กระบวนพยุห ยาตราชลมารค
คราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕
กระบวนพยุหยาตราชลมารค
กระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมือง เข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น
การจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคนี้ กล่าวได้ว่า วิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในกระบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิมอีกด้วย ทั้งยังจัดเป็นการแสดงออก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ทรงแสดงพระบารมีแผ่ไพศาล เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ และเป็นที่พึ่ง แด่พสกนิกรทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยทั่วไปการจัดริ้วกระบวนได้แบ่งออกเป็น ๒ แบบ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราใหญ่ ซึ่งจัดเป็น ๔ สาย และระบวนพยุหยาตราน้อย จัดเป็น ๒ สาย การจัดริ้วกระบวนมีกระบวนการจัดแบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ กระบวนนอกหน้า กระบวนในหน้า กระบวนเรือพระราชยาน กระบวนในหลัง และกระบวนนอกหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา และความมีระเบียบ สมกับเป็นประเพณีของชาติ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล
เรือพระราชพิธี หมายถึง เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ประทับในระหว่าง เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใดที่หนึ่งโดยทางน้ำ เรือพระที่นั่งนี้ จะแวดล้อมแห่แหนด้วยริ้วกระบวนเรือของขุนนาง และทหารในกอง กรมต่างๆ ที่เรียกว่า เรือหลวง มีการจัดเรียงลำดับเรือต่างๆ ตามแบบแผนของการจัดทัพ ที่มีมาแต่โบราณ