จิตรกรรมฝาผนังเรือพระราชพิธี
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ลักษณะเรือพระที่นั่ง และเรือในริ้วกระบวน
ในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระเจ้าอยู่หัว ในสมัยโบราณนั้น เข้าใจว่า แต่ก่อน จะมีเรือ ๒ สำรับ เป็นเรือทอง อันหมายถึง เรือที่แกะสลักลวดลาย และลงรักปิดทองสำรับหนึ่ง จะใช้ในเวลาเสด็จในกระบวนที่เป็นพระราชพิธี ส่วนอีกสำรับหนึ่ง เป็นเรือไม้ ซึ่งมักจะใช้ทรงในเวลาปกติทั่วไป ไม่ปะปนกัน
จากการจัดริ้วกระบวนเรือ จะมีชื่อเรือต่างๆ มากมาย ที่จะร่วมในกระบวน ซึ่งเรือเหล่านี้ มีลักษณะแตกต่างกันไป ตามความสำคัญ และ ลักษณะที่มาคือ
๑. เรือประตู
มีลักษณะเป็นเรือกราบ กลางลำมีกัญญา เรียกกันว่า เรือกราบกัญญา ทำหน้าที่เป็นเรือนำริ้วกระบวน มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นปลัดทูลฉลองนั่งในกัญญาลำละ ๑ ท่าน
๒. เรือพิฆาต
เป็นเรือรบไทยโบราณ ประเภทหนึ่ง มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ในสมัยอยุธยา รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มี ๕ คู่ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๖ คู่ ภายหลังตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา มี ๑ คู่ คือ เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสิทธุ์ หัวเรือทำเป็นรูปหัวเสือ มีคฤห์สำหรับอำมาตย์ฝ่ายทหารนั่ง แต่ในสมัยอยุธยาใช้เรือแซ เรือพิฆาต มีนายเรือ นายท้ายฝีพาย และคนนั่งคฤห์ รวม ๓๑ นาย
๓. เรือดั้ง
เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายอย่างใด ใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ ๑ นาย ในเรือนี้มีพลปืน ๔ นาย และมีนายเรือ นายท้าย และฝีพาย ลำละ ๒๙-๓๕ คน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ และมีคนกระทุ้งเส้า ลำละ ๒ นาย เรือที่กระทุ้งเส้าในสมัยอยุธยา เป็นพวกเรือไชย ซึ่งเป็นเรือชนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงและงอนขึ้นไป ซึ่งกล่าวว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกิ่ง แต่ไม่ ทราบว่าต่างกันตรงไหน แต่ปัจจุบันเรือดั้งหัวเรือ ปิดทอง ถ้าหัวเรือยังเขียนลายน้ำยา ใช้เป็นเรือ ประจำยศพระราชาคณะ
๔. เรือกลองนอก-กลองใน
เป็นพวก เรือกราบ มีนายเรือ นายท้าย และฝีพายลำ ละ ๓๐ นาย มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ช่วย ผู้อำนวยการกระบวนพยุหยาตรา นั่งคฤห์ พร้อมทนายในเรือกลองนอก และมีผู้บัญชาการกระบวน พร้อมทนาย นั่งคฤห์เรือกลองใน ภายในเรือมีพนักงานปี่ชวา และกลองแขกบรรเลง ลำละ ๖ นาย
๕. เรือตำรวจนอก-ตำรวจใน
ใช้เรือกราบ มีนายเรือ นายท้าย และฝีพาย ในสองลำ ไม่เท่ากัน ลำหนึ่งมี ๒๒ นาย ลำหนึ่งมี ๒๗ นาย มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรม นั่งคฤห์
๖. เรือรูปสัตว์
เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์จริง และสัตว์ในเทพนิยาย ความเป็นมาของเรือรูปสัตว์ หรือที่เดิมเรียกว่า เรือศีรษะสัตว์นี้ เรือรูปสัตว์ของไทย คงได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เพราะตราประจำ ตำแหน่งของเสนาบดีตั้งแต่สมัยอยุธยามา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ใช้รูปสัตว์ ทั้งสิ้น เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ครุฑ นาค ฯลฯ ตรงตำแหน่งนี้ มีปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๘ แล้ว และจากพงศาวดาร เรือรูปสัตว์ ปรากฏขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พ.ศ. ๒๐๗๖ ซึ่งพระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือไชย และเรือรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัว เรือได้ เรือรูปสัตว์นั้น ถ้าเป็นเรือดั้ง น่าจะเป็นเรือคู่ คือ เรือครุฑ ๑ คู่ เรือกระบี่ (ลิง) ๒ คู่ และจะเห็นได้ว่า เรือเสนาบดี และเรือประตู เป็นเรือรูปสัตว์ จากตราตำแหน่งทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า เรือรูปสัตว์นั้น มาจากตราตำแหน่งนั่นเอง เพราะเมื่อเทียบเรือ รูปสัตว์กับตำแหน่งเสนาบดีที่ลดหลั่นลงมาก็จะ เห็นว่าตรงกัน
เรือพระที่นั่งก็มีโขนเรือเป็นรูปสัตว์ ตามพระราชลัญจกรเช่นกัน เช่น เรือครุฑ มีพระราชลัญจกร "พระ ครุฑพ่าห์" หัวเรือแต่เดิม ก็ทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น และมีเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเดิมก็มีแค่รูปครุฑเปล่าๆ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาใน รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทำองค์พระนารายณ์เติมเข้าไปด้วย เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง ซึ่งเป็นเรือของพวกกองอาสา กรมเขนทองซ้าย กรมเขนทองขวา ก็มีตราเป็นรูปลิง ซึ่งเรียกว่า "กระบี่ธุช"
โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
สมัยรัชกาลที่ ๔
ในสมัยอยุธยามีเรือครุฑซึ่งมีชื่อว่า "เรือ มงคลสุบรรณ" ซึ่งก็มิได้มีองค์พระนารายณ์อยู่ด้วย แต่ทำเป็น "ครุฑ ยุดนาค" ดังปรากฏในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ที่ว่า "เรือ ครุฑยุดนาคหิ้ว" นั่นเอง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรือรูปสัตว์ ลดน้อยลง เพราะชำรุดไปตามกาลเวลา เท่าที่ปรากฏ ในรัชกาลที่ ๔ มี
เรือครุฑ มีชื่อว่า "ครุฑ เหินเห็จ" และ "ครุฑ เตร็จไตรจักร"
โขนเรือครุฑเหินเห็จ
เรือพญาวานรมีชื่อว่า "พาลี รั้งทวีป" และ "สุ ครีพครองเมือง"
เรืออสูร มีชื่อว่า "อสุร วายุภักษ์" และ "อสุร ปักษา"
เรือกระบี่ มีชื่อว่า "กระบี่ ราญรอนราพณ์" และ "กระบี่ ปราบเมืองมาร" เป็นต้น
ชื่อของเรือรูปสัตว์ที่กล่าวถึงนั้น ปรากฏว่า แตกต่างไปจากที่ปรากฏในทำเนียบครั้งรัชกาลที่ ๑ อยู่ ๓ ลำ คือ
เรือสุรปักษา ในทำเนียบมีชื่อว่า เรืออสุรปักษี
เรือพาลีรั้งทวีป ในทำเนียบมีชื่อว่า เรือพาลีล้างทวีป
เรือพาลีรั้งทวีป
เรือครุฑเหินเห็จ ในทำเนียบมีชื่อว่า เรือครุฑเหิรระเห็จ
เรือรูปสัตว์นี้แต่ละลำมีปืนจ่ารงประจำที่โขนเรือลำละ ๑ กระบอก อาวุธอื่นมี เขน ดาบ ทวน หอก ง้าว และมีหางนกยูงประดับ มีนายเรือ นายท้าย และฝีพาย ลำละ ๓๗ นาย มีนาย เส้า ๒ นาย ผู้เชิญธงสามชายทางท้ายเรือ หรือที่เรียกว่า นักสราช ลำละ ๑ นาย ผู้เชิญธงสามชายนี้ ในสมัยก่อนเป็นหน้าที่ของตำรวจหลวง
