เล่มที่ 21
กระบวนพยุหยาตรา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยอยุธยา

            การจัดกระบวนเรือพระราชพิธีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมานั้น มักจะเป็นกระบวนพุหยาตราชลมารค ในการบำเพ็ญพระราชกุศลกรานกฐิน หรือถวายผ้าพระกฐินเป็นสำคัญกับการเสด็จไปนมัสการ พระพุทธบาทที่สระบุรี

            สำหรับเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยานั้น มีปรากฏว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๙๘)ทรงสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้น กับทรงตั้งกฐินบกพยุหยาตราใหญ่เป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเขียนริ้วกระบวนเสด็จไว้ ทั้งกระบวนพยุหยาตราสถลมารคและกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งหนังสือนี้มีชื่อว่า "ริ้ว กระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" หนังสือนี้เข้าใจว่า ได้คัดลอกมาจากภาพเขียนฝาผนัง ที่วัดยมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพเขียนตัวจริงนั้น ปัจจุบันถูกทำลายไปหมดแล้ว เหลือแต่ฉบับคัดลอก จากหนังสือริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นี้ ได้ทราบชื่อเรือในริ้วกระบวนเรือ เรียงตามลำดับจากต้นกระบวนถึงท้ายกระบวนมีว่า ต้นกระบวนมีเรือไชยของกรมต่างๆ เช่น กรมช้าง กรมม้า กรมอาสา กรมเขนทอง กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา ตามด้วยเรือโขมดยาของทหารอาสาต่างๆ เรือตำรวจเรือทองแขวนฟ้า นำหน้าเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย คั่นด้วยเรือนาคแล้ว จึงถึงเรือพระที่นั่งไกรสรมาศ เรือพระที่นั่งไกรแก้วจักรรัตเรือพระที่นั่งศรพรหมไชย ตามด้วย เรือครุฑ เรือเอกไชย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งศรีสุนทรไชยเรือแซ และเรือรูปสัตว์ต่างๆ อาทิ เรือโต เรือสิงห์ เรือนก เรือม้า เรือคชสีห์ เรือราชสีห์ เรือเลียงผา เรือมกร และเรือนาค เป็นต้น

            การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่กล่าวมานี้ จัดได้ว่า เป็นริ้วกระบวนใหญ่แสดงความมั่งคั่งโอ่อ่าของราชสำนักไทยในครั้งนั้น ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับริ้วกระบวนเรือในสมัยต่อมาจะพบว่า ค่อยๆตัดทอนลงไปเรื่อยๆ เพราะเรือชำรุดไปตามกาลเวลาบ้าง ไม่มีผู้รู้จักทำขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแผนโบราณบ้างจึงเหลืออยู่เท่าที่ พอจะรักษาไว้ได้เท่านั้น
ภาพเรือพระราชพิธี (จากสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
ภาพเรือพระราชพิธี
(จากสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตรา ชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

            ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) นั้น ปรากฏว่าใน พ.ศ. ๒๒๗๕ พระองค์ทรงแต่งทูตานุทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับเมืองพม่า มีเครื่องราชบรรณาการต่างๆ มากมาย ในบรรดาเครื่องราชบรรณาการนี้ มีเรือพระที่นั่งกิ่งลำหนึ่งด้วย

            สำหรับการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้น ทำให้เราได้ทราบถึงกระบวนเรือ ซึ่งมีแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียงตามลำดับ ตั้งแต่ลำหน้ากระบวน ไปจนถึงท้ายสุดได้ดังนี้

            ๑. เรือประตู ๑ คู่ ของพระเทพอรชุน และพระราชนิกุล

            ๒. เรือกราบ ซึ่งมีฝีพายสวมกางเกงและ เสื้อมงคลสีแดงและดำ

            ๓. เรือเสือทะยานชล ของหลวงเดชสำแดง และเรือเสือคำรนสินธุ์ ของหลวงแสงศรสิทธิ์

            ผู้นั่งท้ายลำทั้งสอง สวมเสื้ออัตลัด นุ่งผ้าสองปัก (สมปัก) คาดรัดประคด ศีรษะโพกขลิบทอง ตรงกลางลำตั้งคฤห์สองชั้น ที่เสาคฤห์มีอาวุธผูกไว้เป็นคู่ๆ คือ ทวน เขน ง้าว เสโล กระบี่

            ที่หัวเรือตั้งปืนขานกยางลำละ ๑ กระบอก มีฝีพาย ๓๐ คน ล้วนนุ่งกางเกงสวมเนื้อสนอบสีแดง ศีรษะสวมมงคลแดงผ้าพื้นปัศตู

