เล่มที่ 21
เครื่องปั้น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

เครื่องปั้นภาคใต้

            ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรศรีวิชัยเคยครอบครองพื้นที่นี้อยู่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป จนสุดแหลมมลายู มีชุมชนโบราณในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองไชยา เมืองตะกั่วป่า เป็นต้น การศึกษาเครื่องปั้นในภาคใต้ ได้เคยมี การขุดค้นแหล่งผลิตที่บ้านปะโอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ โดย กรมศิลปากร จากการศึกษาพบว่า บริเวณ ดังกล่าวเคยเป็นชุมชนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘


เครื่องปั้นภาคใต้จากแหล่งบ้านปะโอ จังหวัดสงขลา

            เครื่องปั้นในแหล่งบ้านปะโอ เป็นเครื่องปั้นเนื้อดิน มีสีค่อนข้างขาว ไปจนถึงสีส้มนวล เนื้อค่อนข้างแข็ง เนื่องจากเผาไฟแรงสูง งานที่ผลิตจากแหล่งนี้ ได้แก่ จานแบน จานเชิง กระปุก หม้อ กุณฑี เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นจานแบน และกระปุกไม่มีการตกแต่งตัวภาชนะ ส่วนภาชนะประเภทอื่นมีการตกแต่งตัวภาชนะด้วยการขูดขีด เป็นลายต่างๆ ทำลวดลายด้วยการเซาะเนื้อ ภาชนะเป็นร่อง หรือเขียนด้วยสีแดงเป็นเส้นรอบ ตัวภาชนะ หรือลายกดเป็นรูปลิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับหม้อ

            ภาชนะที่เตาเผาแห่งนี้ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากคือ กุณฑี หรือกาน้ำ รูปร่างกลม คอคอดสั้น ปากผาย มีพวย ที่ก้นมีเชิง สำหรับให้ตั้งกับพื้นได้ ที่ปากของกุณฑีบางใบ ทำขอบหยัก เพื่อความสวยงาม การตกแต่งที่ตัวภาชนะมีหลายแบบ เช่น เซาะร่องเนื้อภาชนะเป็นลวดลาย เขียนสีแดงเป็น เส้นรอบตัวภาชนะ ที่พวยนั้นนอกจากทำเป็นรูป กรวยแหลมแล้ว บางใบยังทำเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปเขาสัตว์ เป็นต้น


กุณฑี จากแหล่งบ้านปะโอ จังหวัดสงขลา

            กุณโฑ เป็นภาชนะใส่น้ำรูปร่างคล้ายกุณฑี แต่คอเล็กยาว ปากผาย ไม่มีพวย บางใบขอบปากหยัก หรือทำช่วงคอ ให้หยักเป็นชั้นๆ เพื่อกันลื่น เมื่อจับยกขึ้นรินน้ำ มีลวดลายตกแต่งหลายแบบ คล้ายกับกุณฑีดังได้กล่าวมาแล้ว ที่แตกต่างกันคือ บางใบทำจุดตกแต่งตัวภาชนะคล้ายกับช่อหรือ พวงดอกไม้ ลายตาราง ลายกดเป็นรูปลิ่มที่ส่วน กลางรอบตัวกุณโฑ และลายอื่นๆ

            เครื่องปั้นภาคใต้ของชุมชนโบราณ ที่บ้านปะโอ พบกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณคาบสมุทร สทิงพระ นครศรีธรรมราช เมืองไชยา และดินแดนใกล้เคียง เช่น ในเกาะชวา และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น