วัดมังกรกมลาวาส ฮวงซุ้ยของชาวจีน ศาลเจ้าของชาวจีน พิธีกินเจที่จังหวัดตรัง | ความเชื่อของชาวจีนในประเทศไทย ชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองจีนหลายระลอก นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา นับเป็นกลุ่มคนจำนวนมากที่สุด ที่อพยพมาจากประเทศอื่น และยังคงรักษาความเชื่อ และประเพณีของตนไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะปรับตัว หรือถูกกลืนไปกับวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ในสังคมไทย ลักษณะความเชื่อทางศาสนาของชาวจีนในประเทศไทย ผสมผสานความเชื่อของพุทธศาสนา การบูชาบรรพบุรุษ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ และการ นับถือเทพเจ้า ชาวจีนจะนิยมไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษ ในขณะเดียวกันก็ทำบุญตักบาตร หรือให้ลูกบวชเรียนในพุทธศาสนา โดยไม่ถือว่า มีความขัดแย้งกัน ความเชื่อดั้งเดิมที่ชาวจีนรับมาจากบรรพบุรุษที่สำคัญ คือ ๑. ลัทธิขงจื้อ เป็นคำสอนที่มีความสำคัญ ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมไว้อย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกหลาน ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง หรือผู้ใหญ่กับผู้เยาว์ ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับครอบครัว นอกนั้นยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ ที่สำคัญ คือ การเน้นความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ และบรรพบุรุษ ๒. ลัทธิเต๋า เป็นคำสอนทางปรัชญา ที่ว่าด้วยชีวิตกับธรรมชาติ สอนให้บุคคลดำเนินชีวิตโดยไม่ฝืนธรรมชาติ รู้จักตนเอง เอาชนะตนเอง รู้จักพอ สอนให้รู้จักสันโดษ สอนว่า การปกครองที่ดีนั้น ไม่ควรใช้อำนาจมาก ไม่ควรมีกฎระเบียบมาก ให้เป็นไปโดยธรรมชาติ เหมือนชีวิตในครอบครัวเดียวกัน ต่อมาเต๋าได้ปรับตัว ผสมผสานกับพุทธศาสนานิกายมหายานในจีน ทำให้เกิดมีซั่มเมง (ไตรสุทธิ) หรือพระผู้บริสุทธิ์ทั้งสาม คือ เล่าจื๊อ พ่อนโกสี (เทพผู้สร้างโลก) และเง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นต้น ๓. พุทธศาสนามหายาน นอกจากจะชี้ทาง เพื่อการพ้นทุกข์ เหมือนคำสอนของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ยังมีการผสมผสานกับความเชื่ออื่นๆ มีพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ จำนวนมากมาย พระพุทธเจ้าองค์สำคัญที่สุด คือ พระอมิตาภะ และพระโพธิสัตว์องค์สำคัญที่สุด คือ พระอวโลกิเตศวร หรือกวนอิม หัวใจการปฏิบัติธรรม คือ ต้องมีทั้งปัญญา และกรุณา ควบคู่กันไป เน้นการละความเห็นแก่ตัว และทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งเป็นที่มาขององค์กรการกุศลต่างๆ เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โรงพยาบาลหัวเฉียว ถนน ศาลา โรงธรรม เป็นต้น ๔. การนับถือเทพเจ้า เป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา มีเทพเจ้าประจำสถานที่ ทะเล ภูเขา ป่า แม่น้ำ บ้านเรือน ประจำอาชีพ เทพเจ้าชั้นสูงที่มีคุณธรรมเป็นเลิศ ได้แก่ เทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่ทับทิม เป็นต้น เทพเจ้าชั้นสูงสุด ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าที่ถือว่า เป็นเซียนต่างๆ เช่น โป๊ยเซียน เป็นต้น จะมีศาลเจ้าขนาดต่างๆ สร้างไว้ในชุมชน หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อการสักการะ ประเพณีสำคัญของชาวจีนที่ยังเหลืออยู่ และได้รับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในประเทศไทย มีหลายประเพณีด้วยกัน เช่น ตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้ง เทศกาลกินเจ เป็นต้น พิธีกรรมสำคัญในแต่ละช่วงชีวิต ได้แก่ พิธีรับขวัญเด็ก พิธีแต่งงาน พิธีแซยิด ครบรอบปีเกิดสำคัญ เช่น ครบห้ารอบ หรืออายุ ๖๐ ปี พิธีกงเต็ก หรือพิธีศพให้ผู้ล่วงลับ โดยจัดเครื่องในพิธีที่ประกอบด้วย กระดาษรูปทรงสมบัติในบ้าน เครื่องใช้ต่างๆ เพื่ออุทิศให้ผู้ตาย |