ในคฤห์เรือกระบี่ และเรืออสูร มีนายทหาร ๑ นาย พลปืนเล็ก ๖ นาย นั่งประจำ ส่วนในคฤห์เรือพญาวานร และเรือครุฑ เป็นเรือกลองชนะ มีเจ้าหน้าที่กลองลำละ ๑๐ นาย อาจจะมีเพิ่มเป็น ๖ ลำ หรือลดเหลือ ๒ ลำ
สำหรับเรือรูปสัตว์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน มี ๗ ลำ เมื่อเข้ากระบวนประกอบกับเรืออื่นๆ มีดังนี้
๖.๑ เรือครุฑเหินเห็จ (เรือครุฑเหิรเห็จ)
ลำเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเรือรูปสัตว์พื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว กำลัง ๕ ศอก ๑ คืบ ๑๑ นิ้ว แต่ได้ถูกระเบิดเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้ง ที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือ และท้ายเรือไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ และสร้างขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ น้ำหนัก ๗ ตัน กว้าง ๑.๕๙ เมตร ยาว ๒๗.๕๐ เมตร ลึก ๐.๕๙ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๒ เมตร ฝีพาย ๓๘ คน นายท้าย ๒ คน
๖.๒ เรือครุฑเตร็จไตรจักร
ลำเดิมเป็นเรือพื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๙ นิ้ว กำลัง ๕ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว ลำเก่าถูกกระเบิดชำรุด กรมศิลปากรได้เก็บหัว เรือและท้ายเรือไว้ ลำปัจจุบันสร้างใหม่ เมื่อ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ น้ำหนัก ๕.๙๗ ตัน กว้าง ๑.๙๐ เมตร ยาว ๒๗.๑๐ เมตร ลึก ๐.๕๒ เมตร กินน้ำลึก ๐.๒๙ เมตร ฝีพาย ๓๔ คน นายท้าย ๒ คน
๖.๓ เรือพาลีรั้งทวีป
ลำเดิมเป็นเรือพื้นดำ น้ำหนัก ๖.๙๗ ตัน ยาว ๑๓ วา ๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก ๒ นิ้ว กำลัง ๕ ศอก ๕ นิ้ว หรือยาว ๒๗.๕๔ เมตร กว้าง ๑.๙๙ เมตร ลึก ๐.๕๙ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๑ เมตร หัวเรือ กว้างมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่บรรจุทางปาก กระบอกได้ ๑ กระบอก ขนาดปากกระบอก ๖๕ มม. เหนือช่องปืนแกะเป็นรูปขุนกระบี่สีเขียว ฝีพาย ๓๔ คน นายท้าย ๑ คน
๖.๔ เรือสุครีพครองเมือง
ลำเดิมเป็น เรือพื้นดำ น้ำหนัก ๖.๕๖ ตัน ยาว ๑๔ วา กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๓ นิ้ว กำลัง ๕ ศอก ๔ นิ้ว หรือยาว ๒๗.๔๕ เมตร กว้าง ๑.๓๙ เมตร ลึก ๐.๕๙ เมตร หัวเรือกว้างมี ช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่บรรจุทางปากกระบอก ไว้ ๑ กระบอก ขนาดปากกระบอก ๖๕ มม. เหนือช่องปืนแกะเป็นรูปขุนกระบี่สีแดง
๖.๕ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
ลำเดิม เป็นเรือพื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก กำลัง ๕ ศอก ๔ นิ้ว ลำเดิมถูกระเบิดเสียหาย กรมศิลปากรเก็บหัวเรือ ท้ายเรือไว้ ส่วนลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ น้ำหนัก ๕.๖๒ ตัน ยาว ๒๖.๘๐ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ลึก ๐.๕๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๒๕ เมตร ฝีพาย ๓๖ นาย นายท้าย ๒ นาย หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก ขนาด ๖๕ มม. เหนือของปืนแกะเป็นรูปขุน กระบี่สีขาว
