การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ประธานองค์การเรือโลก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำปี พ.ศ. ๑๕๓๕
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นับจากเมื่อได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ไม่เคยได้จัดอีก จนใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มีกระบวนเรือพระราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง กระบวนครั้งนั้นเรียกกันว่า "กระบวน พุทธพยุหยาตรา" การจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง ไม่มีเรือพอจะจัดให้เต็มรูปริ้วกระบวนแบบฉบับ ที่มีมาแต่โบราณ
ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค สำหรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามพระราชประเพณีที่เคยมีมา แต่ก็ไม่อาจจัดกระบวนให้ครบถ้วน เป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ หรือพยุหยาตราน้อยได้เช่นกัน มีเรือดั้งเหลือ ๑๐ คู่ เรือรูปสัตว์ ๒ คู่ คือ เรือพาลีรั้งทวีปกับเรือสุครีพครองเมือง ๑ คู่ เรืออสุรวายุภักษ์กับเรืออสุรปักษาอีก ๑ คู่ เรือที่ไม่มีคือ เรือกระบี่ เรือครุฑ และเรือคู่ชัก จึงใช้เรืออสูรมาเป็นเรือคู่ชัก ใช้เรือดั้งทอง และเรือพญาวานรเสริมริ้วเรือดั้งให้ครบ ๑๑ คู่ และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริ ในอันที่จะฟื้นฟูประเพณี การเสด็จ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค กรมอู่ทหารเรือ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ต่อเรือพระราชพิธี และเรือดั้งจนมีครบ ๑๑ คู่ ส่วนเรือรูปสัตว์ก็ต่อตัวลำขึ้นใหม่ ใช้หัวเดิมบ้าง และต่อใหม่หมดบ้าง จนครบ ๘ ลำ การเสด็จพระราชดำเนินถวายพระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งสุดท้าย ประกอบการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๒
ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้น พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง คือ การเสด็จพยุหยาตราชลมารค ในวันที่ ๕ เมษายน และกระบวนพยุหยาตรา ในวันที่ ๑๓ เมษายน โดยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ออก เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำในวันสงกรานต์ อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย และถือเป็นสิริมงคลในการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงเป็นแม่กองปรับปรุงการจัดริ้วกระบวน จนดูโอ่อ่าตระการตายิ่ง
อย่างไรก็ดี ต่อมาในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม โดยมีการจัดกระบวนเรือตามแบบกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และใช้บทเห่เดิมของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นบทเห่ชมกระบวนเรือ ชมทิวทัศน์ ชมนก ชมปลา และชมไม้ น.ต.มงคล แสงสว่าง เป็นเจ้าหน้าที่เห่ นอกจากนี้ มี พ.จ.อ.สุจินต์ สุวรรณ์ และ พ.จ.อ.ทวี นิลวงษ์ เป็นผู้ช่วยในการเห่ด้วย
ก่อนจะถึงวันพระราชพิธี กองทัพเรือได้นำเรือพระที่นั่งออกจัดกระบวนเรือฝึกซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๖ และ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นวันมหามงคลของราชอาณาจักรไทยอีกวาระหนึ่ง ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ได้ ๔๒ ปี ๒๓ วัน ซึ่งนานกว่าพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในอดีต รัฐบาลได้จัดงานฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้น ในงานนี้ ระหว่างวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม มีการเห่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ที่ท่าราชวรดิษฐ์ โดยบทเห่นั้น คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ประพันธ์
จากความงดงามในศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลอย่างยิ่ง ลำหนึ่ง ที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่าง ไทยโบราณ ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็น เอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญ จึงได้ให้การทำนุบำรุงรักษาเรือ พระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดียิ่ง จนสามารถนำมารับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีต่างๆ จนมาถึงปัจจุบัน อันถือได้ว่า เป็นการสืบต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการต่อเรือ และการเดินเรือ รวมทั้งการค้าขายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) คณะกรรมการองค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) ประกอบด้วย นาย อีเวน เซาท์บีเทลยัวร์ (MR.EWEN SOUTHBY TAILYOUR) ประธานองค์การเรือโลก นาย ไมเคิล ไทแนน (MR.MICHAEL TYNAN) นัก กฎหมายประจำองค์การฯ และนายเจมส์ ฟอร์ไซท์ (MR.JAMES FORSYTH) ได้เดินทางมายังราชอาณาจักรไทย และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญ รางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ เหรียญ รางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำ ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (THE WORLD SHIP TRUST MARITIME HERITAGE AWARD "SUPHANNAHONG ROYAL BARGE") จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าว แก่อธิบดีกรมศิลปากรครั้งนั้น คือนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือ พระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
องค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) แห่งสหราชอาณาจักร เป็นองค์การที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลอย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) มี ดยุกแห่งเอดินบะระ (DUKE OF EDINBURGH) เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่ง เสริมการทำนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความ สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งต่อโลกและมนุษยชาติ เพื่อให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สาธารณชนรุ่นหลังจะ ได้มีโอกาสได้ชื่นชมต่อไป รวมทั้งดำเนินการ สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรือต่างๆ เพื่อ บันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการ ทำนุบำรุงเรือนั้นๆ
องค์การเรือโลกได้เคยมอบรางวัลแก่ องค์กร บุคคล และเรือต่างๆ แล้ว ๑๒ เหรียญ ที่สำคัญ มีเรือวาซา (WASA) ของสวีเดน เรือแมรีโรส (MARY ROSE) ของสหราชอาณาจักร เรือจิลแลนด์ (JYLLAND) ของเดนมาร์ก เรือยูเอสเอสคอนสติติวชัน (USS CONSTITUTION) ของสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกับที่มอบเหรียญรางวัล ให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ก็ได้มอบรางวัลให้แก่เรือมิกาซา (MIKASA) แห่งประเทศญี่ปุ่นด้วย
สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ นอกจาก ได้รับเหรียญรางวัลแล้ว ยังได้รับสาส์นแสดง ความยินดีจากเจ้าชายฟิลิป ดยุก แห่งเอดินบะระ ด้วย
การฝึกซ้อมกระบวนเรือพระที่นั่งของกองทัพเรือ ในงานฉลองพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๐