เล่มที่ 21
กระบวนพยุหยาตรา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เรือพระราชพิธีลำใหม่ "เรือ พระที่นั่งนารายณ์ ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙"


โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
รัชกาลที่ ๙

            นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะมีเรือพระราชพิธีลำใหม่เพิ่มอีก ๑ ลำ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ทั้งนี้เนื่องด้วยกองทัพเรือ และกรมศิลปากร จะสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อฉลองในมหาวโรกาส งานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ที่พระองค์เสด็จ เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เรือพระราชพิธี ลำใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า "เรือ พระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางกระดูกงู
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมโขนหัวเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙

            ลักษณะของเรือเป็นการนำรูปแบบโขนเรือ พระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเดิม ซึ่งเป็นไม้จำหลัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเฉพาะโขนเรือรูปครุฑยุดนาค (พญาสุบรรณ) เท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูป พระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ ทำให้เรือมีความสง่างามมากขึ้น เรือพระที่นั่งองค์ เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพไปเหลือเพียง โขนเรือเท่านั้น และจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติพระนคร กองทัพเรือจึงร่วมกับกรม ศิลปากรนำโขนเรือดังกล่าวมาเป็นแบบในการ สร้างเรือพระที่นั่งองค์ใหม่ ซึ่งจะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่ง อนันตนาคราชและเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ใช้ ฝีพาย ๕๐ นาย เพื่อให้มีความหมายสอดคล้อง กับโอกาสอันเป็นมหามงคลนั้นและกำหนดว่าจะ สร้างแล้วเสร็จในราววันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙

            เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ พระที่นั่งลำใหม่ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา ๑๗.๑๕ นาฬิกา ทั้งนี้เนื่องด้วยกองทัพเรือ และกรมศิลปากร จะสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลอง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะมีเรือพระราชพิธีลำใหม่เพิ่ม อีก ๑ ลำคือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ พร้อมกับการซ่อมเรือพระราชพิธี อีก ๕๓ ลำ เรือพระราชพิธีลำใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหา กรุณาธิคุณ พระราชทานนามว่า "เรือ พระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙" ตามหนังสือสำนัก ราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

            ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวาง กระดูกงูเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ การพระราชพิธีประกอบขึ้นระหว่าง เวลา ๑๗.๑๕-๑๗.๔๙ นาฬิกา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และทรงศีล ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช กราบบังคมทูลรายงานการ สร้างเรือพระที่นั่งฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมหัวเรือ ทรงผูกผ้า สีชมพู สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงคล้องพวงมาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอกหมุดตอนกระดูกงูเรือ แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ และทรงหลั่งทักษิโณทก ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธี พระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา โหรพราหมณ์ทำพิธีบูชาฤกษ์ เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ และแกว่ง บัณเฑาะว์ พิณพาทย์ทำเพลงมหาฤกษ์ซึ่งเป็น เพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบพิธีมงคล

            สำหรับการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรง สุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นี้ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำเอาโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ โดยกองทัพเรือจะ ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัว เรือพายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรจะดำเนิน การในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

ลักษณะของเรือ

            จากการพิจารณาโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเดิม ซึ่งเป็นโขนเรือแกะสลักจากไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำ ลวดลาย เขียนลายดอกพุดตานพื้น ส่วนท้ายเรือ มีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้าย เป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของ ท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหาง เป็นขนครุฑ สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาด ใช้กัญญาเรือเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ เป็นลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก แผงพนักพิงแกะสลัก ลวดลายเป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับ กระจกภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจก เสาสองต้นทาสีดำ ส่วนพายกับ ฉากลงรักปิดทอง การวางฉัตร ให้เว้น ๒ กระทง ต่อ ๑ ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ เป็นทองแผ่ ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นแดงลายจั่วและลายผ้าม่านโดยรอบประดับ ด้วยทองแผ่ลวด มีฝีพาย ๕๐ นาย สิ้นค่าใช้จ่าย ประมาณ ๑๑.๗ ล้านบาท เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ สร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