๖.๖ เรืออสุรวายุภักษ์
เรือสุรวายุภักษ์
โขนเรือเป็นรูป ครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก องค์เป็นสีม่วง
๖.๗ เรืออสุรปักษา
โขนเรือเป็นรูปครึ่ง ยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก องค์เป็นสีเขียว
๗. เรือแซ
มีรูปร่างเป็นเรือไชยโกลน หัวท้ายเขียนลายน้ำยา มีตัวอย่าง คือ เรือเสือ ทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พลพายเรือแซ หน้ากระบวนเป็นพวกมอญ
๘ เรือแซง
เรือแซง
ใช้เรือกราบ เป็นเรือของทหาร เรือแซงอยู่ตรงเรือพระที่นั่งในริ้วกระบวน มักมี ๒ คู่
๙. เรือริ้ว
หมายถึง เรือที่เข้ากระบวนยาวเป็นเส้นเป็นสาย หลายเส้นหลายสายเรียงขนาดกัน คือ บรรดาเรือทุกลำ ที่ต้องเกณฑ์เข้ากระบวน แล้วจัดเป็นเรือริ้วทั้งสิ้น และเรือ กระบวนโดยมากมีธงประจำเรือ ตั้งแต่เรือพระที่นั่ง เป็นต้น ลงไป ถ้าเป็นเรือที่มีโขนงอนก็มีธงทั้งหัว เรือและท้ายเรือ ถ้าเป็นเรือรูปสัตว์ก็มีธงแต่ท้ายเรือ บรรดาเรือแซงก็ปักธงท้ายทุกลำ จึงสมกับคำที่ว่า "เรือ ริ้วทิวธงสลอน"
๑๐. เรือกิ่ง
ในริ้วกระบวนจัดเป็นเรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บ้างก็ว่าในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๑๗๑) กล่าวว่าพระองค์มีรับสั่งให้เอา กิ่งดอกเลาประดับเรือ ต่อมาภายหลังพนักงานจึง เขียนลายกิ่งไม้ประดับไว้ที่หัวเรือ เรียกว่า เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุด มิได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับ เว้นแต่บางครั้ง โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเรือผ้าไตร หรือผ้าทรงสะพัก พระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้และเป็นเรือทรง พระไชย ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ถวาย ผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งกิ่งที่เคยใช้เป็นเรือทรง ผ้าไตร แต่เดิมมา ที่ปรากฏในทำเนียบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ พระที่นั่งศรีสมรรถไชย ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๐ มีเรือพระที่นั่งประภัสสรไชย ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งเอกไชย มิใช่เรือพระที่นั่งกิ่ง แต่ในรัชกาลปัจจุบัน เรือพระที่นั่งประภัสสรไชยชำรุด จึงใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งแทน
เรือพระที่นั่งกิ่งนี้ในสมัยอยุธยา ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มี ๙ ลำ เมื่อเวลาอยู่ในริ้วกระบวนเรือพระที่นั่งกิ่ง จะทอดบัลลังก์บุษบก ปักฉัตร เครื่องสูงกลางลำ ทั้งตอนหน้า และตอนหลังบุษบกดังนี้
ฉัตร ๗ ชั้น หน้า ๑ องค์ หลัง ๑ องค์
ฉัตร ๕ ชั้น หน้า ๓ องค์ หลัง ๒ องค์
มีเจ้าพนักงานกั้นพระกลด ๑ นาย บังพระสูรย์ ๑ นาย และอยู่งานพัดโบก ๑ นาย เบื้องหน้าบุษบกมีเจ้าพนักงานประโคมแตรงอน ๖ นาย แตรฝรั่ง ๘ นาย มีคนแห่ ๒ นาย นักสราชเชิญ ธงท้ายเรือ ๑ นาย สมัยรัชกาลที่ ๔ มีนักสราช เชิญธงหน้าเรือด้วยอีก ๑ นาย
เรือพระที่นั่งกิ่งนี้มีนายเรือ นายท้าย และ ฝีพายดังนี้
นายเรือ ๒ นาย
นายท้าย ๒ นาย
ฝีพาย ๕๔ นาย
