ่จึงต้องปักหลักปักฐานที่เดิม และเริ่มการผลิต ทั้งแบบใหม่ การปลูกผัก ผลไม้ หรือการทำเกษตรยั่งยืน เพื่อการฟื้นธรรมชาติ และเพื่อการยังชีพ ส่วนหนึ่งอพยพลงไปอยู่ในเมือง ลูกหลานชาวเขาส่วนหนึ่งเริ่มเรียนรู้ภาษาไทย อ่านออกเขียนได้ หลายคนเข้าไปเรียนต่อในเมือง และจบมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ หรือพุทธศาสนา ส่วนหนึ่ง ก็ยังรักษาความเชื่อประเพณีดั้งเดิมไว้ การเปลี่ยนแปลงสังคมมีผลอย่างสำคัญ ต่อความเชื่อดั้งเดิมของชาวเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนว่า พวกเขาไม่สามารถจะตามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน เมื่อหมดคนเฒ่าคนแก่รุ่นนี้ไปแล้ว คนรุ่นใหม่ก็คงต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ คงเปลี่ยนไปอย่างมาก |