            ๔. เรือแซจระเข้ชนิดคะนองน้ำ และเรือแซจระเข้คำราม เป็นเรือพม่าอาสา

            ๕. เรือแซพิพัทธชล และเรือแซอานนท์ สมุทร เป็นเรือของพวกมอญ กองอาสาอาทบาต

            ๖. เรือแซช้าง ชื่อ สตำคชรำบาญยิน และคชสารสินธู เป็นเรือพวกมอญ อีกฝีพายนุ่ง ผ้าอย่างมอญ ศีรษะโพกผ้าขลิบ สวมเสื้อสนอบ เป็นผ้าอัตลัด ฝีพาย ศีรษะสวมมงคล สวมเสื้อ และกางเกงสีแดง เรือแซนี้ ท้ายเรือปักธงรบสี แดงทุกลำ

            ๗. เรือกราบ ของเจ้ากรมทั้งหกเหล่า

            ๘. เรือกลองแขก นำระหว่างเรือแซคู่

            ๙. เรือกราบ ของปลัดตำรวจ มีสนม นอก ๔ กรม ลงประจำเรือลำละกรม

            ๑๐. เรือสางยาว ๙ วา ชื่อ เรือชาญชลสินธุ์ และคำแหงหาญ

            ๑๑. เรือกิเลนลอยบนสินธุ์ และเรือกิเลน ลินลาสมุทร

            ๑๒. เรือมังกรจำแลง และเรือมังกรแผลงฤทธิ์

            ๑๓. เรือเหราสินธุลอยล่อง และเรือเหรา ท่องทางสมุทร

            ๑๔. เรือโตขมังคลื่น และเรือโตฝืนสมุทร

            เรือรูปสัตว์เหล่านี้ฝีพายใส่เสื้อแดง กางเกงแดง และสวมมงคลแดง ที่ทำมาจากผ้าปัศตู นายลำนุ่งผ้าสมปัก สวมเสื้ออัตลัด ศีรษะโพกผ้าขลิบทอง คาดรัดประคด ทนายปืน สวมเสื้อกางเกง ปัศตูสีแดง สวมหมวกกลีบลำดวน ขลิบโหมด

            ๑๕. เรือคฤห์อสุรวายุภักษ์ และเรือคฤห์ อสุรปักษีสมุทร เป็นเรือที่มีโขน สลักเป็นรูปอสูร เขียนลายรดน้ำ ปิดทอง ฉลุลาย ตั้งคฤห์ ซึ่งมีเสา ผูกอาวุธต่างๆ อย่างละคู่ เช่น กระบี่ เสโล เขน ทวนพู่ ๓ ชั้น และง้าว หัวเรือตั้งปืนจ่ารงลำละ กระบอก ฝีพายสวมเสื้อปัศตูสีแดงขลิบโหมด สวมกางเกงแดง ศีรษะสวมมงคล

            ๑๖. เรือกราบกัญญา ของปลัดตำรวจ ฝี พายสวมเสื้อกางเกงสีแดงย้อมจากครั่ง ศีรษะสวม มงคลสีแดง

            ๑๗. เรือคฤห์ ครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑ เตร็จไตรจักร หลังคาคฤห์คาดผ้าแดงมีเชิง และ ชายรอบๆ ตรงกลางปักเป็นลายดาวกระจายด้วย ทองแผ่ลวด

            ๑๘. เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชย หลาวทอง เป็นเรือคู่ชักนำหน้าเรือขบวน

            ๑๙. เรือรูปสัตว์ ๕ คู่ เขียนลายรดน้ำ

            ๒๐. เรือศรีสุนทรไชย ตั้งบุษบกอัญเชิญ ผ้าไตรกฐิน ฝีพายสวมเสื้อปัศตูสีแดง แขนจีบ กางเกงยกเขียว สวมหมวกกลีบลำดวน ขุนหมื่น ตำรวจรอบบุษบกนุ่งผ้าสมปัก สวมเสื้อครุยสีขาว

            ๒๑. เรือกลอง ฝีพายสวมใส่มงคล สวม เสื้อกางเกงผ้าปัศตูสีแดง

            ๒๒. เรือพระที่นั่งชลพิมานไชย ตรงกลาง ตั้งบัลลังก์บุษบก มีม่านกั้น นักสราชเชิญธงห้าแฉก

            ๒๓. เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ มีปืนจ่ารง ที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของรูปครุฑ มีฝรั่งกำกับ ปืน ๓ นาย คือ พระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะ ทุกทิศ และหลวงฤทธิวารี มีหมื่นสรรเพชรภักดี และจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช และจมื่น ไวยวรนารถ อยู่ประจำหน้าพระที่นั่ง ที่บัลลังก์นี้ มีเครื่องราชูปโภคทอดไว้ เช่น พระล่วมมณฑป (กระเป๋ายา) พระแสงดาบต้น กระดานชนวน หม้อลงพระบังคน (กระโถนสำหรับถ่าย) ธาร- พระกร (หัตถ์ธาร) พระสุพรรณราช และพระ- สุพรรณศรี (กระโถนเล็กสำหรับบ้วนน้ำหมาก) ทั้งยังมีวิชนีเครื่องสุธารสชา (น้ำชา) ชุดกล้อง เข้าใจว่าเป็นกล้องยาสูบ เชิงเทียน พระเต้า และ พระสุพรรณภาชน์สองชั้น