เรือพระที่นั่งประภัสสรไชย มี
นายเรือ ๒ นาย
นายท้าย ๒ นาย
ฝีพาย ๔๓ นาย
พายที่ใช้ในเรือพระที่นั่งกิ่งจะเป็นพายทอง คือ พายที่ทาสีทอง และฝีพายจะพายในท่านกบิน เรือกิ่งนี้อาจจะเอาแบบอย่างมาจากเรือค้าขายลำใหญ่ๆ ของพม่า เว้นแต่ของพม่าไม่มีกิ่งเท่านั้น ถ้าเอากิ่งดอกเลาปักขึ้นที่หัวเรือท้ายเรือ ก็เหมือนเรือกิ่งของไทย
๑๑. เรือคู่ชัก
เดิมใช้สำหรับเป็นเรือชัก ลากเรือพระที่นั่งชนิดพายไม่ได้ เรียกว่า เรือพระที่นั่งขนาน หรือบัลลังก์ขนาน แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไป เพราะไม่สะดวกรวดเร็ว เรือพระที่นั่งขนาน จึงเปลี่ยนมาใช้เรือพระที่นั่งกิ่งแทน แต่ยังคงเรือคู่ชักไว้ เรือคู่ชักนี้เป็นเรือดั้ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรือดั้งคู่ชักมีชื่อว่า เรือทองแขวนฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เรือทั้งสองลำนี้ นำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง เรือทองแขวนฟ้า (ปัจจุบันคือ เรือทองขวานฟ้า) ใช้พลพายเป็นคนชาวบ้านใหม่ ขึ้นกับหลวง สุเรนทรนุชิต ส่วนเรือทองบ้าบิ่น ใช้พลพายเป็น ชาวบ้านโพธิ์เรียงขึ้นอยู่กับหลวงอภัยเสนา และ ชื่อเรือตรงกับครั้งกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง ผิดกัน ในเรื่องสถานะ คือสมัยอยุธยาจัดเป็น "เรือ พระที่นั่ง" สมัยรัตนโกสินทร์จัดเป็น "เรือ คู่ชัก" ซึ่งมีหัวเรือและท้ายเรือปิดทองห้อยพู่สีแดง และสักหลาดดาดหลังคากัญญานั้นปักสายทองเต็มทั้งผืน แต่เรือดั้งทั่วไป หัวเรือและท้ายเรือไม่ปิดทอง ห้อยพู่สีขาวกับสักหลาด ดาดหลังคากัญญาปัก ทองเฉพาะตรงขอบ
เรือดั้งคู่ชักมีสิทธิ์ผิดกับเรืออื่นที่แห่เสด็จ เพราะเรือพระที่นั่งนั้น บรรดาพลพายต้องถูกคัดเลือก เอาแต่เฉพาะพวกที่กำลังพายเรือแล่นเร็ว และพายทนกว่าพลพายของเรืออื่น เรือดั้งคู่ต้องพายนำให้ทัน หนีเรือพระที่นั่ง ถ้าหากหนีไม่พ้น พอหัวเรือพระที่นั่งเกี่ยวแนวท้ายเรือคู่ชักเข้าไป เรียกกันว่า "เข้าดั้ง" เรือคู่ชักก็ใช้อุบายแกล้งคัดเรือให้ใกล้กัน จนช่องน้ำแคบ เรือพระที่นั่งไม่สามารถจะพายแทรกกลางแข่งขึ้นไปได้
เหตุที่เลือกแต่ชาวบ้านใหม่ และชาวบ้านโพธิ์เรียงเป็นฝีพายเรือคู่ชัก ก็เพราะชาวบ้านทั้งสองนั้นชำนาญการพายเรือมาก จึงได้ถูกเลือกมาทุกคราว
เรือทองขวานฟ้านั้นเข้าใจว่า เดิมมีชื่อว่า เรือแขวนฟ้า ที่เรียกเช่นนั้นอาจจะหมายถึง เรือทรงที่เป็นเรือ สำหรับใช้ในเวลาเสด็จออกรบด้วย และคงจะเร็วเหมือนบินในอากาศ จึงเรียกว่า เรือแขวนฟ้า ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้วจึงนำเรือ มาปิดทองตกแต่งให้งดงาม จึงเรียกว่า เรือทอง แขวนฟ้า และเอานำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรงใน กระบวนแห่เสด็จทางชลมารค จึงเรียกว่า "เรือ พระที่นั่งทองแขวนฟ้า" ทั้ง ๒ ลำ และใช้เป็น แบบต่อมา แต่จะเปลี่ยนเป็นเรือดั้งคู่ชักมาแต่ครั้ง กรุงศรีอยุธยาหรือมาเปลี่ยนในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ไม่อาจทราบได้
เรือดั้งทองขวานฟ้า
๑๒. เรือไชย (เรือชัย)
