เล่มที่ 20
ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ศาสนาอิสลสาม

            ศาสนาอิสลสามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๑๑๕๔ ในคาบสมุทรอาหรับ แล้วเผยแพร่ไปสู่ทวีปยุโรป มาที่อินเดีย และหมู่เกาะชวา เข้ามาประเทศไทยทางทิศตะวันตก ผ่านบังคลาเทศ พม่า จากทิศเหนือเข้ามาทางภาคใต้ของจีน และทางทิศใต้ผ่านมาเลเซีย โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเข้ามาอีกจำนวนมาก ตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครนายก และปทุมธานี ที่ทราบกันดีว่า เป็นเขตที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดคือ สี่จังหวัดทางภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล นอกนั้นส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต เป็นต้น

มัสยิดกลางนราธิวาส  

มัสยิดในชุมชนมุสลิม

การละหมาดของชาวมุสลิมเพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้า

            ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ประมุขสูงสุดของชาวมุสลิมในประเทศไทยเรียกว่า จุฬาราชมนตรี ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง ในชุมชนชาวมุสลิมจะมีผู้นำศาสนา มีโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็ก มีสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เรียกว่า สุเหร่า หรือมัสยิด

            ศาสนาอิสลามถือว่า กฎเกณฑ์ทางศาสนาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ไม่ได้แยกชีวิตทางศาสนาออกจากทางโลก จึงมีกฎระเบียบต่างๆ อย่างละเอียด มีข้อห้ามจำนวนมาก เช่น ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือถูกสัตว์อื่นกัดตาย ห้ามรับประทานเลือดทุกชนิด เนื้อสุกร ห้ามกินสัตว์ที่จับสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น เสือ หมา ลิง หรือจับด้วยอุ้งเล็บ เช่น นกอินทรี เหยี่ยว นกเค้าแมว อีกา นอกนั้นยังรังเกียจอาหารประเภทดองต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า กะปิ บูดู ห้ามดื่นของเมาทุกชนิด รวมทั้งยาเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบ ซื้อขายสลากกินแบ่ง หรือหวย

            ในเรื่องการค้าขาย ศาสนาอิสลามห้ามการคดโกงทุกชนิด ให้ค้าขายอย่างเปิดเผย ห้ามผูกขาด กดราคา โกงราคา กักตุนสินค้า ห้ามเอาดอกเบี้ยเงินกู้ ห้ามสบถสาบาน หรือกล่าวเท็จ เป็นต้น

            อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติ ข้อห้าม และหลักปฏิบัติ สำหรับการดำเนินชีวิต ให้ชาวมุสลิมใช้เป็นแนวทาง ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเข้านอนเลยทีเดียว การปฏิบัติศาสนกิจเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน ศาสนกิจสำคัญมีอยู่ ๕ ข้อ ดังนี้

            ๑. การนมาซ (ละหมาด)

            เป็นการแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้าวันละ ๕ เวลา คือ เวลาย่ำรุ่ง ก่อนตะวันทอแสง (อัลซุบฮิ) เวลาตะวันคล้อย (อัลดุฮ์ริ) เวลาบ่าย (อัลอัซริ) เวลาพลบค่ำ (อัลมักริบ) และเวลากลางคืน (อัลอิชาอฺ)

            ๒. การถือศีลอด

            คือ การเว้นจากการดื่ม กิน และการร่วมสังวาส ตั้งแต่รุ่งสางจนพลบค่ำ ตลอดจนละเว้นความคิดร้าย วาจาหยาบคาย นินทาผู้อื่น การแสดงความโกรธ ความโลภ ความหลงต่างๆ เป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทน และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การถือศีลอดนี้ กระทำในเดือนรอมฎอน โดยนับเดือนตามจันทรคติ (พ.ศ.2538 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์) เป็นเวลาหนึ่งเดือน ผู้ที่ได้รับการยกเว้น คือ ผู้ทำงานหนัก คนชรา คนเจ็บ เด็ก หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อน

            ๓. การบำเพ็ญฮัจญ์

            คือ การเดินทางไปบำเพ็ญศาสนกิจ ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

            ๔. การจ่ายซะกาต

            หรือการจ่ายทาน เป็นการจ่ายตามศาสนบัญญัติ จากที่มีเกินจำเป็นในครอบครัว ทั้งทรัพย์สินเงินทอง และอาหาร เพื่อให้แก่คนยากจน คนขัดสนต่างๆ ซึ่งมีกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องจ่ายในอัตราเท่าใดของรายได้ของแต่ละคน

            ๕. วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของมุสลิม

            จะต้องผูกพันอยู่กับความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา ตั้งแต่การทำพิธีนมาซในตอนรุ่งเช้า เมื่อตื่นนอน จนนมาซครั้งที่ ๕ เมื่อก่อนเข้านอน ในการรับประทานอาหาร หรือปฏิบัติงาน การปฏิบัติตนต่อสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ศาสนาได้กำหนดไว้

            ชาวมุสลิมเชื่อว่า อิสลามเป็นศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) ทรงบัญญัติแก่ นบี (ศาสดา) เพื่อสั่งสอนมนุษย์ ตั้งแต่มีโลกมนุษย์มา โดยมี นบีมูฮัมมัด เป็นนบีองค์สุดท้าย

            อิสลาม มีความหมายว่า การนอบน้อมตน ตามพระประสงค์พระผู้เป็นเจ้า ที่มุ่งให้มนุษย์ทำความดี และละเว้นความชั่ว ตามหลักการที่พระองค์ทรงสั่งสอนทางศาสดา

            อัล-กุรอาน คือ คัมภีร์ของอิสลาม ศรัทธาของอิสลามมี ๖ ประการ คือ

            ๑. ศรัทธาในความเป็นเอกของพระผู้เป็นเจ้า

            ๒. ศรัทธาในเทวดา (อัลมาลาอิกะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า

            ๓. ศรัทธาในคัมภีร์ (อัล-กุรอาน) ของพระผู้เป็นเจ้า

            ๔. ศรัทธาในนบี (นบีมูฮัมมัด) (ผู้ ประกาศข่าว) และผู้สื่อสารของพระผู้เป็นเจ้า

            ๕. ศรัทธาในวันสิ้นโลก

            ๖. ศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้