เล่มที่ 21
เครื่องปั้น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

เครื่องปั้นภาคเหนือ


เครื่องปั้นภาคเหนือ


            ในพ.ศ. ๑๘๓๙ พระเจ้ามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น ให้เป็นศูนย์กลางการปกครอง โดยรวมอาณาจักรหริภุญชัยกับแคว้นเชียงรายเข้าด้วยกัน ถือได้ว่า เป็นการก่อตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้นในปีนั้น อาณาจักรแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า เมื่อพ.ศ. ๒๑๐๑ ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) อาณาจักรล้านนาได้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงธนบุรี และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

            เครื่องปั้นภาคเหนือ หรือบางท่านเรียกว่า เครื่องถ้วยล้านนา มีแหล่งผลิตกระจายกันอยู่หลายแห่ง ช่วงระยะเวลาที่มีการผลิต อยู่ระหว่างตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ งานผลิตส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นเคลือบสีเขียวไข่กา ตัวภาชนะก่อนเคลือบเนื้อค่อนข้างหยาบ แหล่งผลิตที่ได้ค้นพบ และมีการศึกษาแล้ว ได้แก่


  • แหล่งเวียงกาหลง ตำบลหัวฝาย อำเภอ เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
  • แหล่งสันกำแพง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 
  • แหล่งบ้านโป่งแดง ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย 
  • แหล่งวังเหนือ ตำบลบ้านพริก อำเภอ วังเหนือ จังหวัดลำปาง
  • แหล่งห้วยแม่ต๋ำ ตำบลแม่ทา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

กระปุก จากแหล่งสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

            นอกจากแหล่งดังกล่าว ซึ่งมีการขุดค้น เพื่อศึกษาแล้ว ยังได้พบแหล่งผลิต ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และที่อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน อีกด้วย เครื่องปั้นที่ผลิตจากทุกแหล่ง ที่กล่าวมาแล้ว มีลักษณะทั่วไป ทั้งรูปทรงภาชนะ ลวดลายตกแต่ง และสีที่เคลือบคล้ายคลึงกันมาก

กุณฑี

แหล่งเวียงกาหลง


            เครื่องปั้นที่พบส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบ เนื้อดินที่นำมาทำเครื่องปั้นละเอียด ขึ้นรูปได้บางกว่าเครื่องปั้นจากแหล่งอื่น ตัวภาชนะเมื่อเผาก่อนเคลือบ ออกสีขาว สีเหลืองนวล หรือสีเทา การเคลือบทำได้บางใส แตกรานที่ผิวนอกเป็นรอยละเอียด มีน้ำหนักเบา ภาชนะที่ผลิตจากแหล่งนี้มีทั้ง จาน ชาม ถ้วย เชิงเทียน ตุ้มถ่วงแห แจกัน กระปุก โถมีฝา ตัวหมากรุก ตุ๊กตารูปสัตว์ ลวดลายที่ประดับตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแหล่งนี้คือ ลายกลีบดอกไม้ หรือลายใบไม้ ที่เรียกกันทั่วไปว่าลายกา ลายดอกไม้ ลายดอกไม้ก้านขด ลายรูปสัตว์ นอกจากนั้นมีการตกแต่งด้วยลวดลาย ที่ลอกเลียนแบบมาจากเครื่องเคลือบของจีน และของเวียดนาม ในสมัยเดียวกันด้วย ส่วนเครื่องปั้นเคลือบแบบเคลือบใส การตกแต่งมักขูดขีดเป็นลาย ซี่หวี่บ้าง ลายกลีบดอกไม้บ้าง บนตัวภาชนะก่อน แหล่งเวียงกาหลงผลิตเครื่องปั้นระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒

แหล่งสันกำแพง

            เครื่องปั้นที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นเคลือบ ได้พบเตาเผาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตตำบลออนใต้ โดยทั่วไปเนื้อดินที่นำมาทำเครื่องปั้น ค่อนข้างหยาบ ตัวภาชนะเมื่อเผาก่อนเคลือบเป็นสีเทาถึงสีเทาดำ ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตจึงทาน้ำดินสีขาวรองพื้นที่ขอบปากและที่ตัว ภาชนะด้านในก่อนนำไปเขียนลวดลายตกแต่งหรือเคลือบ เครื่องปั้นเคลือบจากแหล่งผลิตนี้มีทั้งประเภทเคลือบสีน้ำตาล เคลือบสีเขียว รูปแบบของภาชนะที่ผลิต ได้แก่ จาน ชาม ชามก้นลึก ไห กระปุก กุณโฑ

แหล่งบ้านโป่งแดง

            เป็นเครื่องปั้นที่พบที่บ้านโป่งแดง มีลักษณะคล้ายกับเครื่องปั้นแหล่งเวียงกาหลงมาก เนื้อดินที่นำมาใช้ค่อนข้างละเอียด ตัวภาชนะเมื่อเผาก่อนเคลือบออกสีเทา ไม่มีการเขียนลวดลายด้วยสี ก่อนนำไปเคลือบ แต่จะตกแต่งด้วยการขูดตัวภาชนะ ให้เป็นลวดลายที่ต้องการ แทนการเขียนสี เช่น ลายดอกไม้ ลายหงส์ ลายเส้นวงกลม ลายก้นหอย เป็นต้น แล้วเคลือบสีเขียวแบบเซลาดอน น้ำเคลือบเขียวใส ฝีมือการเคลือบประณีต ภาชนะที่ผลิตในแหล่งผลิตนี้ ได้แก่ จาน กุณฑี กุณโฑ กระปุก ชาม ตุ๊กตารูปคนและรูปสัตว์ เครื่องปั้นของแหล่งบ้านโป่งแดงมอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑

แหล่งวังเหนือ

            เตาเผาเครื่องปั้นแหล่งวังเหนือ มีกระจายอยู่ทั่วไป ในหมู่บ้านไผ่เหนือ ตำบลแม่พริก เนื้อดินที่นำมาผลิตเป็นเนื้อละเอียด เมื่อเผาก่อนเคลือบมีสีขาวอมเทา งานที่ผลิตจากแหล่งนี้ทั้งหมด เป็นเครื่องปั้นเคลือบด้วยสีเขียวแบบเซลาดอน น้ำเคลือบเขียวใส แตกรานเล็กน้อย ผลิตเป็นภาชนะต่างๆ เช่น ชาม จาน ถ้วย กุณโฑ เป็นต้น เอกลักษณ์ที่สำคัญ ได้แก่ การทำขอบปากของจานเป็นจีบ การเซาะร่องจากก้นถึงปากจาน เป็นแนวตั้งที่ด้านในรอบตัวภาชนะ ก่อนนำไปเคลือบคล้ายกับเครื่องปั้นเคลือบของเวียดนาม ได้พบตุ๊กตารูปสัตว์หลายชนิดในแหล่ง นี้ด้วย งานผลิตเครื่องปั้นที่แหล่งนี้น่าจะอยู่ราว พุทธศตวรรษที่ ๒๐

แหล่งห้วยแม่ต๋ำ

            เตาเผาเครื่องปั้นอยู่ตามริมห้วยแม่ต๋ำ งานที่ผลิตออกมาคล้ายคลึงกับเครื่องปั้นเคลือบของแหล่งสันกำแพงมาก ทั้งสีของเนื้อดิน การตกแต่งรองพื้นด้วยสีขาว และการตกแต่งลวดลายบนภาชนะ ภาชนะที่ผลิตจากแหล่งนี้ ได้แก่ จาน กุณโฑ กระปุก ชาม รูปสัตว์ต่างๆ อายุเวลาในการผลิตอยู่ในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