เป็นเรือชนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงขึ้นไปเป็นงอน มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกิ่ง เรือไชยนี้เดิมเป็นเรือที่ข้าราชการนั่งในริ้วกระบวน และมีพนักงานคอยกระทุ้งเส้าให้จังหวะ แต่ถ้าเป็นเรือที่นั่งเจ้านาย และเรือประตู เรียกว่า เรือเอกไชย
ที่ปรากฏในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสนั้นมีชื่อว่า เรือไชยเหินหาว ขึ้นอยู่กับหลวงอภัยเสนา และเรือหลาวทองเอกไชย ขึ้นอยู่กับหลวงสุเรนทรวิชิต หลังคาเรือดาดผ้าสีแดงลายก้านแย่ง เรือตกแต่งด้วยลายรดน้ำ (ลงรักปิดทอง) มีนักสราชถือธง ทั้งหน้าเรือ และท้ายเรือ มีกลองมโหระทึก และแตรประจำ ในเรือมีอาวุธประจำ อย่างละคู่ คือ หอกซัด หางโมรี ดาบ ง้าว ทวน ทอง ดาบเชลย และเขน ซึ่งล้วนติดพู่สีแดง
เรือเอกไชยเหินหาว หรือเอกไชยเหิรหาวนั้น เป็นเรือพื้นดำ ยาว ๑๔ วา ๑ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๓ นิ้ว กำลังที่ฝีพายสามารถพายให้เรือแล่นไปได้ สำหรับการพาย ๑ ครั้ง ๕ ศอก ๔ นิ้ว เรือเดิม ถูกระเบิดเสียหายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ กรมศิลปากร ได้เก็บหัวเรือ และท้ายเรือไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ สำหรับลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ มี น้ำหนัก ๖.๙๓ ตัน กว้าง ๑.๙๗ เมตร ฝีพาย ๓๘ คน นายท้าย ๒ คน
เรือเอกไชยเหินหาว
๑๓. เรือโขมดยา
โขมดแปลว่าหัว ยาหมายถึง น้ำยาที่เขียนลายที่หัวเรือ แต่ลักษณะเรือโขมดยา ครั้งกรุงศรีอยุธยา หัวเรือท้ายเรือเรียบ เชิดขึ้น มีลายแกะเป็นรูปกลีบบัวสำหรับผูกผ้า ตรงกลางตั้งคฤห์ดาดผ้าแดง
๑๔. เรือพระที่นั่งลำทรง
เรือพระที่นั่งลำทรงนั้น ถ้าเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ ใช้เรือพระที่นั่งกิ่งทอดพระที่นั่งบุษบกเป็นที่ประทับ ปักฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง มีพนักงานถวายอยู่ งานพระกลดบังพระสูรย์พัดโบก มีพนักงาน ประจำท้ายเรือเรียกว่า นักสราช เป็นผู้เชิญธง ท้ายเรือ สี่มุมบุษบกมีมหาดเล็กเชิญพระแสง รายตีนตอง ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้า พระกฐินมีมหาดเล็กเชิญหอกพระมหากฐินอยู่ เบื้องหน้าบุษบกอีก ๒ นาย ข้าราชการผู้ใหญ่ใน ราชสำนักหมอบเฝ้าฯ หน้าพระที่นั่งบุษบก ๒ นาย
เรือพระที่นั่งกิ่งที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตรา ใหญ่ชลมารค ในสมัยรัตนโกสินทร์ จะใช้ลำ ใดลำหนึ่งใน ๓ ลำ คือ
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์
เป็นเรือที่แกะสลักโขนเรือเป็นรูปหงส์ สำหรับลำปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้น แทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ความจริงแล้วเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังทราบได้จากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ฯ ที่ว่า
สุพรรณหงส์ ทรงพู่ห้อย
งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ ทรงพรหมมินทร์
ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
หรือจากลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า
สุพรรณหงส์ เหินเห็จฟ้า ชมสินธุ์
ดุจพ่าห์ พรหมมินทร์บิน ฟ่องฟ้อน