            ส่วนนอกบัลลังก์ด้านหน้าผูกพระแสงปืน คาบศิลา ขนาดยาวสิบคืบ ประดับลวดลายคร่ำทอง เป็นปืนที่ใช้ลูกซองขนาดหกบาท พนักงาน ประจำชื่อ พระยาอภัยศรเพลิง หลวงเสน่ห์ศรวิชิต และหลวงสนิทอาวุธ มีเจ้ากรมพระศุภรัต ชื่อ หลวงสุนทรภิรมย์ และจางวางพิชัยพลระดม

            ที่ท้ายที่นั่งนอกม่าน มีมหาดเล็ก ๒ คน มี เวรพนักงานพระภูษามาลา เชิญพระกลด ๒ คน และมีแพทย์หลวง ๒ คน คือ หมอยาทิพจักร และ หมอนวดราชรักษา

            ๒๔. เรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์ เป็น เรือพระที่นั่งรอง ผลัดเปลี่ยนกับเรือเหราข้าม สมุทรคือถ้าใช้เรือพระที่นั่งไชยก็ใช้เรือเหราเป็น เรือพระที่นั่งรอง ถ้าใช้เรือพระที่นั่งครุฑเป็นลำทรง ก็จะใช้เรือพระที่นั่งครุฑน้อยเป็นพระที่นั่งรอง  เรือพระที่นั่งรองนี้จะประดับเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งทรง แต่จะผิดกันตรงพายที่จะใช้พายทอง ร่องชาด มีนักสราชเชิญธงสามชายอยู่ที่ทั้งด้าน หัวเรือและท้ายเรือ ที่บัลลังก์บุษบกตั้งผ้าไตร มี พนักงานศุภรัต ๒ คน

            สำหรับการเสด็จพยุหยาตราชลมารคในสมัย อยุธยาที่ค่อนข้างละเอียดนั้น มีอยู่ในเรื่อง ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ โดยพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยแต่งจากความทรงจำที่เคย เห็นมา ซึ่งกระบวนพยุหยาตราชลมารคในครั้ง นั้นปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งต่างๆ คล้ายคลึงกับที่ กล่าวถึงในคำให้การชาวกรุงเก่า เรือในกระบวน ตามที่กล่าวถึงใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง เช่น เรือเสือ เรือพิฆาต เรือไชย เรือรูปสัตว์ เรือ โขมดยา เป็นต้น

ลักษณะเรือครุฑคู่ชักและเรือชลพิมานไชย

            จากริ้วกระบวนเรือในตำราเพชรพวงพยุหยาตรา และบทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วมีที่ต่างกันคือ

            ตำแหน่งที่ตั้งของเรือ ตรงที่เป็นหัวเรือ เดิมเป็นเรือกันและที่เรือดั้ง เดิมจะมีเรือนำหน้า เรือพระที่นั่ง ซึ่งตรงที่เป็นเรือนำในสมัยหลังเป็น เรือดั้ง ลำซ้ายตั้งผ้าไตรหรือพานพุ่มดอกไม้ ซึ่งมี หลายลำเรียงกัน (เรือดั้งแต่เดิมอยู่นำหน้าเรือ พระที่นั่ง)  

ริ้วกระบวนเรือจัดเห่ออกเป็น ๕ สาย คือ

            ๑. สายกลาง เป็นริ้วเรือพระที่นั่ง เรียกว่า สายพระราชยาน

            ๒. สายในซ้าย และสายในขวา เป็นริ้ว เรือแห่ เรียกว่า สายคู่แห่

            ๓. สายนอกซ้าย และสายนอกขวา เป็น ริ้วเรือกัน เรียกว่า สายกัน

            ระเบียบกระบวนนั้นจัดแบ่งออกเป็น ๕ ตอน ตอนหน้าเรียกว่า กระบวนนอกหน้า ได้แก่ ทหารกองนอก ถัดมาเป็นกระบวนในหน้า ได้แก่ ทหารรักษาพระองค์ ตอนกลางเป็นกระบวนเรือ พระราชยาน ตอนหลังชั้นในเรียกว่า กระบวนใน หลัง ได้แก่ ทหารรักษาพระองค์ ตามด้วย กระบวนหลังนอก ได้แก่ ทหารกองนอก ทั้ง ๕ ตอนนี้ มีเรือประตูคั่นทุกตอน