วัดนักบุญยอเซฟ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและภายในวัดนักบุญยอแซฟ อาสนวิหารอัสสัมชัญบางรักและบริเวณโดยรอบ การร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพมหานคร พิธีระลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับในสุสาน ณ โบสถ์นักบุญเปโตร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม การนมัสการพระเจ้า | ศาสนาคริสต์ ศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นมา โดยพระเยซูทรงเป็นศาสดา ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราชที่ ๑ แต่ชาวคริสต์เชื่อว่า ศาสนาคริสต์มีมาตั้งแต่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกและมนุษย์ เหตุการณ์ก่อนกำเนิดของพระเยซู จึงเป็นการเตรียมการเสด็จมาของพระองค์ ซึ่งชาวคริสต์เรียกว่า พระผู้ไถ่ (Redeemer) คือ ทรงมาไถ่กู้มนุษย์ให้พ้นจากบาป อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ ศาสนาคริสต์ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอิสราเอล แล้วเผยแผ่ไปในยุโรป กลายเป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมัน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๔ จากนั้นได้แพร่หลายออกไปทั่วโลกในยุคอาณานิคม นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา ศาสนาคริสต์มี ๓ นิกายใหญ่ๆ คือ นิกายโรมันคาทอลิก มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม นิกายออร์ธอดอกซ์ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยุโรปตะวันออก และนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นนิกายต่างๆ อีกจำนวนมาก อยู่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อมิชชันนารี หรือหมอสอนศาสนา เข้ามาจากมะละกา เพื่อเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับทหารโปรตุเกส แต่ก็อยู่เพียงระยะเวลาอันสั้น และไม่ประสบผลสำเร็จ มิชชันนารีกลับมาอีกครั้งหนึ่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส บาทหลวงซึ่งเป็นมิชชันนารีส่วนหนึ่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าประจำอยู่ในพระราชสำนัก เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ เช่น การแพทย์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น มิชชันนารีได้ก่อตั้งสถานพยาบาล เพื่อให้บริการแก่คนทั่วไป และตั้งโรงเรียน เพื่อฝึกอบรมคนที่จะบวชเป็นบาทหลวง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้เริ่มงานทั้งสองด้านนี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีมิชชันนารี ซึ่งเป็นคณะนักบวช ทั้งชายและหญิงเข้ามาสนับสนุน เช่น คณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นบราเดอร์ หรือภราดา เข้ามาช่วยบริหารงานโรงเรียนอัสสัมชัญในเบื้องต้น แล้วจึงรับมาดำเนินการเอง พร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญ เซนต์คาเบรียล ขึ้นมาอีกหลายแห่ง คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร์ เป็นนักบวชหญิง ที่เรียกว่า ซิสเตอร์ หรือมาเซอร์ หรือมาแมร์ หรือภคินี คณะนี้ได้เข้ามาช่วยงานศาสนา และได้ก่อตั้งโรงเรียนในเครือคอนแวนต์ คือ ซางตาครูซ คอนแวนต์ เซนต์โยเซฟ คอนแวนต์ เซนต์ฟรัง ซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ อัสสัมชัญ คอนแวนต์ เป็นต้น คณะอูรซูลิน เข้ามาตั้งโรงเรียนในเครือมาแตร์เดอีวิทยาลัย เช่น เรยีนาเชลี ที่เชียงใหม่ และอื่นๆ ที่กรุงเทพฯ นอกนั้น ยังมีโรงเรียนของคณะซาเลเซียน ในเครือดอนบอสโกทั้งหมด เช่น เซนต์ดอมินิก และโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัด นอกจากโรงเรียน ยังมีโรงพยาบาลหลายแห่ง ที่พัฒนาขึ้นมาจากสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลคามิลเลียน การให้บริการแก่คนพิการ คนโรคเรื้อน เด็กกำพร้า และงานทางสังคมต่างๆ ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเขตการปกครองทางศาสนา เป็น ๑๐ เขต คือ กรุงเทพฯ ราชบุรี จันทบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ท่าแร่-หนองแสง (สกลนคร) อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา มีประมุขสูงสุดของแต่ละเขตเรียกว่า ประมุขมิสซัง หรือที่ชาวคาทอลิกเรียกว่า พระสังฆราช (Bishop) ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ชาวคริสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอพยพมาจากที่อื่น คือ ลาว เขมร เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และชาวโปรตุเกส ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดหาที่ให้ เช่น ที่บางรัก สามเสน ตลาดน้อย (ใกล้เยาวราช) และฝั่งธนบุรีแถววัดกุฎีจีน เป็นต้น ชุมชนคาทอลิกเหล่านี้ มีมิชชันนารีเป็นผู้นำ มีการดูแลเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก ทางด้านการปกครองทางศาสนา ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ขึ้นต่อศูนย์กลางศาสนานี้ที่นครวาติกัน ซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐอิสระ มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข มีทูตวาติกันประจำประเทศไทย กิจวัตรของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศ ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ คือ มีบัญญัติ ๑๐ ประการเป็นหลัก ไปโบสถ์ เพื่อร่วมพิธีมิสซา ในวันอาทิตย์มีพิธีกรรมตามเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซู วันปาสกา เพื่อระลึกวันสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์ เทศกาลถือศีลอดของคาทอลิกเรียกว่า เทศกาลมหาพรตเป็นเวลา ๔๐ วันก่อนถึงปาสกา ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนด์เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อบาทหลวงชาวเยอรมัน ชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้ทำการประท้วงแนวคิด และวิธีการดำเนินงานภายในศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในศตวรรษที่ ๑๗ เป็นเหตุให้ท่านถูกขับออกจากศาสนจักร และเริ่มก่อตั้งนิกายใหม่ขึ้น เรียกว่า ลูเธอรัน ต่อมาได้เกิดมีนิกายอื่นๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก เช่น อังกลิกัน ที่อังกฤษ คัลวินิสต์ ที่สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส เพรสไบทีเรียน แบ็พทิสต์ และอื่นๆ ที่สหรัฐอเมริกา ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เข้ามาในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.๑๘๒๘ (พ.ศ. ๒๓๗๑) โดยมิชชันนารีชาวอเมริกันสองท่าน ซึ่งตั้งใจจะไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองจีน แต่แวะประเทศไทยก่อน เพราะได้ข่าวว่า มีคนจีนที่ประเทศสยามจำนวนมาก ทั้งสองได้ให้ชาวจีนผู้หนึ่งแปลพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเรียกว่า พระกิตติคุณ จากนั้นมิชชันนารีทั้งสองท่านได้ขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการอเมริกัน (The American Board of Commissioners for Foreign Missions หรือ ABCFM) ให้ส่งคนมาช่วย หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็มีอีกคณะหนึ่งเข้ามา คือ คณะธรรมการอเมริกันแบ็พทิสต์ (The American Baptist Missions หรือ ABM) คณะนี้ได้สานต่องานแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทยจนสำเร็จ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ มีคณะกรรมการธรรมการฝ่ายต่างประเทศ (Board of Foreign Missions หรือ BFM) และคณะธรรมการอเมริกันเพรสไบทีเรียน (The American Presby- terian Missions หรือ APM) ในจำนวนนี้มีครอบครัวของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคนไทยรู้จักชื่อเสียงของท่าน ในนามหมอบรัดเลย์ นอกนั้นมีครอบครัว ศาสนาจารย์เจมส์ แคสเวลล์ ผู้ซึ่งเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ให้เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลย์นั้นได้ตั้งโอสถศาลา เพื่อรักษาโรคต่างๆ ให้กับผู้คนทั่วไป รวมทั้งการผ่าตัด การทำคลอด โดยเฉพาะการปลูกฝีกันไข้ทรพิษ นอกนั้นท่านยังได้บุกเบิกงานด้านหนังสือพิมพ์ โดยออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทย คือ บางกอกรีคอร์เดอร์ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารไปยังคนชั้นสูงในสังคมไทย โดยท่านรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ในระยะเริ่มแรกนั้น ได้มีมิชชันนารีอีกหลายครอบครัวที่เดินทางเข้ามาสมทบ มีการก่อตั้งโรงเรียนสอนเป็นภาษาจีนขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๔๙ และเปลี่ยนมาสอนเป็นภาษาไทย ในปี ค.ศ. ๑๘๖๐ คือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในระยะเริ่มต้นนั้นได้มีการบุกเบิกการเผยแผ่ศาสนาในภาคเหนือ ตั้งแต่พิษณุโลกไปถึงภาคใต้ของจีน และต่อมามีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่เชียงใหม่ มีการก่อตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล เช่น โรงเรียนปรินซ์รอยัล มหาวิทยาลัยพายัพ และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นต้น เนื่องจากโปรเตสแตนต์ในเมืองไทยมีหลายนิกาย จึงได้มีการรวมตัวกันขึ้นหลายรูปแบบ จนกระทั่งเป็นสภาคริสต์จักรในประเทศไทย (The Church of Christ in Thailand หรือ CCT) ในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ สภาคริสต์จักรในประเทศไท ยมีบทบาทอย่างมากในการริเริ่มการบริการสังคม การศึกษา การแพทย์ การพิมพ์ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาต่อๆ มา ปัจจุบันมีชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน คนทั่วไปเรียกชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ว่า คริสเตียน หรือโปรเตสแตนต์ และนิกายโรมันคาทอลิกว่า คริสตัง หรือคาทอลิก |