จตุรมุข พิมานอินทร์ อรอาสน์
เป็นที่นั่ง รองร้อน ทุเรศร้างวังเวง
สำหรับลำปัจจุบันนี้ได้มีการประกอบพิธี ลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเรือพื้นดำน้ำหนัก ๑๕.๑ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๗๐ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะ พายในท่านกบินและถือเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าจะ เปลี่ยนท่าพายเป็นพายธรรมดา หรือพายกระเดียด จะต้องรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสีย ก่อนจึงเปลี่ยนท่าพายได้
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชทอดบัลลังก์บุษบก
ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์คราวงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕
เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปพญานาค ๗ เศียร ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น สร้าง ขึ้นในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชดำริว่า เรือพระที่นั่งครุฑของเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่เรือพระที่นั่งนาคยังหามีไม่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนราชสีหวิกรม สร้างเรือพระที่นั่งนาค ๗ เศียร มีชื่อว่า พระที่นั่งอนันตนาคราช
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ซึ่งจะตั้งบุษบก ผูกม่านทำด้วยผ้าตาด มีนักสราชประจำทั้งด้าน หน้าและหลัง ที่หัวเรือตั้งปืนจ่ารงคร่ำเงิน หน้า บุษบกจะตั้งเครื่องสูง ด้านหน้ามีฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๓ องค์ ด้านหลังบุษบกเป็น ฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ และมี พระกลด พัดโบก บังพระสูรย์ บังแทรก (บังดั้น) ด้านหน้าพระแท่นมีอาวุธผูกติด คือ ปืนนกสับ พระแสงง้าวนากถมเงิน ด้านท้ายพระแท่นมี ทวน ๑ คู่ ขุนนางที่อยู่ประจำเรือมี จมื่นมหาดเล็กข้างละ ๒ ท่าน สำหรับเชิญพระแสงตีนตอง มีจางวางปลัดทูลฉลองและหุ้มแพร อยู่หน้าพระที่ พวกพลเลวอยู่ท้าย ๒ คน พลพายใช้พายทอง เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำ ปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ แทนลำเดิม สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็น เรือพื้นเขียวน้ำหนัก ๑๕.๓๖ ตัน กว้าง ๒.๙๕ เมตร ยาว ๔๒.๙๕ เมตร ลึก ๐.๗๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๑ เมตร ฝีพาย ๕๔ นาย นายท้าย ๒ นาย มี การซ่อมใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๒ อาจทำให้น้ำหนัก เปลี่ยนไป
เจ้าหน้าที่กำลังซ่อมแซม
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย
เรือพระที่นั่งนี้มีมานานแล้ว แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในตำราริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเรือกิ่งพื้นดำ และมีปรากฏชื่อในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย เป็น เรือพระที่นั่งสำหรับทรงเปลื้องเครื่อง เพราะมี การตั้งบัลลังก์บุษบก อัญเชิญพระชฎามหากฐิน นำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง ตั้งเครื่องสูงด้านหน้าฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ด้าน หลังบุษบกตั้งฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ม่านบุษบกเป็นผ้าตาด มีตำรวจประจำ เรือ ๖ นาย นักสราชนั่งเชิญธง ด้านหน้าและด้าน หลัง ด้านละ ๑ นาย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากเรือ พระที่นั่งศรีสมรรถไชยชำรุดไม่สามารถซ่อมแซม ได้ ดังนั้นเรือพระที่นั่งสำหรับทรงเปลี่ยนเครื่อง จึงใช้เรือพระที่นั่งศรีแทนเรือพระที่นั่งกิ่ง คือใช้ เรืออเนกชาติภุชงค์แทน โดยการทอดบัลลังก์กัญญามีม่านกั้น โดยปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวน พยุหยาตราใหญ่นั้น จะทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ และทรงพระมหามงกุฎ หรือพระชฎามหากฐิน ประทับบนพระที่นั่งบุษบก เวลาจะเสด็จ พระราชดำเนินขึ้นบก ก็ทรงเปลื้องพระมหามงกุฎ หรือพระชฎามหากฐิน ทรงพระมาลาเส้าสูง เรือ ที่ใช้ทรงเปลื้องเครื่องนี้เรียกว่า เรือพลับพลา เรือ นี้จะเข้าเทียบท่าก่อน แล้วเรือพระที่นั่งลำทรง เทียบด้านนอกเรือพลับพลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พลับพลา เปลื้องพระมหามงกุฎ หรือพระชฎามหากฐิน แล้วจึงเสด็จขึ้น ตอน เสด็จลงก็เช่นกัน เสด็จลงเรือพลับพลาทรงพระมหามงกุฎ หรือพระชฎามหากฐินก่อน จึงเสด็จ ลงประทับเรือพระที่นั่ง ในเวลาเสด็จกลับเรือ พลับพลาแล่นหลังเรือพระที่นั่ง
เรือพระที่นั่งอเนกชาติ ภุชงค์
มีนายเรือ ๒ นาย นายท้าย ๒ นาย ฝีพาย ๖๑ นาย ใช้พายทอง พายท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่ง ไม่มีนักสราชเชิญธงเพราะถือเป็นธรรมเนียมว่า เรือพระที่นั่งศรีถ้าทอดบัลลังก์กัญญาจะไม่มีธงท้าย เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้น ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือพระที่นั่งศรีพื้นชมพู น้ำหนัก ๗.๗ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๕.๔๐ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๖ เมตร กว้าง ๓.๔ เมตร ซ่อมใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๗ น้ำหนักอาจเปลี่ยนแปลงได้
๑๕. เรือพระที่นั่งรอง
ใช้เรือพระที่นั่งศรีทอดบัลลังก์กัญญาเช่นเดียวกับเรือพลับพลา มักมี ๒ องค์ หลังคาดาดผ้าลายก้านแย่ง บัลลังก์ มีม่านกั้นผูกผ้าพู่จามรี
๑๖. เรือศรี
คำว่าเรือศรีนี้ บางทีก็มีคำว่า "เรือ ศรีสักหลาด" คู่ไปด้วย แสดงว่า คงจะมีลักษณะต่างกันตรงดาดหลังคากัญญา อาจจะเป็นได้ว่า แต่เดิมคงดาดหลังคากัญญาด้วยผ้าธรรมดา จึงเรียกว่า เรือศรี อันหมายถึง สีผ้าหลังคากัญญา ต่อมาเมื่อใช้ผ้าสักหลาดมาดาดหลังคากัญญาแทน ผ้าธรรมดา ซึ่งคงจะดาดเฉพาะเรือที่สำคัญ เช่น เรือพระที่นั่ง จึงเรียกอีกคำหนึ่งเป็นการเน้นชื่อผ้า ว่า เรือศรีสักหลาด ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ การดาดหลังคากัญญาเรือศรีด้วยสักหลาด มีทุกลำ จึงงดคำ "สักหลาด" ไป เรียกแต่เรือศรี
๑๗. เรือกราบ
เป็นเรือรบที่ใช้ฝีพายของ ไทยแต่โบราณ มีไม้กระดานติดด้านข้างเรือไป ตามแนวนอนสำหรับเดิน เรียกว่า กราบเรือ เมื่อ เรือลำใดมีที่เดินเช่นนี้จึงเรียกว่า เรือกราบ